ประเทศไทย: สื่อลามกเด็กออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ยูเอ็นโอดีซีกล่าว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2017.10.18
กรุงเทพฯ
171018-TH-abuse-620.jpg เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ ในออฟฟิศ ในเมืองซานโฮเซ่ รัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะพูดถึงเครื่องมือที่นักล่าเด็กใช้เพื่อเก็บข้อมูล วันที่ 12 กรกฎาคม 2548
เอพี

เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้กล่าวในการสัมมนาเพื่อหาทางต่อต้านการหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ว่า มีสื่อลามกอนาจารและการแสวงหากำไรจากเด็กบนระบบอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ โดยมีการอัพโหลดข้อมูลทาง “เน็ตมืด” หรือ Dark Nets ที่ตรวจจับได้ยาก

นายนีล วอลช์ หัวหน้าฝ่ายอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ต ของยูเอ็นโอดีซี เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ ในขณะร่วมงาน “ประชุมเพื่อรับมือการแสวงหากำไรจากสื่อลามกเด็กออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ว่า การหากำไรจากสื่อลามกเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“แม้จะมีเว็บไซต์ลามกที่ถูกตรวจพบและปิดไปแล้วกว่า 6 พันเว็บไซต์ แต่ยังเชื่อว่า เว็บไซต์ลามกยังมีอยู่อีกมากแต่ถูกซ่อนใน ดาร์คเน็ต ซึ่งยากที่จะหาตัวผู้กระทำผิด เหยื่อ หรือแม้กระทั่งตัวเว็บจริงๆ ถ้าตรวจพบกฎหมายก็ทำได้เพียงปิดเว็บ แต่ไม่สามารถเอาผิดผู้อยู่เบื้องหลังได้” นายวอลช์กล่าว

ดาร์คเน็ต หรือ เน็ตมืด เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะ เพื่อเข้าถึง โดยเชื่อมต่อผ่านเซิร์ฟเวอร์หลายชั้น ซึ่งผู้ใช้ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล เจรจาต่อรอง เป็นช่องทางสำหรับการทำกิจกรรมผิดกฎหมายมากมาย เว็บไซต์ที่เปิดบนดาร์คเน็ต ไม่ได้ถูกจัดทำดัชนี จึงหมายความว่า นักท่องอินเตอร์เน็ตจะไม่สามารถค้นหาผ่านกูเกิ้ลได้

“พวกที่มีรสนิยมชอบเด็ก ที่ดำเนินการดาร์คเน็ต ปล่อยคลิปหรือภาพลามกทางอินเตอร์เน็ต ยิ่งเราพยายามลบมันออก พวกเขายิ่งพยายามทำให้มันเข้าถึงได้ยากขึ้น และมันยิ่งเพิ่มมากเป็นปรากฏการณ์ในปัจจุบัน” นายวอลช์กล่าว

ในอีกด้าน ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต สามารถเข้าถึงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้โดยสะดวก เพราะแทบทุกคนมีสมาร์ทโฟน

“เรามีโทรศัพท์กันคนละอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง อาจจะสองเครื่อง ไม่ว่าจะอยู่ในชนบทหรืออยู่ในเมือง คุณก็สามารถใช้อินเตอร์เน็ต 4 จีได้ง่ายๆ ... สิ่งที่หน่วยงานเกี่ยวข้องสามารถทำได้คือ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การเผยแพร่สื่อลามกเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก” นายวอลช์กล่าว

ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 แต่ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 58 ในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนในประเทศไทยมีเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 67 แล้ว อ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุในคดีศึกษาล่าสุด

ไทยดำเนินคดีกับสื่อลามกอนาจาร

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยูเอ็นโอดีซี รายงานว่า ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก การค้ามนุษย์ และเซ็กซ์ทัวร์ กำลังเพิ่มขึ้นในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ที่สำคัญฐานการผลิตเว็บแคมอนาจารของเด็กได้ย้ายฐานจากฟิลิปปินส์มาสู่ไทยแล้ว

ด้าน พ.ต.อ.สันติพัฒน์ พรหมจุล จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ประเทศไทยตระหนักถึงปัญหาการเพิ่มขึ้นของสื่อลามกเด็กนี้ ทำให้มีการจัดตั้งคณะทำงานปราบปรามอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดเด็กและเยาวชน (TICAC) โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับสำนักงานสอบสวนกลาง สหรัฐอเมริกา(FBI) และสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (HSI) ในเดือนมกราคม 2559

พ.ต.อ.สันติพัฒน์ หลังจากประเทศไทย ประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2558 เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 เพื่อปกป้องเด็กจากการถูกเอาเปรียบทางเพศ กลุ่มที่มีรสนิยมทางเพศต่อเด็กได้หนีออกไปจากประเทศไทยหมดแล้ว และทางหน่วยได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหารายอื่นๆ 25 คดี

“คดีที่พบและสอบสวนโดย ทีไอซีเอซี มีจำนวน 25 คดี เป็นคดีการใช้เด็กเพื่อผลิตสื่อลามก ร้อยละ 72 (18 คดี) คดีการแสวงประโยชน์ทางเพศในเด็กร้อยละ 16 (4 คดี) และคดีค้ามนุษย์ร้อยละ 12 (3 คดี) นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็ก (ACT) 3 ศูนย์ ที่เชียงใหม่ ชลบุรี และภูเก็ต เพื่อเป็นที่พัก และช่วยเหลือดูแลเด็กที่ถูกแสวงประโยชน์ทางเพศหรือถูกละเมิดอย่างคลอบคลุม และเอซีที ได้ร่วมกับ ทีไอซีเอซีหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายด้วย” พ.ต.อ.สันติพัฒน์กล่าว

พ.ต.อ.สันติพัฒน์ระบุว่า การสร้างสื่อลามกเด็กในประเทศไทยมีทั้งการใช้วิธีล่อลวง และใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจของเด็กเอง ซึ่งหากเด็กตกเป็นเหยื่อ สื่อลามกที่เกิดขึ้นจะติดอยู่บนอินเตอร์เน็ตเป็นระยะเวลานาน และสามารถวนกลับมาทำร้ายตัวเหยื่อได้ในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องทำควบคู่กับการปราบปรามผู้กระทำผิดคือ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเด็กและเยาวชน

“ถ้าเราอยากสร้างความรับรู้ของสังคมในเรื่องนี้ เราควรเตือนเด็กๆ เพราะตอนนี้เด็กใช้โซเชียลมีเดียแล้วคุมตัวเองไม่ได้ หรือไม่คิดว่า ฝั่งตรงข้ามจะมีการอัด เวลามันเข้าอินเตอร์เน็ตไปแล้ว มันอยู่เป็น 10-20 ปี แม้จะเคลียร์คดีแล้ว แต่สื่อมันยังวนอยู่ในระบบ เรื่องภาพเด็กในครอบครัวก็ต้องทำความเข้าใจใหม่ รูปน่าเอ็นดู เด็กกระโดดแก้ผ้า มันน่ารัก แต่ต้องปรับทัศนคติว่าในสากล เรื่องนี้เป็นสิทธิเด็กเช่นกัน” พ.ต.อ.สันติพัฒน์กล่าว

พ.ต.อ.สันติพัฒน์ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีกฎหมายควบคุมสื่อลามกอนาจารเด็ก และการตั้งคณะทำงานปราบปรามอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดเด็กและเยาวชน (TICAC) นี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ในปี 2560 นี้ สหรัฐอเมริกาปรับสถานะประเทศไทยสู่ระดับเทียร์ 2 เฝ้าระวัง ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ เพราะ สื่อลามกอนาจารเด็กถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของรายงานนี้

ความน่าวิตกในการใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ผิด

ในห้วง 7 วันของการตรวจสอบในกรุงเทพฯ มีบัญชีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่วนบุคคลกว่า 3600 ราย ที่สามารถระบุได้ว่า มีการแสวงประโยชน์จากเด็ก จอน เราส์ สมาชิกหน่วยเฉพาะกิจอาร์โก หรือ Taskforce Argos ซึ่งเป็นหน่วยตำรวจออสเตรเลีย ที่มีเป้าหมายในการสืบหาเครือข่ายการล่วงละเมิดทางเพศเด็กออนไลน์ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ขณะที่มาร่วมการประชุมที่กรุงเทพฯ ด้วย

นีล วอลช์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ยูเอ็นโอดีซีได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ เพื่อการหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก

"ระบบการเคลื่อนไหวทั้งหมดบนเว็บแคมออนไลน์ได้เปลี่ยนไป ในอดีตเราต้องเสียบกล้องเชื่อมต่อ เพื่อทำสิ่งนี้" เขากล่าว "แต่ตอนนี้ เพียงโทรศัพท์ แล็ปท็อป แท็บเล็ต และนั่นคือจำนวนเว็บแคมที่มีในบ้านของคุณ"

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง