ศุลกากรร่วมตำรวจจับงาช้าง 4 ล้านบาท

นายกุลิศ สมบัติศิริ(ซ้าย) อธิบดีกรมศุลกากร และ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผบ.ตร. ร่วมแถลงข่าว สกัดจับงาช้างจากประเทศคองโก วันที่ 22 กันยายน 2560
นายกุลิศ สมบัติศิริ(ซ้าย) อธิบดีกรมศุลกากร และ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผบ.ตร. ร่วมแถลงข่าว สกัดจับงาช้างจากประเทศคองโก วันที่ 22 กันยายน 2560 (เบนาร์นิวส์)

ในวันศุกร์ (22 กันยายน 2560) นี้ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ร่วมกับตำรวจ แถลงผลการสกัดจับกุมงาช้างจากทวีปแอฟริกา หนัก 40 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท โดยระบุว่า ผู้นำเข้าหวังใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่สามในทวีปเอเชีย ตั้งแต่ ตุลาคม 2559 ถึงปัจจุบัน ไทยจับกุมการลักลอบผิดกฎหมาย สัตว์ป่าและพืชป่า 43 คดี มูลค่าของกลางประมาณ 300 ล้านบาท

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ขบวนการลักลอบขนส่งงาช้างได้สำแดงงาช้างชุดนี้ว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยมีต้นทางจากประเทศคองโก ส่งมายังประเทศไทย แต่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเห็นจุดผิดสังเกต จึงประสานตามตัวผู้มีชื่อรับ แต่ไม่มีผู้แสดงตัว จึงได้เปิดพิสูจน์และพบเป็นงาช้าง

“มีข้อสงสัยว่า อาจจะไม่ใช่อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ตามที่สำแดง เราจึงได้เอ็กซ์เรย์เบื้องต้น... เส้นทางของตัวงาช้างที่มาจากประเทศคองโก แวะต่อเครื่องที่เอธิโอเปีย แล้วก็มาที่ประเทศไทย แต่ผู้ที่ปรากฎชื่อไม่มารับของ มีงาช้างที่สมบูรณ์ 1 กิ่ง และตัดเป็นท่อนแล้ว 28 ท่อน ขั้นต่อไปคือส่งต่อชื่อผู้เกี่ยวข้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขยายผลต่อไป” นายกุลิศกล่าว

นายกุลิศระบุว่า การตรวจยึดและจับกุมครั้งนี้ กรมศุลกากร ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยพบของกลางเป็นงาช้างสมบูรณ์ 1 กิ่ง และงาช้างที่ถูกตัดย่อย 28 ท่อน น้ำหนักรวม 40 กิโลกรัม ประเมินมูลค่าว่าสูงกว่า 4,000,000 บาท

โดยเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 เจ้าหน้าที่ศุลกากรสำนักสืบสวน และปราบปราม ประจำคลังสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ตรวจสอบข้อมูลบัญชีสินค้าทางอากาศยาน และพบข้อมูลการนำเข้าที่มีความเสี่ยงในการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ เข้ามาทางสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดสินค้า และนำไปเอ็กซเรย์ ผลปรากฏพบภาพวัตถุคล้ายงาช้าง จึงแจ้งผู้ที่มีชื่อให้มารับสินค้า จนกระทั่งวันที่ 18 กันยายน 2560 ไม่ปรากฏผู้มาแสดงตนผ่านพิธีการทางศุลกากร เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดตรวจสินค้า และพบเป็นงาช้างดังกล่าว

ด้าน พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยว่า จากมาตรการที่เข้มข้นของเจ้าหน้าที่ทางการไทย ทำให้ขบวนการค้าชิ้นส่วนสัตว์ผิดกฎหมาย เปลี่ยนรูปแบบจากการส่งสินค้าครั้งละมาก เป็นส่งสินค้าครั้งละน้อยลง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังพยายามสกัดกั้น ไม่ให้ประเทศไทยถูกใช้เป็นทางผ่านของงาช้างผิดกฎหมายได้

“ที่ผ่านมา ที่เราจับได้ล็อตใหญ่ เป้าหมายเขาเป็นประเทศที่สาม เช่น ประเทศจีน เพราะเขามีความเชื่อเกี่ยวกับงาช้างพวกนี้ โดยมักขนส่งผ่านประเทศไทย เรามีมาตรการห้ามเข้า เข้ามาแล้วต้องไม่ให้ออก ถ้ามาทางอากาศกรมศุลกากรก็เป็นผู้ตรวจสอบ ถ้ามาทางชายแดนกรมศุลกากรจะร่วมกับตำรวจ แต่ล็อตใหญ่มักมาทางเรือสินค้า” พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติกล่าว

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่า เครือข่ายลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ ใช้วิธีการสำแดงชนิดสินค้าเป็นเท็จ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงเฝ้าระวังสินค้าที่มีต้นทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่คือประเทศในทวีปแอฟริกา

การซุกซ่อนงาช้างครั้งนี้ ถูกส่งมาในกล่องกระดาษสีน้ำตาลมีเทปกาวพันมาโดยรอบ และหุ้มด้วยถุงพลาสติกสีดำอีกชั้นหนึ่ง ภายในกล่องบรรจุงาช้าง ซึ่งถูกห่อหุ้มด้วยฟองน้ำกันกระแทก และกระดาษฟอยล์

การขนส่งงาช้างครั้งนี้ เป็นความผิดฐานลักลอบนำงาช้างซึ่งเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครอง นำเข้าหรือนำผ่านซากสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะนำส่งงาช้างให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เก็บรักษา โดยสำนวนคดีจะถูกส่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

สถิติการตรวจยึดสินค้าละเมิดอนุสัญญาไซเตส (CITES) ของประเทศไทย ในปีงบประมาณ 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรสามารถจับกุมการลอบนำเข้า-ส่งออก-นำผ่าน สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งประเทศ ได้ทั้งสิ้นจำนวน 43 คดี มูลค่าของกลางประมาณ 300 ล้านบาท โดยมักพบเป็น งาช้าง นอแรด เต่า นก และสัตว์ผิดกฎหมายประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะงาช้าง ปีนี้ สามารถจับกุมได้แล้ว 4 คดี มีของกลาง 470 ท่อน