สมชายแถลงปฎิเสธ ความผิดคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรปี 2551
2017.06.30
กรุงเทพฯ
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นอ่านคำแถลงปิดคดีสลายม็อบพันธมิตรที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสองราย เมื่อปี พ.ศ. 2551 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันศุกร์ (30 มิถุนายน 2560) นี้ว่า ตนเองไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองพื้นที่ คือ ตำรวจ และ ไม่มีการสลายการชุมนุมในวันนั้น ซึ่งศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาตัดสินคดีในวันที่ 2 สิงหาคม 2560 และกำชับให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จำเลยที่สองเข้าร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
ในคดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บังคับบัญชาการตำรวจนครบาล (จำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ) ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ว่าด้วย การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าพนักงาน และพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จากกรณีการสลายชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย มีผู้รับบาดเจ็บรวม 471 ราย
นายสมชาย ได้อ่านคำแถลงต่อศาล ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า ตนไม่ได้กระทำผิดใดๆ ไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิดความไม่สงบ โดยไม่ได้เป็นผู้สั่งให้มีการสลายการชุมนุม ทั้งนี้ ตนและคณะรัฐมนตรีพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรง อีกทั้งยังย้ำว่าไม่ได้ละเว้นในหน้าที่ เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของตนในการมาควบคุมพื้นที่ และในเวลาที่มีการเสียชีวิต ตนเองไม่ได้อยู่ในพื้นที่รัฐสภา หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.)
“กระผมมิได้กระทำการอันใดที่ผิดมาตรา 157 ทั้งการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และไม่มีเจตนาให้เกิดการเสียหายใดๆ ในการชุมนุมครั้งนั้น” นายสมชาย กล่าวต่อศาล
“ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตรา 157 คือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรง ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองพื้นที่ คือ ตำรวจ ไม่ใช่หน้าที่ของผมในการมาคุ้มครอง หากมีการสลายการชุมนุม ซึ่งในวันนั้นไม่มีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น” นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติม
นายสมชายระบุว่า ผู้เสียชีวิต 2 ราย ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 คือ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี เสียชีวิตด้วยระเบิดของตนเองที่นำเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม ขณะที่ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ เป็นการเสียชีวิตด้วยเหตุที่ไม่มีใครทราบ ซึ่งอาจไม่ได้มาจากการสลายการชุมนุมด้วยการปาระเบิดแก๊ซน้ำตาก็เป็นได้ และหลังเสร็จสิ้นการไต่สวน นายสมชายได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ตนเองมั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรมจากระบบยุติธรรมของไทย
เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสภาพรถยนต์ของ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี ที่เกิดระเบิดจนเสียชีวิต วันที่ 7 ตุลาคม 2551 (ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์)
ในการไต่สวนครั้งนี้ ศาลได้สืบพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 5 ปาก เป็นการซักถามเกี่ยวกับการใช้แก๊สน้ำตาระหว่างการชุมนุมช่วงวันที่ 6-7 ตุลาคม 2551 ซึ่งในห้องพิจารณามีสื่อมวลชน และสมาชิกพันธมิตร เข้าร่วมฟังการไต่สวนจำนวนมาก โดยหลังเสร็จสิ้นการไต่สวน ศาลให้เวลาจำเลยที่ 2 และ 4 ยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 สิงหาคม 2560 นี้ พร้อมทั้งกำชับให้พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จำเลยที่ 2 มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
การชุมนุมของพันธมิตรฯ
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2548 รัฐบาลภายใต้การนำของนายทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทโทรคมนาคมไทย ที่จากเดิมสามารถถือครองได้ไม่เกิน 25% เป็นสามารถถือครองได้ไม่เกิน 50% และยกเลิกข้อบังคับเรื่องสัดส่วนของกรรมการบริษัทสัญชาติไทยด้วย
และหลังจากกฎหมายดังกล่าวประเทศใช้ 3 วัน ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ชินคอร์ป เจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์เอไอเอสได้ทำการขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 49.595% ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม เรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับครอบครัวของนายทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
การกระทำครั้งนั้นนำไปสู่การประท้วงขับไล่รัฐบาลโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กลุ่มคนเสื้อเหลือง) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ก่อนที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)โดยการนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จะทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ในวันที่ 20 กันยายน 2549
อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งในปี 2550 พรรคพลังประชาชน ในฐานะพรรคตัวแทนของนายทักษิณ ได้รับการเลือกตั้งเป็นพรรคเสียงข้างมาก จึงได้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายารัฐมนตรี ตามมาด้วยนายสมชาย วงศ์สวสัสดิ์ ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาชุมนุมเพื่อขับไล่อีกครั้ง อย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงสมัยของนายสมชาย และเกิดการสลายการชุมนุมเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ดังกล่าว