ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องห้าจำเลย คดีลักพาตัวทนายสมชาย นีละไพจิตร
2015.12.29
ในวันอังคารที่ 29 ธ.ค. 2558 นี้ ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องจำเลยห้าคน ในคดีปล้นทรัพย์และข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อทนายความสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547
ทั้งนี้ มีพยานบุคคลเห็นกลุ่มชายประมาณสี่ถึงห้าคน ช่วยกันผลักทนายสมชาย นีละไพจิตร เข้าไปในรถยนต์ของนายสมชายเอง และขับรถยนต์ทั้งสองคันไปจากที่เกิดเหตุ จากนั้น ได้พบรถยนต์ของทนายสมชายถูกจอดทิ้งไว้ที่สถานีขนส่งหมอชิตสอง
โดยศาลฎีกาได้มีความเห็นว่า จากคำให้การของพยานทั้ง 6 คน ไม่มีใครสามารถระบุตัวจำเลยใดๆ ได้ว่าเป็นคนร่วมอุ้มตัวทนายสมชาย นีละไพจิตร มีการให้ปากคำต่อศาลขัดแย้งกันเอง รวมทั้ง หลักฐานการแสดงการติดต่อทางโทรศัพท์ของจำเลยที่สงสัยว่าเป็นการสะกดรอย และจับตัวทนายสมชายในวันเกิดเหตุนั้น ผู้ทำหลักฐานไม่ได้เบิกความและเซ็นรับรองความถูกต้อง โจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่า จำเลยมีการสะกดรอยตามทนายสมชายในวันที่เกิดเหตุจริง และไม่ปรากฏรอยฝ่ามือ เส้นผม หรือรอยเลือดบนรถยนต์ของทนายสมชาย จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
นอกจากนั้น ศาลฎีกายังพิจารณาเห็นว่า การเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนางอังคณา นีละไพจิตร และบุตรสาว ไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่สามารถยืนยันได้ว่าทนายสมชายได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจนไม่สามารถมาอุทธรณ์ด้วยตนเองได้
ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า ตนเองรู้สึกเสียใจและผิดหวังต่อกระบวนการยุติธรรม
“รู้สึกเสียใจและผิดหวัง ไม่คิดว่าศาลจะไม่พิจารณาข้อเท็จจริง แม้ไม่มีใบรับรองแพทย์ ไม่มีใบมรณบัตร แต่ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์” นางอังคณากล่าว
“รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องโยนคำถามไปให้รัฐ และสำนักงานตำรวจว่าทำไมไม่ส่งหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือให้ศาล” นางอังคณากล่าวเพิ่มเติม
ที่มาของคดี
ในวันที่ 12 มีนาคม 2547 ทนายสมชายได้เดินทางผ่านมายังถนนรามคำแหง ใกล้ซอย 69 เพื่อมุ่งหน้าไปบ้านน้องชายของเพื่อน ก่อนถูกกลุ่มคนร้ายลักพาตัวไป ซึ่งพยานให้การต่อศาลว่า ได้ยินเสียงผู้ชายร้องขอความช่วยเหลือ
ในวันที่ 12 มิถุนายน 2547 อัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 ราย คือ 1. พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีต สว.กอ.รมน. 2. พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อดีตพนักงานสอบสวน กก.4 ป. 3. จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท. 4. ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. และ 5. พ.ต.ท.ชัชชัย เลี่ยมสงวน อดีตรอง ผกก.3 ป. เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใด โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ศาลชั้นต้นได้ลงโทษจำคุกจำเลยที่หนึ่งเป็นเวลาสามปี แต่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และในภายหลังญาติได้แจ้งความกับตำรวจว่า พ.ต.ต. เงิน ทองสุก ถูกกระแสน้ำพัดหายไปไม่มีใครพบศพ ต่อมา ในวันที่ 11 มีนาคม 2554 ศาลอุทธรณ์จำเลยทั้งห้าคน
ทนายสมชาย ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวหาเจ้าหน้าที่ว่า ขู่เข็ญกระทำทารุณกรรมให้รับสารภาพต่อข้อกล่าวหาว่า มีส่วนร่วมในการปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ในจังหวัดนราธิวาสเมื่อปี 2547 โดยผู้ต้องหาห้ารายนั้น ได้ถูกนำตัวมาคุมขังที่บางเขนในขณะนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เป็นที่ต้องสงสัยว่า กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 ฐานเป็นจำเลยนั้น ต้องการอุ้มทนายสมชาย เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง
การบังคับบุคคลให้สูญหาย
นางอังคณา นีละไพจิตร ที่ได้เข้ารับตำแหน่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวว่า คดีการลักพาตัวทนายสมชายเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ enforced disappearance
ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายแล้ว เมื่อเดือนมกราคม ปี 2554 แต่ยังไม่ได้ลงสัตยาบรรณ
ในเดือนมีนาคม นางอังคณาได้ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรื้อคดีทนายสมชาย และต้องการให้สืบสวนสอบสวนในลักษณะคดีการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่ไม่สามารถทำได้ ด้วยเหตุว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีโดยดีเอสไอ ยังไม่คืบหน้านัก นางอังคณากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ มุ่งเน้นไปที่การค้นหาศพทนายสมชาย ซึ่งยังไม่สามารถหาได้ แต่นางอังคณาต้องให้ดำเนินการสืบสวนในลักษณะคดีฆาตกรรมที่ยังไม่พบศพ
แซม ซาริฟี ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค คณะกรรมการเพื่อความยุติธรรมสากล กล่าวว่า “เมื่อรัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายไปแล้ว การตัดสินในคดีนี้นั้น เป็นเหมือนการขัดแย้งต่อความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ในการปกป้องบุคคลไม่ให้ถูกลักพาตัวสูญหายไป ด้วยการอนุญาตให้ญาติเข้าร่วมในกระบวนการยุติธรรม”
ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมกล่าวว่า คำตัดสินในวันนี้ ได้สร้างบรรทัดฐานการถูกบังคับสูญหาย ต้องมีการพิสูจน์ว่าผู้ได้รับความเสียหาย บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จนไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีเองได้