สมยศ พฤกษาเกษมสุข พ้นโทษหมิ่นเบื้องสูง หลังคุก 7 ปี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.04.30
กรุงเทพฯ
180430-TH-somyot-1000.jpg นายสมยศ พฤกษเกษมสุข (เสื้อสีฟ้า) ถ่ายภาพกับมวลชนที่มาต้อนรับ หน้าเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ วันที่ 30 เมษายน 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ยืนยันว่า จะยังเดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ กระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องประชาธิปไตย ในฐานะประชาชนต่อไป ในวันจันทร์นี้ หลังจากเพิ่งพ้นโทษออกมา จากการถูกตัดสินจำคุก 7 ปี ในความผิดหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

“ผิดหวังที่ออกมาไม่เจอประชาธิปไตยที่แท้จริง 7 ปี ชีวิตก็พังทลาย อาชีพเสียหาย รายได้ ธุรกิจก็พัง เป็นความทุกข์ทรมาน เป็นความเจ็บปวด” นายสมยศ กล่าวแก่สื่อมวลชน

“จากนี้ ยังต้องดำเนินการต่อเรื่องการสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งวันนี้ ก็ยังมีปัญหา เช่น องค์กรด้านศาล ที่ยังต้องมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการ ยังมีอีกหลายคนที่ต้องถูกจำคุก รวมถึงคดีการเมืองอื่นๆ ต้องเดินหน้า ทวงคืนประชาธิปไตยและความยุติธรรม การเคลื่อนไหว การรวมตัว อยากให้รัฐบาลเปิดใจกว้าง ยอมรับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ไปขัดขวาง หรือดำเนินการใดๆ” นายสมยศกล่าว เพิ่มเติม

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในเวลา 06.00 น. โดยมีสมาชิกครอบครัว เพื่อน ประชาชน สื่อมวลชน รอต้อนรับประมาณ 40 คน ผู้เฝ้ารอหลายคนได้มอบดอกไม้ และของที่ระลึกให้กับนายสมยศ บุตรชายและบุตรสาวเข้าสวมกอดนายสมยศด้วยรอยยิ้ม ทันทีที่พบหน้า ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล

นายสมยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อจากนี้จะให้เวลากับครอบครัว เขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตในเรือนจำ ซึ่งได้มองเห็นความไม่ถูกต้อง และความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นหลายประเด็น และจะเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานประชาชนธรรมดา

นายสมยศ ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่บทความ 2 ชิ้น คือ “แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น” และ “6 ตุลาแห่ง พ.ศ. 2553” ในนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2553 ตามลำดับ ซึ่งแม้บทความทั้ง 2 ชิ้น จะระบุนามปากกาผู้เขียนว่า “จิตร พลจันทร์” (นายจักรภพ เพ็ญแข) ก็ตาม การถูกดำเนินคดีหมิ่นเบื้องสูงของนายสมยศ กลายเป็นสัญลักษณ์การเรียกร้องให้มีการแก้ไข กฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกลุ่มนักกฎหมาย นักเขียน และประชาชนบางกลุ่ม เนื่องจากเชื่อว่า มีอัตราโทษรุนแรงเกินไป

นายสมยศได้ถูกจับกุม ในวันที่ 30 เมษายน 2554 โดยถูกขังที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ และได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวกว่าสิบครั้ง  แต่ศาลปฏิเสธทุกครั้ง ต่อมาเมื่อ 23 มกราคม 2556 ศาลชั้นต้นตัดสินว่า นายสมยศมีความผิดจากข้อกล่าวหาดังกล่าวจริง โดยตัดสินให้ลงโทษจำคุก 2 กรรม กรรมละ 5 ปี รวมเป็น 10 ปี ต่อมานายสมยศขออุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น

จนกระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลฎีกาตัดสินยืนความผิดนายสมยศตามศาลชั้นต้น แต่ให้ลดโทษ โดยให้ลงโทษ 2 กรรม กรรมละ 3 ปี รวมเป็น 6 ปี ซึ่งเมื่อรวมกับความผิดก่อนหน้าในข้อหาหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ปี 2552 ซึ่งนายสมยศถูกตัดสินจำคุก 1 ปี ทำให้นายสมยศมีโทษจำคุกรวม 7 ปี

นายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข บุตรชายของนายสมยศ กล่าวว่า เป็นกำลังใจให้นายสมยศเสมอ ซึ่งหลังจากนี้ หากนายสมยศจะเคลื่อนไหวทางการเมืองจะได้ปรึกษาในครอบครัวว่า กิจกรรมใดเหมาะสมหรือไม่

“ครอบครัวก็เป็นกำลังใจให้ แต่ยังไม่รู้ว่าเขาอยากทำอะไรบ้าง การเคลื่อนไหวก็แล้วแต่สถานการณ์บ้านเมือง ครอบครัวก็ให้คำแนะนำไปเหมือนกันว่าอย่างไหนถึงจะเหมาะ ถ้าหากแรงไปก็เป็นความเสี่ยง ซึ่งเขาก็น่าจะเข้าใจ” นายปณิธานกล่าว

ด้านนายปกรณ์ อารีกุล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และสมาชิกพรรคสามัญชน หนึ่งในผู้ที่เดินทางมารอการพ้นโทษของนายสมยศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การต่อสู้ของนายสมยศถือเป็นตัวอย่าง และกำลังใจของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นต่อไป

“สำหรับผมพี่ยศคือนักโทษการเมืองตัวอย่าง เพราะสู้จนถึงวินาทีสุดท้าย ไม่ยอมรับสารภาพ เพื่อให้พ้นผิดโดยเร็ว เพราะเชื่อมั่นในความบริสิทธิ์ของตนเอง ถือเป็นจิตใจที่น่านับถือ พี่ยศออกมาก็ถือว่าเป็นกำลังใจให้กับคนที่ต่อสู่กับเผด็จการอยู่ พี่ยศน่าจะเป็นส่วนสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตยต่อไป” นายปกรณ์ ซึ่งเคยโดนคดีการเมือง จนถูกฝากขัง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจากการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นเบื้องสูง อย่างน้อย 94 คน

จากสถิติที่เก็บโดยสหประชาชาติระบุว่า ระหว่างปี 2554-2556 มีผู้ถูกสอบสวนในคดีหมิ่นเบื้องสูง กฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 119 คน ในนั้นมีคดีที่ได้รับการยกฟ้องเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในช่วงปี 2557-2559 มีผู้ถูกสอบสวนคดีหมิ่นฯถึง 285 คน แต่กลับถูกพิพากษายกฟ้องเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 นายวิชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี ชาวเชียงใหม่ ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก 70 ปี จากความผิดข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากที่ในปี 2558 ถูกจับกุมตัวจากการปลอมเฟซบุ๊ค โดยใช้ชื่อบุคคลอื่น เพื่อโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นฯจำนวน 10 ครั้ง อย่างไรก็ดีศาลได้ตัดสินลงโทษจำคุก 7 ปีต่อ 1 กรรม จากการกระทำผิด 10 กรรม แต่ลดโทษกึ่งหนึ่ง เนื่องจากนายวิชัยรับสารภาพ เหลือจำคุก 3 ปี 6 เดือนต่อ 1 กรรม นายวิชัยจึงถูกตัดสินลงโทษเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 30 ปี 60 เดือน ถือเป็นการตัดสินโทษจำคุกจากความผิด ม.112 ที่มีโทษยาวนานที่สุด

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง