ศาลสั่งกองทัพบก-สำนักนายกฯ จ่ายค่าเยียวยาเพิ่มแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ

มารียัม อัฮหมัด
2020.09.17
ปัตตานี
200917-TH-court-compensation-1000.jpg นางรอพีฮะ ดอเลาะ (ขวามือ) ลูกสาวนายมะแอ ดอเลาะ และเป็นแม่ของนายซอบรี บือราเฮง สองในห้าผู้บาดเจ็บจากการถูกยิงในอำเภอหนองจิก เมื่อปี 2555 เดินทางมาที่ศาลปัตตานี วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2663 ศาลจังหวัดปัตตานี สั่งกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรีจ่ายสินไหมเพิ่มเติมกว่าห้าล้านบาท ให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บพลเรือน 5 ราย ที่ถูกทหารพรานใช้อาวุธปืนสงครามเข้ายิงใส่ เพราะคิดว่าเป็นฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ ในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อต้นปี พ.ศ. 2555

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555 โดยเริ่มจากคนร้ายใช้เครื่องยิงระเบิด เอ็ม.79 ถล่มฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 4302 ในหมู่ที่ 3 ตำบลปุโละปุโย ในช่วงค่ำของวัน จนมีทหารพรานได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยหนึ่งนาย จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ตั้งจุดสกัด และออกติดตามคนร้าย ตามเส้นทางหมายเลข 418 ยะลา-ปัตตานี พบรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ สีบรอนซ์เงิน หมายเลขทะเบียน 3105 ปัตตานี ของผู้เสียหายขับขึ้นมาจากเส้นทางใกล้เคียง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่ามีการยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ จึงมีการยิงตอบโต้กันขึ้น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 5 ราย ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในภายหลังทราบว่า รถยนต์คันดังกล่าว เป็นรถของชาวบ้านที่เดินทางออกจากหมู่บ้านกาหยี หมู่ที่ 1 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อไปละหมาดศพ (การละหมาดขอพรให้ผู้เสียชีวิต) ที่บ้านทุ่งโพธิ์ หมู่ที่ 4 ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยออกมาได้เพียง 500 เมตร ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาเสียก่อน

ในวันนี้ นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ศาลจังหวัดปัตตานี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.519/2558 โดยสั่งให้กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี จ่ายสินไหมเพิ่มเติมแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย เป็นจำนวนเงินเพิ่มเติมอีกสูงสุดประมาณรายละ 1,000,000 บาท

ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีข้อเสนอของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในสมัยนั้น ได้ให้เงินเยียวยาผู้บาดเจ็บ รายละ 5-7 แสนบาท ตามอาการ ซึ่งทางผู้ได้รับบาดเจ็บเห็นว่า ไม่เพียงพอ จึงได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม

สำหรับผู้เสียชีวิต 4 รายนั้น ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จ่ายค่าเยียวยา รายละ 7 ล้านบาท ไปในวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ

นางรอพีฮะ ดอเลาะ มารดาของนายซอบรี บือราเฮง และลูกสาวของนายมะแอ ดอเลาะ ทั้งสองเป็นผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว กล่าวว่า ตนเองดีใจที่ศาลได้ให้ความเมตตา

“รู้สึกดีใจ เราต่อสู้มาพอที่จะเห็นความเป็นธรรมบ้าง จากที่ตอนแรกผู้บาดเจ็บได้รับเงินเยียวยาสี่แสนห้า วันนี้ศาลสั่งจ่ายเพิ่ม” นางรอพีฮะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในเรื่องการฟ้องร้องนั้น นายยา ดือราแม หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บกับพวกรวม 5 คน ได้เป็นโจทก์ร่วมฟ้องกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี เริ่มดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2558 โดยตามคำพิพากษานั้น ได้เห็นว่า อาวุธปืนและปลอกกระสุนปืนที่พบในรถยนต์กระบะของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในที่เกิดเหตุนั้น มิได้เป็นของชาวบ้านที่อาศัยมาในรถยนต์กระบะของโจทก์ที่หนึ่งแต่ประการใด

ส่วนที่ว่า มีการใช้อาวุธปืนยิงเจ้าหน้าที่จำนวนสองนัด ตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง จึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อเหตุและผล ไม่อาจรับฟังให้เป็นยุติได้ การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารจึงเป็นการกระทำในลักษณะละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้า จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้จำเลยทั้งชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ ซึ่งเป็นคดีชาวบ้าน 5 คน ดังกล่าว

สำหรับรายชื่อผู้ได้บาดเจ็บ 5 ราย คือ 1. นายมะแอ ดอเลาะ 2. นายซอบรี บือราเฮง 3. นายมะลูดิง แวกาจิ 4. นายยา ดือราแม และ 5. นายอับดุลเลาะ (สงวนนามสกุล)

ส่วนผู้เสียชีวิต 4 ราย คือ 1. นายสาหะ สาแม อายุ 67 ปี 2. นายอิสมัน ดือราแม อายุ 55 ปี 3. นายรอปา บือราเฮง อายุ 18 ปี 4. นายหามะ สะนิ อายุ 56 ปี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง