รัฐบาลสั่งอพยพชาวใต้นับหมื่นหลบพายุปาบึก
2019.01.03
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
ในวันพฤหัสบดีนี้ เจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ ได้เร่งอพยพประชาชนที่อาศัยตามแนวชายฝั่งไปยังสถานที่หลบภัย เพื่อให้รอดพ้นจากผลกระทบของพายุโซนร้อนปาบึก ที่คาดว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งนครศรีธรรมราชในเวลาใกล้ค่ำของวันศุกร์นี้ ในขณะที่อิทธิพลของพายุได้ทำให้เกิดคลื่นลมแรง ฝนตกหนัก และน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดแล้ว แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยารายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ธ.ค. นี้ ว่า พายุโซนร้อนปาบึก ที่มีความลมที่ศูนย์กลาง 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนมุ่งหน้าจากทะเลจีนใต้สู่อ่าวไทยด้วยความประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะเคลื่อนที่ถึงฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชในตอนค่ำของวันศุกร์ โดยที่อำเภอปากพนัง นครศรีธรรมราช ทางการได้อพยพชาวบ้านประมาณหนึ่งห้าร้อยรายออกจากแหลมตะลุมพุก ไปยังสถานที่หลบภัยของทางการ ซึ่งแหลมแห่งนี้ เคยโดนพายุแฮเรียตถล่มจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 900 ราย เมื่อ ปี พ.ศ. 2505 ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งอพยพชาวบ้านรวมสามหมื่นราย
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือนประชาชนว่า พายุปาบึกมีอิทธิพลครอบคลุมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปจนถึงนราธิวาส จึงให้ประชาชนพร้อมรับมือกับวาตภัยครั้งนี้
“วันที่ 3-4 มกราคม 62 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล วันที่ 5 มกราคม 62 จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล” บางส่วนจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แสดงไว้ในวันพฤหัสบดีนี้
ในจังหวัดปัตตานี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ได้ตรวจความพร้อมของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดปัตตานี เพื่อเตรียมรับมือกรณีเกิดเหตุขัดข้องทำให้ไฟฟ้าดับ และได้ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องชาวประมงเข้าใจถึงความห่วงใยของรัฐบาล ที่มีต่อผู้ประกอบการประมงต่อวาตภัยครั้งนี้ นอกจากนั้น ได้มีการอพยพประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย
“ของตำบลบางตาวาได้อพยพชาวบ้านสองหมู่บ้าน ไปอยู่ศูนย์อพยพ 2 จุด รวมทั้งหมด 200 ราย มีทั้งเด็ก ผู้ป่วยติดเตียง ผู้หญิง ผู้พิการ ซึ่งเมื่อมาอยู่ที่ศูนย์ทาง เจ้าหน้าที่ก็จะแบ่งเป็นโซน โซนแดง คือผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โซนเหลือง ผู้ป่วยโรคเบาหวานความดัน และโซนเขียว กลุ่มคนทั่วไปที่มาอยู่” นางสุนิสา หนุ่ยสามัญ กำนันตำบลบางตาวา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ผู้เชี่ยวชาญ: พายุจะไม่แรงขึ้น
ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี ผู้ดูแลแฟนเพจ สจล. พยากรณ์อากาศประเทศไทย และผู้พัฒนาแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศ WMapp Weather Forecast เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า เชื่อว่าพายุปาบึกจะไม่เพิ่มความรุนแรงขึ้นเมื่อเข้าชายฝั่งประเทศไทย
“เมื่อเช้า ตัวพายุประชิดขอบชายฝั่งบริเวณชายแดนไทยกับมาเลเซีย จุดศูนย์กลางของพายุจะเข้าบริเวณรอยต่อปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา ประมาณ เวลา 01.00 น. ของวันที่ 4 มกราคม 2562 ฝนตกจะหนักช่วงสามทุ่มถึงตีสาม อาจจะมีส่วนหนึ่งของนครศรีธรรมราชฝนตกด้วย พายุเคลื่อนเข้ามาแล้ว จะครอบคลุมหลายพื้นที่ของภาคใต้โดยเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก จะมีฝนตกเรื่อยๆ ยาวไปถึงวันที่ 5 เท่าที่โมเดลพยากรณ์ไว้ หลังจากนั้นจะสงบลง” ผศ.ดร.ชินวัชร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์
ทั้งนี้ นอกจากพายุแฮเรียตถล่มแหลมตะลุมพุก เมื่อกว่าห้าสิบปีก่อนแล้ว ประเทศไทย ยังได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่มีความเร็ว 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถล่มจังหวัดชุมพร ในปี 2532 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าสี่ร้อยคน
“พายุปาบึก มีความเร็วลม 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นพายุโซนร้อน ขณะนี้ ประชิดชายฝั่งแล้ว ไม่น่าจะพัฒนาตัวได้รุนแรงมากกว่านี้ สำหรับ พายุเกย์เป็นระดับใต้ฝุ่น เมื่อเทียบกับอันนี้ประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเรื่องการรับมือ ผมมองว่า มีความสำคัญ โดยเฉพาะการแจ้งเตือน” ผศ.ดร.ชินวัชร์ กล่าวเพิ่มเติม
เหล่าทัพส่งเรือ-อากาศยาน พร้อมช่วยเหลือ
ในวันพฤหัสบดีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะทำงานของรัฐบาลประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ 16 จังหวัด เพื่อรับทราบสถานการณ์ และเตรียมการรับมือพายุโซนร้อนปาบึก โดยสั่งการให้หลายพื้นที่อพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว
“สิ่งสำคัญคือทุกคนจะต้องปลอดภัยเป็นอันดับแรก ชีวิต ทรัพย์สิน ก็ดูแลให้ได้มากที่สุด เป็นห่วงในเรื่องของเกษตรกร ประมง เรื่องของสัตว์ต่างๆ ประชาชนที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายออกมาในพื้นที่ที่ปลอดภัยต้องดูแลให้มากที่สุด อาหารการกินการดูแลเรื่องสาธารณสุขอะไรต่างๆ ผนังเขื่อนต้องดูแล” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้านกองทัพเรือได้ส่งเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงอ่างทอง และอื่นๆ เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือกู้ภัย และช่วยเหลือทางการแพทย์ ขณะที่กองทัพอากาศ และกองทัพบก ได้ส่งกำลังพลและอุปกรณ์ต่าง เข้าสู่พื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือเช่นกัน
ขณะเดียวกัน แฟนเพจไทยคู่ฟ้า ของรัฐบาล ระบุว่า รัฐบาลได้เตรียมพร้อมรับมือกับพายุปาบึกแล้ว โดยแจ้งเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่และทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่ทำประมง ท่องเที่ยว และเดินทางไปมาแถบฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงให้เตรียมพร้อม ในการเตือนภัย แจ้งข่าว ป้องกันภัย และการช่วยเหลือเมื่อเกิดภัย เตรียมพร้อมกำลังพล เรือกู้ภัย เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งพร่องน้ำในลำน้ำ เขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำจากฝนที่ตกลงมา และขุดลอกคลองกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และได้มีการเตรียมสำรองยาชุดน้ำท่วม 50,000 ชุด ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า หน้ากากอนามัย เสื้อชูชีพ อย่างพร้อมเพรียง แฟนเพจไทยคู่ฟ้า ระบุ
ทั้งนี้ พายุโซนร้อนปาบึก เป็นหนึ่งในชื่อที่สมาชิกของคณะกรรมการพายุไต้ฝุ่นขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organizations Typhoon Committee) ได้กำหนดไว้ ซึ่งเสนอโดย สปป.ลาว เป็นชื่อของพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ พายุปาบึกได้ก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 61 ในลักษณะของหย่อมความกดอากาศต่ำ ก่อนที่จะก่อตัวมีระดับความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ กลายเป็นพายุโซนร้อนในช่วงเช้าของวันที่ 1 ม.ค. 62