ครอบครัวของหนึ่งในห้านักศึกษา ที่ถูกจับอาวุธในปากีสถาน ตกใจต่อข่าวการถูกจับตัวของสมาชิกในครอบครัว
2015.06.11
กระทรวงต่างประเทศโดย นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยได้รับรายงานว่า นักศึกษาไทยห้าคน ถูกควบคุมตัว โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสนามบิน ในเมืองละฮอร์ ประเทศปากีสถาน ในข้อหาพกอาวุธปืน พร้อมเครื่องกระสุนในท่าอากาศยาน ภายหลังจากที่ถูกตรวจค้นโดยเครื่องเอ็กซเรย์ ขนาด 9 มม. พร้อมแถบบรรจุกระสุน ซึ่งได้แยกกระสุนปืนซุกซ่อนไว้ โดยทางเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานได้พบว่ามีการพกพาอาวุธ เตรียมจะขึ้นเครื่องของการบินไทยเที่ยวบินที่ ทีจี 346 เส้นทางละฮอร์-กรุงเทพฯ เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย ในเย็นวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา กำหนดเวลาเดินทาง 23.40 น.ตามเวลาท้องถิ่น
ครอบครัวของหนึ่งในห้านักศึกษา ที่อาศัยในจังหวัดปัตตานีกล่าวว่า ทางครอบครัวตกใจมาก และยังไม่ปักใจเชื่อว่าสมาชิกของครอบครัว จะเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมในทางรุนแรง
นางต่วนฮาบียะ ลอจิ อายุ 30 ปี พี่สาวร่วมบิดาของนายต่วนอับดุลรอซะ ลอจิ หนึ่งในนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัว กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองตกใจมาก ไม่คิดเลยว่าจะเกิดเรื่องนี้กับน้องชาย แต่ยังไม่ปักใจเชื่อว่าเหตุที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องจริง และไม่เชื่อว่าน้องชายจะเอาปืนมา เพื่อก่อเหตุที่ไม่สมควร
นางต่วนฮาบียะ กล่าวว่า ก่อนน้องชายของตนขึ้นเครื่องบิน ตนได้พูดคุยกับน้องชายทางโทรศัพท์เพื่อนัดแนะให้ไปเจอกันที่จังหวัดสงขลา
“ประมาณ 4 ทุ่ม วันที่แปดที่ผ่านมา น้องชายโทรกลับมาหา ได้คุยกันเหมือนปกติ น้องชายได้เล่าว่า อุซตาสจากปากีสถาน ฝากกล่องหนังแกะ ให้กับอุซตาสที่ไทยด้วย และน้องชายได้บอกว่า จะขึ้นเครื่องกลับบ้านแล้ว ให้ไปรับด้วยที่ ขนส่ง จ. สงขลา ด้วย แต่เมื่อถึงวันที่ 9 มิ.ย. น้องชายก็ไม่โทรมาหา จนกระทั่ง วันที่ 10 มิ.ย. เมื่อวาน มีเจ้าหน้าที่มาที่บ้าน บอกว่าน้องชายถูกควบคุมตัวที่สนามบินปากีสถาน จากนั้นตนถึงกับช็อคไปเลย” นางต่วนฮาบียะกล่าว
ด้านนางมารีแย มูซอ อายุ 51 ปี มารดาของนายต่วนอับดุลรอซะ ลอจิ กล่าวว่า “ถ้าเป็นไปได้อยากคุยกับลูกชายบอกให้เขาพูดตรงๆ ของที่รับมา จะไปให้ใคร รับจากใคร มั่นใจลูกชายถูกใส่ร้าย อยากขอความเป็นธรรมให้เขาด้วย เขาไม่ผิด ช่วยเขาด้วย อย่าให้เขากลายเป็นแพะรับบาป”สำหรับนักศึกษาไทยทั้งห้าคน ประกอบด้วย 1. นายอภิสิทธิ์ หมัดอัด จ.สงขลา 2. นายเตชิต บุญมาเลิศ จ.ฉะเชิงเทรา 3. นายต่วนอับดุลรอซะ ลอจิ จ.ปัตตานี 4. นายฟารุค สูทอก จ.กระบี่ และ 5. นายศักดิ์กริยา สองหลง จ.ตรัง
กระทรวงการต่างประเทศพร้อมให้ความช่วยเหลือ
โดยกระทรวงการต่างประเทศไทย ได้มีความพยายามประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ปากีสถาน เพื่อขอเข้าเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มดังกล่าวอย่างเป็นธรรม และดำเนินการตามกระบวนการของทางการปากีสถาน ตามกฎหมายและระเบียบของปากีสถาน แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากเจ้าหน้าที่ปากีสถานว่าจะให้เข้าเยี่ยมเมื่อใด
“ทางสถานทูตไทย ณ กรุงอิสลามมาบัด จะพยายามเข้าไปพบกับนักศึกษากลุ่มนี้ให้ได้ เพื่อสอบถามพูดคุยถึงสาเหตุและรายละเอียด ทั้งนี้ จะให้ความเป็นธรรมกับนักศึกษากลุ่มนี้” นายเสข กล่าว
ความเชื่อมโยงกับความรุนแรง
อดีตนักศึกษาไทย จากโรงเรียนอาบูบากา ปากีสถาน กล่าวว่า เขาไปเรียนปากีสถานเพราะได้ทุนเด็กกำพร้า จากประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยมีอุซตาสจากโรงเรียนอาบูบากา เป็นผู้จัดการเรื่องทุนให้ ต่อมา อุซตาสถูกจับ หลังจากเจ้าหน้าที่ปากีสถานพบความเกี่ยวข้องทุนการก่อการร้าย ทำให้นักศึกษาไทยที่ไปเรียน ทั้งได้ทุนและไม่ได้ทุน ต่างหวาดกลัว และพากันเดินทางกลับบ้าน แม้ว่าต่อมาเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวอุซตาสท่านนั้น นักเรียนทุนบางคน ก็ไม่ไปเรียนต่อเพราะมีความกลัว
“เด็กไทยเราไปเรียนที่โน่นเยอะ ส่วนใหญ่จะไปเรียนโรงเรียนนอกระบบ ถ้าเทียบกับบ้านเราก็เหมือนไปเรียนโรงเรียนปอเนาะ เพราะเข้าเรียนง่าย ไปโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว ก็สามารถสมัครเรียนได้ หลังจากนั้น ก็รอรัฐบาลปากีสถานเปิดสอบเทียบวุฒิการศึกษา ถ้าใครสอบผ่านก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย ในบ้านเราที่ไทยบางหน่วยงานก็ใช้ได้ เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะไปใช้กับประเทศ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย บางคนก็ไปทำธุรกิจก็มีกันเยอะ” อดีตนักศึกษาไทยกล่าว
“นักศึกษาบ้านเราอยู่ที่โน่น มีอิสระมาก เจ้าหน้าที่ปากีสถานจะไม่เข้มงวดกับนักศึกษา บางคนถือปืนอาก้าไปโรงเรียน ยามเฝ้าโรงเรียน ต้องพกอาก้า บางครั้งคนแก่ๆ อายุ 60-70 ปี ถืออาก้าไปละหมาด พอจะละหมาด ก็วางปืนไว้ข้างๆ เพราะที่นั่น การเมืองมีความรุนแรง”
ที่ปากีสถานตอนนี้รัฐบาลมีแนวคิดจะปิดระบบมารอซะ ก็คือระบบปอเนาะที่มีการสอนศาสนาอย่างเดียว โรงเรียนปอเนาะ จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ระบบปอเนาะในปากีสถานถูกต่อต้านอย่างแรงตอนนี้ ซึ่งคล้ายกับในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งรัฐพยายามจะให้มีระบบสายสามัญอย่างเดียว พอเกิดเหตุลักษณะอย่างนี้ขึ้น ส่งผลต่อเด็กนักเรียนกลุ่มอื่นที่กำลังเรียนอยู่ ที่จะพลอยถูกเพ่งเล็งไปด้วย อดีตนักศึกษาไทยคนเดียวกันกล่าว
“ของผมจะเรียนสายศาสนาก็จริง แต่ที่ผ่านมาจะมีกิจกรรมเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐตลอด พวกเรามีสมาคมตั้งชัดเจน คือ สมาคมนักเรียนไทย-การาจี มีพี่ๆทางกงสุลประจำเมืองการาจี คอยแนะนำ”
“ส่วนกรณีที่เชื่อมโยงว่าสองในห้านักศึกษา น่าจะมาฝึกอาวุธเพื่อกลับมาใช้ก่อเหตุในพื้นที่ไทยนั้น ข่าวตรงนี้ ในปากีสถานเองก็ยังไม่ชัดมากนัก เป็นสิ่งที่ทุกคนคาดคิดไปเอง ว่ามาฝึกอาวุธ ทางผมเองก็ไม่มั่นใจ เพราะนักศึกษากลุ่มที่โดนจับ อาศัยอยู่ที่เมืองละฮอร์ ซึ่งเป็นเมืองที่ไม่ค่อยเจริญเท่าเมืองการาจีที่ผมศึกษาอยู่” อดีตนักศึกษากล่าว