สถาบันพระปกเกล้า: คนชายแดนใต้ยังสนับสนุนการพูดคุยสันติสุข

มารียัม อัฮหมัด
2017.09.25
นราธิวาส
170925-TH-deepsouth-1000.jpg ชาวไทยมุสลิมพากันโบกธงชาติระหว่างการชุมนุมต่อต้านความรุนแรง ในนราธิวาส จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 19 มีนาคม 2559
เอเอฟพี

ในวันอาทิตย์ (24 กันยายน 2560) นี้ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี และธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า จากการสำรวจพบว่า ประชาชนและผู้นำทางความคิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าครึ่ง จากกลุ่มตัวอย่างร่วม 2000 คน สนับสนุนให้มีการพูดคุยสันติสุข และสอดคล้องกับผลการสำรวจ 2 ครั้งก่อนหน้า

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PeaceSurvey) โดยสถาบันพระปกเกล้า และสถาบันในพื้นที่ภาคใต้ 15 สถาบัน ครั้งที่ 3 นี้ ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ว่า ผู้นำทางความคิด และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการพูดคุย ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจ 2 ครั้งก่อนหน้า

สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,608 คน ประกอบด้วยคนไทยพุทธ ไทยจีน มลายู และมุสลิม ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาในอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ตลอดจนผู้นำทางความคิดจำนวน 260 คน

“สำหรับผลการสำรวจในประเด็นที่สำคัญ 2 กลุ่มตัวอย่างคือ ประชาชนทั่วไป และผู้นำศาสนาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้นำทางความคิด ร้อยละ 72.7 และประชาชนร้อยละ 56.9 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด สนับสนุนให้ใช้การพูดคุยเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา อีกทั้งส่วนใหญ่เห็นว่า การพูดคุยจะทำให้บรรยากาศดีขึ้น และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่สนับสนุน และไม่แน่ใจในการใช้กระบวนการพูดคุย” พล.อ.เอกชัย กล่าว

“เป้าหมายของการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการทำงานร่วมกันในการเสริมสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนให้รัฐบาลผู้เกี่ยวข้อง และสังคมโดยรวมได้รับรู้ความต้องการของประชาชนที่แท้จริงเกี่ยวกับ กระบวนการสันติภาพและคาดหมายว่า ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชน” พล.อ.เอกชัยกล่าว

พล.อ.เอกชัยระบุว่า ประชาชน 26.5 เปอร์เซนต์ และผู้นำทางความคิด 39.3 เชื่อมั่นว่า การพูดคุยสันติสุขจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ขณะที่ประชาชน 36.3 รู้สึกเฉยๆ และ 19.4 รู้สึกไม่เชื่อมั่น

ข้อเสนอของกลุ่มตัวอย่างต่อมาตรการที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรดำเนินการในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อเหตุกับเป้าหมายอ่อนแอ และแนะนำให้รัฐบาลส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้แก้ปัญหายาเสพติด และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม

ประชาชนกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่า ผู้นำทางศาสนา และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คือกลุ่มคนและหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาภาคใต้  และประชาชนให้คะแนนการทำงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 5.31/10 ขณะที่กลุ่มผู้นำทางความคิดให้ 5.7/10

โดยก่อนหน้านี้ สำรวจมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 1 เก็บข้อมูลระหว่าง วันที่ 8 กุมภาพันธ์ - 13 มีนาคม 2559 พบว่า ประชาชน 56.4 เปอร์เซนต์ สนับสนุนการพูดคุยสันติสุข แต่มีเพียง 20.6 เปอร์เซนต์ที่เชื่อว่า การพูดคุยจะแก้ปัญหาความรุนแรงได้

ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม - วันที่ 22 สิงหาคม 2559 พบว่า ประชาชน 56.1 เปอร์เซนต์ และผู้นำทางความคิด 80.9 เปอร์เซนต์ สนับสนุนการพูดคุยสันติสุข ขณะที่ประชาชน 21.9 และผู้นำทางความคิด 30 เปอร์เซนต์ เชื่อมั่นว่า การพูดคุยจะแก้ปัญหาความรุนแรงได้

ต่อผลการสำรวจครั้งนี้ นายเจะมูดอ ดอเลาะ ชาวปัตตานี เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ถึงความต้องการต่อการจัดการปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ในฐานะคนในพื้นที่ว่า ต้องการให้แก้ไขปัญหาปากท้อง การศึกษา และยาเสพติดมากกว่าจะสนใจการสนับสนุนการพูดคุยสันติสุข

“ชาวบ้านต้องการมากที่สุดคือ แก้เรื่องปัญหาปากท้อง การศึกษา และยาเสพติด การเจรจาหรือการพูดคุย ที่รัฐกำลังทำอยู่ก็ถือว่า เป็นแนวทางที่ดี แต่ไม่ใช่ความต้องการสูงสุดแค่ว่า ทำได้ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” นายเจะมูดอกล่าว

ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอด 13 ปี สถิติจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2560 โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีเหตุการณ์รุนแรง 15,797 ครั้ง เป็นเหตุความมั่นคง 9,563 ครั้ง และทำให้มีผู้เสียชีวิต 7,361 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง