สุภิญญา ยุติบทบาท กสทช. ชั่วคราว หลังศาลตัดสินมีความผิดคดีปีนกำแพงสภาฯ ปี 2550

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.03.15
กรุงเทพฯ
TH-supinya-1000 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ (คนกลาง) รับดอกไม้จากผู้มาให้กำลังใจ ที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 เมื่อถูกเครือชินคอร์ป กิจการของครอบครัวทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ฟ้องคดีหมิ่นประมาท
เอเอฟพี

ในวันพุธ (15 มีนาคม 2560) นี้ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ประกาศยุติบทบาทกรรมการ กสทช.ชั่วคราว หลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินว่า การที่ น.ส.สุภิญญา นายจอน อึ๊งภากรณ์ และนักกิจกรรมรวม 10 คน ร่วมกันปีนกำแพงรัฐสภาเพื่อขัดขวางการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี 2550 เป็นความผิด และให้รอการกำหนดโทษเป็นเวลา 2 ปี โดยระบุว่า จะกลับมาทำหน้าทีอีกครั้งหาก กสทช. ตีความกฎหมายว่า คำพิพากษาดังกล่าวไม่ขัดต่อการทำหน้าที่

“จากคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีชุมนุมปีนสภาค้าน สนช.วันนี้ แม้ศาลท่านจะไม่ได้กำหนดโทษจำคุก แต่ก็พิพากษาว่าดิฉันกระทำความผิด จึงมีประเด็นทางกฎหมายต่อการดำรงตำแหน่ง กสทช. วันนี้ ดิฉันจะทำบันทึกแจ้งเลขาธิการ กสทช.ถึงคำพิพากษาให้ สนง.ตีความ กม. โดยตั้งแต่วันนี้ดิฉันจะยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน” น.ส.สุภิญญาระบุผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว

ทั้งนี้ การรอกำหนดโทษมีลักษณะเดียวกับการภาคทัณฑ์ ถ้าหากจำเลยทำผิดอีกครั้งในห้วงเวลา 2 ปี ศาลจึงจะค่อยกำหนดโทษ

“ถ้าการตีความออกมาว่าไม่ขัดคุณสมบัติ ก็ค่อยกลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อ แต่ถ้าขัดก็ถือว่าสิ้นสภาพการเป็น กสทช.ตามกฎหมายตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปค่ะ ส่วนตัวตีความเองว่าขัด พรบ.กสทช. เพราะศาลฎีกาพิพากษาว่า ดิฉันทำความผิดฐานชุมนุมค้าน สนช. แม้ว่าจะยังไม่มีโทษจำคุก จึงตัดสินใจขอยุติการทำหน้าที่” ตอนหนึ่งของข้อความบนเฟซบุ๊คของ น.ส.สุภิญญา ระบุ

น.ส.สุภิญญาระบุว่า ตนเองมีความเคารพต่อคำตัดสินของศาล แม้เชื่อว่าการกระทำเมื่อปี 2550 เป็นเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติก็ตาม ดังนั้นตนเอง และคณะทำงานจะยุติการทำหน้าที่ โดยไม่ขอรับเงินเดือนนับตั้งแต่วันพุธนี้เป็นต้นไป และจะได้เก็บของใช้ส่วนตัวออกจากสำนักงาน รวมทั้งส่งอุปกรณ์ที่เป็นของสำนักงานคืนด้วย

ในช่วงเช้าวันพุธนี้ ศาลอาญา รัชดาภิเษกได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.4383/2553 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1092/2556 ซึ่งเป็นคดีความระหว่าง พนักงานอัยการโจทก์ กับจำเลย 10 คน ที่ประกอบด้วย 1. นายจอน อึ๊งภากรณ์ 2. นายสาวิทย์ แก้วหวาน 3. นายศิริชัย ไม้งาม 4. พิชิต ไชยมงคล 5. อนิรุทธ์ ขาวสนิท 6. นายนัสเซอร์ ยีหมะ 7. นายอำนาจ พละมี 8. นายไพโรจน์ พลเพชร 9. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง และ 10. น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์

ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยวาจา อันมิใช่กระทำในความหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นโดยปกติเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 116, 215, 362, 364, 365

ซึ่งศาลฎีกาพิพากษา กลับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ที่ได้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด เพราะศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทั้ง 10 มีความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี เนื่องจากจำเลยมีความรู้ความสามารถ มีหน้าที่การงานที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และการกระทำดังกล่าวทำไปเพราะมีเจตนาที่ดี อีกทั้งจำเลยมีอายุมากแล้ว

สำหรับความผิดของนักกิจกรรมทั้ง 10 คน เป็นการกระทำที่เกิดในวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ซึ่งจำเลยได้ร่วมกันปีนกำแพงรัฐสภาเพื่อคัดค้านการออกกฎหมาย 11 ฉบับของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยเหตุผลที่เชื่อว่า กฎหมายหลายฉบับเป็นการละเมิดสิทธิประชาชน โดยก่อนการปีนกำแพงได้มีการชุมนุมล้อมรัฐสภาร่วมกับประชาชนประมาณ 1 พันคน เพื่อไม่ให้สมาชิก สนช.สามารถเข้าไปประชุมได้ แต่สมาชิก สนช.ได้ใช้ประตูหลังของรัฐสภาเดินทางเข้าไปและเปิดประชุมสำเร็จ นักเคลื่อนไหวกลุ่มดังกล่าวจึงได้ปีนกำแพงเข้าไปถึงหน้าห้องประชุม จนส่งผลให้มีการยุติการประชุมในเวลาต่อมา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง