ปรับปรุงข้อมูล12:28 a.m. ET on 2016-12-18
คณะผู้แทนของทางการไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวนกลับสู่โต๊ะเจรจาสันติภาพในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอในการสร้างเขตปลอดภัย ซึ่งหนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกล่าวว่า หน่วยกองกำลังปฏิบัติการในพื้นที่จะไม่ทำตามข้อตกลง
การพูดคุยชุดเล็กทางเทคนิค ครั้งล่าสุดของกระบวนการพูดคุยสันติสุข มุ่งหวังเพื่อให้หยุดความรุนแรงของความขัดแย้งที่มีมายาวนานกว่าสิบปี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะจัดให้มีขึ้นใน เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 19-21 ธันวาคม ตามที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยกล่าว
เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลไทยกล่าวว่า การพูดคุยคาดว่าจะยังคงเป็นเรื่องของการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ภายใต้การกำหนดพื้นที่และจุดในหลายอำเภอที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งเป้าหมายคือยุติความรุนแรง และเร่งโครงการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน
สมาชิกของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ก่อตั้งมาครบรอบ 56 ปี มีกองกำลังมากและเข้มแข็งที่สุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เพิกเฉยต่อข้อตกลงที่ฝ่ายทางการไทย และกลุ่มมารา ปาตานีได้ริเริ่มความพยายามในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง
"รัฐบาลไทย ต้องการที่จะแยกเราจากชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ โดยใช้กระบวนการนี้" แหล่งข่าวบีอาร์เอ็นที่ไม่ต้องการเปิดเผยนาม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
นอกจากนี้ แหล่งข่าวบีอาร์เอ็นคนดังกล่าว ยังกล่าวอีกว่า หน่วยปฏิบัติการของขบวนการบีอาร์เอ็น จะไม่ยุติความรุนแรงในพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็น “เขตปลอดภัย” เพื่อหวังทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการเจรจาสันติสุข โที่มีกลุ่มมารา ปาตานี เป็นผู้แทนกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน
' บีอาร์เอ็นตัวจริง '
คณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้มีการพบปะพูดคุยอย่างน้อยห้าครั้งแล้ว กับกลุ่มมารา ปาตานี กลุ่มองค์กรร่มของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ตั้งแต่ปีที่แล้ว และจะจัดให้มีการประชุมพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่คร่าชีวิตประชาชนแล้วอย่างน้อย 6,700 ราย นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
ซึ่งฝ่ายรัฐบาลไทย ในฐานะคณะผู้แทนการพูดคุย ยังไม่มีการกล่าวถึงการพูดคุยที่กำลังจะมีขึ้นครั้งนี้
"กลุ่มมารา ปาตานี ไม่ได้มีอิทธิพลใด ๆ ต่อหน่วยกองกำลังปฏิบัติการในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยจะยังคงดำเนินการในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างไม่เป็นทางการ ร่วมกันกับกลุ่มมารา ปาตานี ด้วยความหวังว่ากระบวนการพูดคุยนี้ จะสามารถดึงบีอาร์เอ็นตัวจริงออกมาพูดคุยบนโต๊ะเจรจา" เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านนโยบายของไทย ในกรุงเทพฯ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
"เราเชื่อว่าชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ ในที่สุดก็จะต่อต้านกลุ่มบีอาร์เอ็น เพราะพวกเขาเหนื่อยหน่ายต่อการใช้ความรุนแรง และเห็นว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนกำลังทำสิ่งที่ขัดต่อความสงบสุข" เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว
"เท่าที่คนทั่วโลกตระหนัก คือรัฐบาลไทยเป็นฝ่ายที่ต้องการจะพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่บีอาร์เอ็นไม่ต้องการ"
' สายสัมพันธ์ '
ในคำแถลงการณ์ของ มารา ปาตานี ที่เบนาร์นิวส์ได้รับเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มารา ปาตานี ได้ย้ำถึง "ความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งปาตานี ผ่านกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับประเทศไทย"
โดยมีการออกคำแถลงการณ์ ในระหว่าง "การประชุม" สองวัน ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน จากประเทศไทยและต่างประเทศ" เพื่อทบทวนแนวทางการขับเคลื่อนของ มารา ปาตานี และเพื่อกำหนดทิศทางการเมืองขององค์กรในอนาคต" ซึ่งไม่มีข้อมูลอื่นเพิ่มเติมอีกในแถลงการณ์
องค์กรมาราปาตานี มีสมาชิกประกอบด้วย กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (National Revolutionary Front – BRN) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปาตานี (Patani Islamic Liberation Front – BIPP) กลุ่มย่อยในขบวนการพูโล (Patani United Liberation Organization – PULO) สองกลุ่ม และ กลุ่มมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (Islamic Mujahideen Movement of Patani – GMIP)
นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกของมาราปาตานี ให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์เมื่อเดือนที่แล้วว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นมี "อิทธิพล" และมีสมาชิกของขบวนการบีอาร์เอ็นถึง 6 ราย อยู่ในคณะกรรมการควบคุมนโยบายขององค์กร
“ในมาราปาตานี มีสมาชิกบีอาร์เอ็น... แต่มีสมาชิกบีอาร์เอ็นที่ไม่ต้องการเจรจากับทหาร สำหรับเรา จริงๆ แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของบีอาร์เอ็นที่เขาต้องแก้ไข”
“มีบางบุคคลในมาราปาตานีที่มีสายสัมพันธ์กับสมาชิกบีอาร์เอ็นแท้ๆ (สภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น) พวกเขามีการติดต่อกันโดยความสัมพันธ์นี้ หากว่าเราเข้าใจลักษณะของการปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ยกตัวอย่าง ในปี 1991 บีอาร์เอ็นได้เจรจาโดยตรงกับทหารกองทัพภาคที่สี่ แต่การเจรจาครั้งนั้น เป็นการเจรจาของปีกทหารของบีอาร์เอ็น ไม่ใช่กับสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น”
'อาชญากรรม ที่ ชั่วร้าย '
หนึ่งในสมาชิกหน่วยปฏิบัติการรบในพื้นที่ของบีอาร์เอ็น บอกกับเบนาร์นิวส์ว่า ในหน่วยของเขา เขาไม่ได้รับคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติการ
"คำสั่งที่เราได้รับในช่วงหลัง คือให้ระมัดระวังอย่างมาก ที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อพลเรือน” สมาชิกบีอาร์เอ็นหน่วยรบในพื้นที่บอก โดยกล่าวถึง การก่อความไม่สงบรุนแรง ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ในเหตุการณ์
สุนัย ผาสุก จากองค์กรฮิวแมนไรส์วอทช์ แสดงความเห็นอย่างรุนแรง
"กลุ่มบีอาร์เอ็น จะมีความน่าเชื่อถืออย่างจริงจังได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาไม่รักษาคำพูดของตัวเอง ที่ผ่านมา 12 ปี กลุ่มก่อความไม่สงบบีอาร์เอ็น ได้ละเมิดกฎการทำสงครามอย่างเห็นได้ชัด โดยจงใจจะก่อความรุนแรงต่อประชาชน และใช้กลยุทธวิธีที่ไม่มีการแยกแยะเป้าหมาย ระหว่างทหาร และพลเรือน การก่ออาชญากรรมอันเลวร้ายเช่นนี้ ต้องยุติทันที" สุนัย กล่าว
อูเซ็ง ดอเลาะ ชาวบ้านในจังหวัดปัตตานี บอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า เขาต้องการมากกว่า พื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตปลอดภัย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"เราไม่ต้องการแค่เขตปลอดภัยในบางพื้นที่ แต่ต้องการให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งหมด" อูเซ็งกล่าว
"ไม่เชื่อว่า มารา ปาตานี มีอำนาจที่แท้จริง มารา ปาตานีเป็นกลุ่มของชายสูงอายุทั้งหลาย ที่ใช้กลุ่มองค์กรร่มในการเจรจาต่อรอง เพื่อที่จะหาโอกาสกลับบ้าน" ซึ่งหมายถึง สมาชิกมารา ปาตานี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกประเทศ เนี่องจากกลับเข้าประเทศไทยไม่ได้
“กลุ่มหลักของบีอาร์เอ็น ไม่ยอมรับ มารา ปาตานี” อูเซ็งทิ้งท้าย
ราซลาน ราชิด จากกัวลาลัมเปอร์ มีส่วนร่วมในการรายงานฉบับนี้
รายงานก่อนหน้า ให้ข้อมูลไม่ถูกต้องว่า ยะโฮร์บาห์รู เป็นสถานที่จัดให้มีการพูดคุยสันติสุข ในช่วง 19-21 ธันวาคมนี้