วัดป่าหลวงตามหาบัวเตรียมฟ้องกลับกรมอุทยานฯ

สมชาย ขวัญกิจเศวต และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.06.10
กาญจนบุรี
TH-abbot-tiger-620 หลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัดเสือ ออกมาปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนในช่วงสั้นๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มิ.ย. 2559 นี้
เบนาร์นิวส์

ทีมทนายความของวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หรือวัดเสือ กล่าวว่า ทางวัดกำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อที่จะฟ้องร้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในข้อหาการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในกรณีที่นำกำลังเข้าตรวจค้นและยึดเอาเสือที่วัดเลี้ยงเอาไว้ออกไป

นายสายหยุด เพ็งบุญชู ทนายความของวัดป่าหลวงตามหาบัวฯ เปิดเผยในวันศุกร์(10 มิ.ย. 2559) นี้ ว่า ทีมทนายความกำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อยื่นฟ้องกรมอุทยานฯ โดยอาจจะฟ้องการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การยักยอกทรัพย์ หมิ่นประมาท และประเด็นอื่นๆ

“ละเมิดใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก็อาจจะฟ้องศาลปกครอง หรือว่าฟ้องศาลอาญา เรื่องปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 ก็ได้แล้วแต่ว่าทีมทนายจะพิจารณาฟ้องศาลไหน เงินทองเราก็ไม่มีจะไปจ้าง เพราะเราก็ไม่มีรายได้แล้ว พนักงานก็ตกงานแล้ว แต่เราก็ต้องสู้” นายสายหยุดกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

“โดยหลักที่ศาลออกหมายค้นก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าภายในบริเวณนี้มีของผิดกฎหมาย... ท่านมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนพันธุ์สัตว์ป่า ศาลก็อนุญาตออกหมายค้น แต่ไม่ใช่ว่ามาค้นเสือ ซึ่งตัวเองฝากไว้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องมาค้นเพราะฝากเรามันอยู่ อยู่แล้ว” ทนายความของวัดเสือ กล่าวเพิ่มเติม

และเมื่อวันพฤหัสนี้ นายศิริ หวังบุญเกิด ตัวแทนหลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาส ได้จัดแถลงข่าวที่บริเวณประตูทางเข้าวัด เพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหา ที่ว่าทางวัดเสือและหลวงตาจันทร์ได้กระทำความผิด

“การเข้ามายึดเสือโดยพลการโดยไม่มีคำสั่งบังคับคดีจากศาลถือเป็นการปล้นและไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ที่นี่เป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวของกาญจนบุรี ได้รับความเสียหายต้องยุติการให้บริการด้านการท่องเที่ยว” นายศิริ กล่าว

กรมอุทยานตรวจสอบว่ามีการค้าเสือข้ามชาติหรือไม่

นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในประเด็นนี้ว่า วัดมีสิทธิที่จะฟ้อง แต่ยืนยันว่า การทำงานของรัฐเป็นการทำตามหน้าที่

“ก็ต้องตามใจเขา เราปฎิบัติตามหน้าที่ เขาเสียหาย เขาจะฟ้องเราก็ห้ามเขาไม่ได้ ปัจจุบัน เราก็มอบหลักฐานให้พนักงานสอบสวน... ที่เราต้องพิสูจน์ดีเอ็นเอ เราก็จะทำต่อไป พอได้ข้อมูลมา ถ้าหากว่ามันมีข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เราก็จะตั้งข้อหาเพิ่มเติม” นายอดิศรกล่าว

ในวันที่ 6 มิถุนายน นี้ นายอดิศร ได้กล่าวในการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนว่า ทางวัดเสือ อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ

“สำหรับหลักฐานที่พอบ่งชี้ได้ว่ามีขบวนการค้าเสือข้ามชาติ ก็คือ สำเนาเอกสารข้อตกลงระหว่างเจ้าอาวาสกับประเทศลาว ในการแลกเปลี่ยนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เสือ หากตรวจเสือ ซากเสือ แล้วผลดีเอ็นเอไม่ตรงกัน(กับต้นสายพันธุ์ที่วัด) จะเพิ่มน้ำหนักให้เชื่อว่ามีการค้าสัตว์ป่าขึ้นจริง” นายอดิศรกล่าว

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ เสืออยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่ราชบุรี ซึ่งเสือพวกนี้เป็นสัตว์ต่างถิ่น ตามหลักแล้ว ทางอุทยานฯ จะไม่ปล่อยเข้าป่า

ปัญหาเสือและซากเสือในวัดป่าหลวงตามหาบัวฯ

ในปี 2542 ได้เริ่มมีชาวบ้านนำลูกเสือที่นายพรานฆ่าแม่เสือตายมาฝากเลี้ยงไว้ที่วัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทางวัดเองได้มีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้น

จนกระทั่งในปี 2557 นายสัตวแพทย์ สมชัย วิเศษชัยมงคล อดีตนายสัตวแพทย์ผู้ดูแลเสือโคร่งของกลางที่กรมอุทยานฯ ฝากให้วัดป่าหลวงตาบัวฯ เลี้ยงดู ออกมาเปิดโปงว่า มีการขโมยเสือโคร่ง 3 ตัว ออกไปจากวัด ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

โดยมีผู้เสียหายคือ กรมอุทยานฯ ที่ตามกฎหมายเป็นเจ้าของเสือ และได้ฝากเสือไว้กับวัด ขณะเดียวกัน ทางวัดได้ฟ้องร้องกรมอุทยานฯ เช่นกัน เนื่องจากวัดต้องการเรียกร้องค่าเลี้ยงดูเสือ ที่กรมอุทยานฯได้ทำสัญญาเพื่อฝากเอาไว้กับวัด

ในวันที่ 1-2 มิถุนายน 2559 กรมอุทยานฯ ได้ใช้หมายค้นจากศาลกาญจนบุรี ตรวจค้นภายในวัด เนื่องจากเชื่อว่าวัดครอบครองของผิดกฎหมายอยู่ และนำมาสู่การยึดเสือทั้งหมดภายในวัดออกไป  ต่อมา กรมอุทยานได้แถลงข่าวว่า พบซากลูกเสือภายในวัด และตรวจพบวัตถุมงคลที่ทำมาจากชิ้นส่วนของเสือ ทำให้เกิดการขยายผลเชื่อมโยงวัดกับขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ

เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยิงยาสลบและขนย้ายเสือโคร่งออกจากวัดเสือ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ 30 พฤษภาคม 2559 [เอเอฟพี]

นักอนุรักษ์ห่วงสภาพความเป็นอยู่เสือ หลังออกจากวัด

ในวันเดียวกัน นายเอ็ดวิน วีค เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า สิ่งที่นักอนุรักษ์ในประเทศไทยกังวลเกี่ยวกับเสือที่กรมอุทยานได้นำออกมาจากวัดป่าหลวงตามหาบัวฯ ทั้งหมด 147 ตัว คือ เกรงว่าสภาพความเป็นอยู่ของเสือจะไม่ดีเท่าที่ควร

“ตอนนี้ เสือที่อยู่กับกรมอุทยานฯ อยู่ในกรง รู้สึกจะมีขนาด 8 คูณ 12 เมตรเท่านั้นเอง มันไม่ใหญ่ ถ้ามันเป็นชั่วคราว ไม่เป็นไรมันอยู่ได้ ถ้าจะให้เหมาะสมกับเสือโคร่ง ต้องมีพื้นที่ประมาณ 1,000-1,500 เมตร หรือ 1 ไร่ ต่อตัวถึงจะเหมาะสม” นายเอ็ดวินกล่าว

นอกจากนี้ นายเอ็ดวิน ยังเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่ากรมอุทยานฯ อาจจะขายเสือบางส่วนออกไป แต่เขาเชื่อว่า โดยปกติสวนสัตว์ทั่วไปมีเสืออยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีสวนสัตว์แห่งไหนรับซื้อเสือเหล่านี้ และเสือที่ยึดมาได้ส่วนใหญ่ค่อนข้างอ่อนแอ แนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการดูแล จึงควรจะให้อยู่กับกรมอุทยานฯ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง