กรมอุทยานฯ แจงเสือของกลางคดีวัดเสือ ตาย 86 ตัว
2019.09.16
กรุงเทพฯ
ในวันจันทร์นี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดแถลงข่าวชี้แจงว่า เสือโคร่ง 86 ตัว ที่ตายลงภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ในจังหวัดราชบุรี เป็นเพราะความบกพร่องทางพันธุกรรม โดยเสือโคร่งเหล่านี้ ถูกนำมาดูแลเป็นของกลางในคดีที่กรมอุทยานฯ ฟ้องร้องเอาผิดวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน(วัดเสือ) ในปี 2559 หลังพบว่า วัดมีการครอบครองซากเสือโคร่ง และซากบางส่วนถูกนำไปทำวัตถุมงคล
เสือโคร่ง 147 ตัวจาก วัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (วัดเสือ) ถูกกรมอุทยานฯ นำมาเลี้ยงเป็นของกลางในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 ปัจจุบัน การดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองซากสัตว์อยู่ในชั้นพิจารณา อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2562 มีข่าวว่า เสือโคร่งของกลาง 86 ตัว ได้ตายลง และอีกหลายตัวกำลังป่วย จึงกลายเป็นประเด็นที่สังคมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการดูแลเสือของกลาง ของกรมอุทยานฯ นำมาสู่การชี้แจงของกรมอุทยานฯในครั้งนี้
นายสุนทร ฉายวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า เสือโคร่งของกลางทั้งหมดค่อยๆทยอยตายจากอาการป่วย ไม่ใช่ตายพร้อมกันในครั้งเดียว โดยเบื้องต้น สาเหตุเกิดจากระบบทางเดินหายใจ
“เสือโคร่งตัวแรกที่ตาย เกิดจากอาการระบบทางเดินหายใจ หรืออัมพาตลิ้นกล่องเสียง ในเดือนพฤษภา ปี 59 แล้วหลังจากนั้น ก็เริ่มมาตายต่อเนื่องเป็นจำนวนเยอะๆ ช่วงกุมภาฯ ปี 60 ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ เขาประทับช้าง และเขาสนต่อมาหลังจากนั้นก็มีการตายอย่างต่อเนื่อง อาการที่พบส่วนใหญ่เป็นการหายใจลำบาก ชักเกร็งแล้วก็เสียชีวิตอย่างฉับพลัน” นายสุนทร กล่าว
ด้าน นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัญหาสุขภาพของเสือโคร่งของกลาง เกิดการจากการผสมในเครือญาติกันเอง ทำให้มีความบกพร่องของพันธุกรรม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ
“อันดับต้นนี่มีปัญหาพันธุกรรม โดยเฉพาะตัวสัตว์เองที่มาจากจำนวนต้นพันธุ์ที่น้อย มันส่งผลต่อสุขภาพ ร่างกายก็ไม่สมบูรณ์อ่อนแอ ก็จะเห็นว่า มันมีอัตราการสูญเสียตั้งแต่มีการขนย้ายมาอยู่แล้ว เป็นเรื่องของการเจอซาก หรือเจอลูกกรอก เพราะฉะนั้นเบื้องต้นเป็นเรื่องพันธุกรรม พอมันมีปัญหา มันด้อย ภูมิคุ้มกันก็จะมีปัญหาด้วย มันก็จะมีความเสียงที่จะติดโรคได้ง่าย ซึ่งถ้าเกิดเปรียบเทียบกับเสือที่มีอยู่เดิมในสถานีจะเห็นว่า เสือเหล่านี้ ไม่ได้มีปัญหาพันธุกรรมก็ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร” นายสัตวแพทย์ภัทรพล ระบุ
ทั้งนี้ นายสมชาย รูปสูง หัวหน้าชุดดูแลเสือ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เขาประทับช้าง จังหวัดราชบุรี หนึ่งในสถานที่ดูแลเสือโคร่งของกลาง กล่าวว่า เสือของกลางที่อยู่ในการดูแลมีสุขภาพไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีปัญหาเรื่องการหายใจ
“มันเหมือนกับจะหอบ แล้วก็เหมือนจะอ้วก หายใจจะดังเหมือนกับเสือขู่ ไกลๆ ยังได้ยิน ดูหน้าตาแล้วโทรมๆ มีน้ำมูก แล้วก็ดูเศร้าๆ ถ้าเราเดินมา มันแอบมอง ทำหูหรี่ๆ นั่นคือ มันปกติ แต่ถ้ามันเริ่มแอบ ไม่อยากให้เราเห็น เรียกก็ไม่ค่อยมา อันนี้แหละเริ่มต้องเฝ้าดูแล้ว” นายสมชาย กล่าว
โดย นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้สรุป จำนวนเสือโคร่งของกลางจากคดีวัดเสือว่า เดิมมีเสือโคร่ง 147 ตัว หลังการยึดได้ส่งไปดูแลที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จังหวัดราชบุรี 85 ตัว ตายแล้ว 54 ตัว เหลือ 31 ตัว และที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จังหวัดราชบุรีมี 62 ตัว ตาย 32 ตัว เหลือ 30 ตัว
ต่อสุขภาพของเสือที่เหลืออยู่ นายสัตวแพทย์เบญจรงค์ สังขรักษ์ กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เหลือเสือโคร่งของกลาง 61 ตัว มีอาการป่วย 44 ตัว และในนั้นอาการหนัก 5 ตัว ซึ่งจากการประเมินอาการก็พบว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะตายอีก
“เสือที่มีอาการหนัก เปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตอาจจะน้อย เพราะเขาเป็นสัตว์ป่า ในหมาในแมว เราให้น้ำเกลือได้ แต่สัตว์ป่า การที่จะเราจะใช้วิธีที่เข้มข้นอาจยาก… บริเวณกล่องเสียงมีอาการตีบตัน ทำให้การหายใจเข้าหรือออกของเสือนี่ยาก เวลาสัตว์ที่หายใจลำบากมันก็ตายอยู่แล้ว เราพบจากเสือที่ตายว่า มีเจอไข้หัดสุนัขอยู่ ซึ่งอาการของโรคนี้ปกติทำให้หมาแมวตายเฉียบพลัน มีอาการทางระบบประสาท การหายใจ มีอาการทางเดินอาหาร… มีวัคซีนป้องกัน แต่ไม่มียารักษาเฉพาะ” นายสัตวแพทย์เบญจรงค์ กล่าว
ปัญหาเสือและซากเสือในวัดป่าหลวงตามหาบัวฯ
ในปี 2542 ได้เริ่มมีชาวบ้านนำลูกเสือที่นายพรานฆ่าแม่เสือตายมาฝากเลี้ยงไว้ที่วัด และกรมอุทยานฯ ได้ฝากเสือโคร่งบางส่วน ซึ่งเป็นของกลางในคดีต่างๆ เอาไว้ด้วย ขณะที่ทางวัดเองก็ได้มีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้วัดกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชมสัตว์ กระทั่งปี 2557 นายสัตวแพทย์สมชัย วิเศษชัยมงคล อดีตนายสัตวแพทย์ซึ่งเคยดูแลเสือโคร่งในวัด ออกมาเปิดเผยว่า มีการขโมยเสือโคร่ง 3 ตัว ออกไปจากวัดดังกล่าว
การเปิดเผยดังกล่าวนำไปสู่การที่กรมอุทยานฯ เจ้าของเสือตามกฎหมายได้ฟ้องร้องเอาผิดวัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน วัดก็ได้ฟ้องร้องกรมอุทยานฯ เช่นกัน เพราะต้องการเรียกร้องค่าเลี้ยงดูเสือ ที่กรมอุทยานฯได้ทำสัญญาเพื่อฝากเอาไว้กับวัด
ในวันที่ 1-2 มิถุนายน 2559 กรมอุทยานฯ ได้ใช้หมายค้นจากศาลจังหวัดกาญจนบุรี ตรวจค้นภายในวัด เพราะเชื่อว่าวัดครอบครองของผิดกฎหมายอยู่ และนำมาสู่การยึดเสือทั้งหมดภายในวัดออกไป ต่อมากรมอุทยานได้แถลงข่าวว่า พบซากลูกเสือภายในวัด และตรวจพบวัตถุมงคลที่ทำมาจากชิ้นส่วนของเสือ ทำให้เกิดการขยายผลเชื่อมโยงวัดกับขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ กรมอุทยานฯ ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายข้อหา ซึ่งคดีบางส่วนยังอยู่ในชั้นพิจารณา และชั้นอัยการให้หาหลักฐานเพิ่มเติม