ศาลจำคุกสองนายทหารคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา คนละ 27 ปี

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.10.18
กรุงเทพฯ
181018-TH-graves-1000.jpg เจ้าหน้าที่กู้ภัยและหน่วยนิติวิทยาศาสตร์ขุดโครงกระดูกจากหลุมฝังศพตื้นมากมายที่ปกคลุมด้วยไม้ไผ่ ที่บริเวณค่ายร้างในป่า อ.สะเดา จ.สงขลา วันที่ 2 พ.ค. 2558
เอเอฟพี

ในวันนี้ ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำพิพากษาให้จำคุก 27 ปี อดีตนายทหารในสังกัดกองทัพบกและกองทัพเรือ สองนาย ฐานค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา โดยเป็นคดีที่เชื่อมโยงกับคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ซึ่งมีการสังหารเหยื่อที่บริเวณเทือกเขาแก้ว พื้นที่ตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ในปี 2558 ที่มีอดีตพลโทมนัส คงแป้น เป็นจำเลยคนสำคัญ

ศาลฯ ได้ลงโทษจำคุก พันเอกณัฏฐ์สิทธิ์ หรือ นายณัฏฐ์สิทธิ์ มากสุวรรณ อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จ.สตูล และ นาวาเอก กัมปนาท สังข์ทองจีน อดีตทหารเรือ สังกัดกองทัพเรือภาคที่ 3 คนละ 27 ปี โดยไม่รอลงอาญาตามความผิดละเมิดพรบ.ค้ามนุษย์ มาตรา 6, 10, 13 ความผิดตาม พรบ.องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติมาตรา 5, 8 และพรบ.ตรวจคนเข้าเมือง

ในคดีนี้ อัยการพิเศษฝ่ายคดีค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคน ในความผิดฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและร่วมกันค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา กรณีที่จำเลยกับพวกสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แบ่งหน้าที่กันทำโดยให้พวกจำเลย ซึ่งอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา อายุระหว่าง 15 ปี และอายุเกิน18 ปี จากประเทศบังกลาเทศ และรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา โดยมีการบังคับ กักขังหน่วงเหนี่ยว ทารุณโหดร้าย เพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายเหล่านี้ ต้องไปใช้แรงงานทาสตามประเทศต่างๆ เหตุเกิดที่จังหวัดสตูล จังหวัดสงขลา และที่อื่นเกี่ยวพันกันในช่วงต้นเดือนมกราคม 2554 - พฤษภาคม 2558 และขอให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสอง

ทั้งนี้ จำเลยซึ่งได้รับการประกันตัวก่อนหน้านี้ให้การปฏิเสธ อ้างว่าตนได้กระทำตามหน้าที่ และไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด

“ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องจริง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน พิพากษาฐานมีส่วนร่วมในอาชญากรรมข้ามชาติ เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการจึงต้องระวางโทษเป็น 2 เท่า เฉพาะความผิดตาม พรบ.องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จำคุกคนละ 8 ปี ความผิดตาม พรบ.ค้ามนุษย์ ฐานร่วมกันค้ามนุษย์อายุเกิน 18 ปี จำคุกคนละ 12 ปี ฐานสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นเจ้าหน้าที่ค้ามนุษย์ จำคุกคนละ 6 ปี ความผิดตาม พรบ.ตรวจคนเข้าเมือง ฐานร่วมกันรับและให้ที่พักพิงแก่บุคคลต่างด้าวจำคุกคนละ 1 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้ คนละ 27 ปี ไม่รอลงอาญา และให้ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนแก่คนตายและคนเจ็บ ตาม ป.วิอาญามาตรา 44/1 ในจำนวนตามที่โจทก์ขอมาให้ครบทั้ง23 คน” คำพิพากษาระบุ

ทั้งนี้ ศาลอธิบายความเห็นไว้ในคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 คือ พันเอกณัฏฐ์สิทธิ์ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ SOP ที่เมื่อชาวโรฮิงญาหลบหนีขึ้นมาบนแผ่นดินหลังจับตัว จะต้องคุมตัวไปให้ตำรวจท้องที่ดำเนินคดี แต่จำเลยที่ 1 กลับนำรถจำนวน 5 คัน มารับตัวชาวโรฮิงญาที่อยู่ในการดูแลของตำรวจออกไปโดยไม่มีการลงบันทึก และไม่แจ้งว่านำตัวชาวโรฮิงญาไปควบคุมไว้ที่ใด ส่วนจำเลยที่ 2 พบว่ามีการเบิกเช็คเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นเงินที่นำมาให้กำลังพล เเละเป็นเงินที่ได้จากการประกอบธุรกิจอาหารทะเล แต่ไม่สามารถชี้แจงถึงเส้นทางการเงินได้

ทนายของนายณัฏฐ์สิทธิ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า คดีนี้เป็นคดีที่เชื่อมโยงกับคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่มีการพบค่ายกักกันชาวโรฮิงญาและหลุมศพ บนเทือกเขาแก้ว ในปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ติดต่อกับเขตแดนมาเลเซีย ที่มีพลโทมนัส คงแป้น ตกเป็นจำเลยคนสำคัญ

ในคดีนี้ ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศมานานรายหนึ่ง กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา การนำพามนุษย์ข้ามแดนไปยังมาเลเซีย ขบวนการคิดค่าหัวประมาณ 30,000 ถึง 60,000 บาท ส่วนราคาในปี 2560 พุ่งสูงถึง 150,000 บาท เมื่อญาติๆ ในมาเลเซียหรือที่บ้านเกิดไม่มีเงินจ่ายให้นายหน้า ก็จะมีการทำร้ายถึงชีวิต หรือหลายๆ คน ป่วยตายในระหว่างการเดินทาง

“ศาลวิเคราะห์คดีนั้นมาลงที่คดีนี้ คดี พล.ท.มนัส คงแป้น มีเรื่องเงินที่แกอธิบายไม่ได้ ตอนแรกผมคิดว่าเราไม่มีเรื่องเงิน เราทำตามคำสั่ง เราไม่น่าโดน” ทนายวุฒิชัย (ขอสงวนนามสกุล) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ทนายวุฒิชัย กล่าวอีกว่า หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น พันเอกณัฏฐ์สิทธิ์ ยืนยันความบริสุทธิ์ และจะขอต่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ โดยได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและเงินสด รวม 1.3 ล้านบาท ส่วน น.อ.กัมปนาท ยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและเงินสด มูลค่ารวม 2,779,025 บาท เพื่อขอประกันตัวระหว่างสู้คดีชั้นอุทธรณ์ โดยคาดว่าศาลอุทธรณ์จะใช้เวลาพิจารณาคำร้องประมาณ 3-5 วันทำการ ดังนั้นในวันนี้จำเลยทั้งสอง จึงต้องถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในระหว่างรอฟังคำสั่งการประกันตัว

“เรายืนยันว่าเราทำตามหน้าที่ ตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายมา มีนโยบายมารองรับการทำงาน มีผู้บังคับบัญชามายืนยันเบิกความว่าให้เราทำตามนั้นจริงๆ เพราะคนตั้งห้าสิบคน กอ.รมน. ไม่มีที่ทาง ไม่มีค่ายรองรับ จะเอาไปไว้ที่ไหน ก็รับกันในนาม ให้ตำรวจน้ำคุม แต่คนก็หายไปแล้ว แต่ไม่มีใครรับ” นายวุฒิชัย กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง