การสืบสวนคดีค้ามนุษย์ที่อื้อฉาวของไทย ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว

โดย ภิมุข รักขนาม และอิมราน วิททาชี
2015.06.19
TH-trafficking-probe-620 ผู้อพยพทางเรือชาวโรฮิงญา บนเรือลอยคว้างในน่านน้ำไทย ทางตอนใต้ของเกาะหลีเป๊ะ ในทะเลอันดามัน ภาพถ่ายเมื่อ 14 พฤษภาคม 2558
เอเอฟพี

การสืบสวนคดีใหญ่ของขบวนการค้ามนุษย์ที่ดำเนินงานจากหลายจังหวัด ในภาคใต้ของไทย กำลังใกล้ยุติลงแล้ว ซึ่งคาดว่า จะประมาณเวลาเดียวกับที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกรายงานประจำปีเรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP)

หลายรายงานกล่าวว่า รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของปีนี้ มีกำหนดจะออกมาในเร็ววันนี้ เมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยถูกปรับลดอันดับไปเป็นขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุด ซึ่งวัดจากประสิทธิภาพของประเทศในการรักษามาตรฐานสิทธิมนุษยชน

เจ้าหน้าที่ของไทยหวังว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะเลื่อนอันดับของไทยขึ้นมาในปีนี้ เนื่องจากนับแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกวดขันด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี รายงาน TIP มักจะครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนของปีก่อนหน้า จนถึงวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป

เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่ของไทยได้ยืนยันความตั้งใจจริงของรัฐบาล ในการปราบปรามการลักลอบขนคนเข้าเมือง

“รัฐบาลกำลังแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการปราบปรามและจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ในพิธีเปิดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

“การค้ามนุษย์เป็นปัญหาที่เราไม่สามารถขจัดให้หมดสิ้นได้ภายในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ” สื่อออนไลน์ Rakyat Post อ้างอิงคำพูดของนายกรัฐมนตรีของไทยว่า “นี่เป็นปัญหาที่ซับซ้อน และสั่งสมมาเป็นเวลานาน”

ความพยายามจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์จะจำกัดอยู่แต่เฉพาะในประเทศไทยอย่างเดียวไม่ได้ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนกลุ่มน้อย ประจำสภาทนายความแห่งประเทศไทย บอกแก่เบนาร์นิวส์

“เราจำเป็นต้องขยายการสืบสวนไปยังต่างประเทศ เพื่อให้รู้ว่าใครใช้เรือในการขนคนเหล่านี้ [ผู้อพยพ] [และ] และรู้ความเชื่อมโยงกับพม่า บังกลาเทศ และมาเลเซีย ซึ่งส่งคนที่ถูกค้าเหล่านี้ไปยังประเทศปลายทาง” นายสุรพงษ์กล่าว โดยใช้ชื่อเดิมของเมียนมา

“นี่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ดังนั้น การสืบสวนจึงต้องครอบคลุมทุกประเทศที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น”

อาจจับกุมนายทหารเพิ่มเติม

ในประเทศไทย การพบร่างผู้อพยพที่ผิดกฎหมายจำนวน 32 ศพ ในป่าของตำบลเปดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ชายแดนไทยที่ติดกับมาเลเซีย ทำให้มีการออกหมายจับผู้ต้องสงสัยคดีค้ามนุษย์จำนวน 89 ราย

นายทหารยศพลโทคนหนึ่งของไทยเป็นบุคคลสำคัญที่สุดใน 56 คนที่ถูกควบคุมตัวไว้แล้ว ขณะที่ผู้ต้องสงสัยอีก 33 ราย ยังลอยนวลอยู่

อีกไม่นาน นายทหารบกอีกสามนาย โดยสองจากสามนายเป็นนายทหารยศพันเอก อาจถูกคุมตัวเช่นเดียวกับ พล.ท. มนัส คงแป้น ซึ่งเป็นนายทหารเพียงคนเดียวในขณะนี้ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในคดีนี้ ตามคำพูดของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนนายหนึ่ง

“มีรายงานว่ามีนายทหารยศสูงอีกที่กำลังเป็นที่ต้องการตัว โดยเป็นนายทหารยศพันเอกสองนาย และร้อยเอกหนึ่งนาย” พล... ปวีณ พงศ์สิรินทร์ บอกแก่ผู้สื่อข่าวที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อต้นสัปดาห์นี้

“จะมีการออกหมายจับเพิ่มอีก ตามแต่ความผิดของคนเหล่านั้น จะไม่มีการยกเว้นใครทั้งสิ้น”

เขาเสริมว่า ตำรวจหวังว่าจะสรุปสำนวนคดีให้เสร็จภายในวันที่ 24 มิถุนายนเป็นอย่างช้า

พล.ท. มนัส ซึ่งปฏิเสธข้อหาทั้ง 13 ข้อหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ถือว่าเป็นตัวการสำคัญในคดีนี้

กองทัพบกได้สั่งพักราชการ พล.ท. มนัส ขณะรอผลการสอบสวนคดีอาญาที่เขาถูกตั้งข้อหา พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย บอกแก่ผู้สื่อข่าวในกรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“ไม่สนใจว่าเขาจะเป็นนายทหารยศสูง” พล.อ. อุดมเดช กล่าวเสริม “เขาต้องผ่านกระบวนการตุลาการเช่นกัน”

เจ้าของรีสอร์ทมีเอี่ยวด้วย

หัวหน้าขบวนการอีกคนที่ถูกกล่าวหา และถูกคุมตัวไว้แล้วคือ นายปัจจุบัน อังโชติพันธ์ หรือ โกโต้ง อดีตนายกอบจ. สตูล เช่นเดียวกับจังหวัดสงขลา สตูลซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่ติดทะเล เป็นจุดขนถ่ายสำคัญในการขนถ่ายชาวมุสลิมโรฮิงญาจากเมียนมา และบังกลาเทศ เข้าไปยังมาเลเซีย

จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆนี้ ที่รัฐบาลไทยมีมาตรการปราบปรามอย่างเข้มงวด มีรายงานว่า เรือบรรทุกชาวต่างประเทศที่ผิดกฎหมายเหล่านี้จะไปจอดที่จุดต่าง ๆ ตามชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของไทย จากนั้น จึงขึ้นรถต่อไปยังจังหวัดสงขลา เพื่อพยายามข้ามชายแดนเข้าไปในมาเลเซีย

ทางการไทยกล่าวหาว่า นายปัจจุบัน ผู้มีอันจะกินคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของรีสอร์ทหลายแห่งบนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เป็นผู้บงการสำคัญ ในขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ที่ดำเนินการในจังหวัดสตูล นางทัศนีย์ สุวรรณรัตน์ ภรรยาของเขา เป็นหนึ่งใน 56 ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมตัวแล้ว

นับแต่ที่มีการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยได้ยึดทรัพย์สินจากผู้ต้องสงสัยคดีค้ามนุษย์แล้วกว่า 200 ล้านบาท (5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามรายงานจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งของไทย ซึ่งอ้างอิงคำพูดของ พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

รถเบนซ์จำนวนสามคัน และเรือประมงเจ็ดลำที่จดทะเบียนในชื่อของนายปัจจุบัน ได้หายไปนับแต่ที่เขาถูกจับกุมตัว หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายงาน

“เราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย รวมทั้งกองทัพ หน่วยงานพลเรือน กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และเราเชื่อว่าเรามีหลักฐานแน่นพอที่จะลงโทษผู้ต้องสงสัยทั้งหมดได้”

นายหน้าค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา

ขณะเดียวกัน ชายชาวโรฮิงญาคนหนึ่งชื่อ “ยัซซิน” กำลังเป็นที่ต้องการตัวของทางการมาเลเซีย และเชื่อว่าเป็นนายหน้าค้ามนุษย์จากทั้งทางฝั่งไทยและมาเลเซีย ตามรายงานข่าวจากประเทศมาเลเซีย

ผู้ค้ามนุษย์จะเข้าไปปะปนกับบรรดาชาวโรฮิงญาทั่วไปที่ถูกกักตัวไว้ ซึ่งทำให้ผู้ที่อาจเป็นพยานในคดีค้ามนุษย์รู้สึกกลัว นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนองค์กรหนึ่งของไทย กล่าว

“ตามคำพูดของผู้ให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาบางคน มีผู้ค้ามนุษย์ที่เป็นชาวโรฮิงญาบางคนเข้าไปปะปนกับบรรดาเหยื่อชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในบ้านพักเด็กและสตรีแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา จึงทำให้ผู้อพยพเหล่านั้นไม่กล้าที่จะบอกความจริงแก่เจ้าหน้าที่สืบสวน” นางชลิดากล่าว

“มีผู้กระทำผิดอีกมาก [ที่] เราไม่รู้ว่าเป็นใคร”

เมื่อวันพุธ กรมตำรวจประกาศให้การคุ้มครองบุคคลที่อาจให้การเป็นพยานจำนวน 236 ราย หลังจากที่บุคคลเหล่านี้ถูกขู่ฆ่าจากผู้ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการค้ามนุษย์ สำนักข่าว Anadolu รายงาน

องค์กรสิทธิมนุษยชน: ยังอีกไกล

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรทส์วอทช์ ของสหรัฐฯ กล่าวว่า นี่เป็นการแสดงถึง “ก้าวขั้นที่สำคัญสู่การรับผิดชอบต่อการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในประเทศไทย”

“แต่การกระทำเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนคำกล่าวอ้างถึง ‘ความคืบหน้า’ ของการปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยบางคนได้บอกแก่สหรัฐฯ และประชาคมนานาชาติ” ฟิล โรเบิร์ตสัน บอกแก่เบนาร์นิวส์

“เป็นที่เชื่อกันในวงกว้างว่า พล.ท. มนัส เป็นตัวการสำคัญของเครือข่ายค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา แต่เป็นไปได้ว่ายังมีผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในตำแหน่งสูงและต่ำกว่าเขา ยังไม่ได้ถูกจับกุมตัว" เขาเสริม

“อย่าลืมว่าบริเวณที่ไว้ทำการ ‘เรียกค่าไถ่ เพื่อปล่อยตัว’ ของค่ายกักกันเหล่านั้น อยู่ในเขตการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของทหารและตำรวจ ดังนั้น ค่ายเหล่านี้จะตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีทหารหรือตำรวจบางคนรู้เห็นเป็นใจด้วย”

นาซือเราะ และ อวยพร สถิตย์ปัญญาพันธุ์ มีส่วนร่วมในข้อมูลของรายงานชิ้นนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง