ไทยเริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เชื่อมเส้นทางสายไหมยุคใหม่

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2017.12.21
กรุงเทพฯ
171221-TH-train-620.jpg พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายหวัง เสี่ยวเทา รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกันตักหน้าดินเป็นการแสดงสัญลักษณ์การเริ่มต้นการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง วันที่ 21 ธันวาคม 2560
ภาพโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเฟสแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 179,000 ล้านบาท ในวันพฤหัสบดี (21 ธันวาคม 2560) นี้ พร้อมยืนยันว่าจะทำให้เสร็จจนถึงจังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมโยงกับโครงข่าย One Belt One Road ของจีน

“รัฐบาลมีนโยบายมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ให้มีความเชื่อมโยงกับการคมนาคมภายในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดโครงการฯ

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่ออีกว่า โครงการ ฯ นี้จะเชื่อมโยงกับโครงข่ายคมนาคมของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามนโยบาย One Belt, One Road ที่มีรากฐานมาจากเส้นทางสายไหมในอดีต ซึ่งมีความสำคัญในด้านภูมิศาสตร์โลก การติดต่อทางการค้า ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทาง อันจะนำไปสู่การยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศรายได้สูง เกิดการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง

นายกรัฐมนตรี และ นายหวัง เสี่ยวเทา รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกันตักหน้าดิน เป็นการแสดงสัญลักษณ์การเริ่มต้นการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีการ

ในวันนี้ ถือเป็นการตอกเสาเข็มเพื่อเริ่มต้นการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายประวัติศาสตร์ ในระยะที่ 1 กลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน วงเงินงบประมาณ 430 ล้านบาท ซึ่งกรมทางหลวงจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการ และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ.2565

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทยจีน กรุงเทพฯ - นครราชสีมา แบ่งเป็น 4 เฟส โดยระยะเฟสแรก จากกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร เฟสที่สองจากปากช่อง - คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กิโลเมตร เฟสที่สาม จากแก่งคอย - โคราช ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร และเฟสสุดท้าย กรุงเทพฯ - แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร ให้บริการใน 6 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี ปากช่อง นครราชสีมา ในระยะแรกจะมีรถไฟให้บริการจำนวน 6 ขบวน บรรจุผู้โดยสารได้ 600 คนต่อขบวน หรือ 5,300 คนต่อวัน วิ่งโดยใช้ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 17 นาที สำหรับอัตราค่าโดยสารเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 80 บาท +1.8 บาทต่อกิโลเมตร หรือ 535 บาทต่อคน ในเส้นทาง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา

สำหรับการก่อสร้างในระยะที่ 2-4 ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปีหน้า เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดโอกาสให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมการประมูลการก่อสร้าง โดยคาดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี พ.ศ.2566

นายกฯ ย้ำ ทำให้เสร็จถึง หนองคาย

การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพฯ - หนองคาย ว่าจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟ ลาว-จีน (เวียงจันทน์-บ่อเต็น) และโครงข่ายรถไฟของจีน (โมฮัน-คุนหมิง)ได้อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน

โครงการฯ ดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสร้าง “เส้นทางสายไหมยุคใหม่” ที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางรางของไทยเข้าสู่การค้ากับ 64 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 4,400 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และมีสัดส่วน GDP ร้อยละ 40 ของโลก ถือได้ว่าเป็นการเสริมสร้างโอกาสด้านการลงทุน การสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับจังหวัดนครราชสีมา โดยรัฐบาลหวังว่าจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยรวม

“เราจะไม่ทิ้งจังหวัดใด จังหวัดหนึ่ง ไว้ข้างหลัง” นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงาน

ช้าแต่ชัวร์

นับตั้งแต่ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2569 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 เป็นต้นมา ได้มีการนัดเจรจากันถึง 22 รอบ เพื่อหาข้อยุติในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย เรื่องรูปแบบ จากที่เคยถูกกำหนดให้เป็นรถไฟความเร็ว ปานกลาง ก่อนจะเป็นรถไฟความเร็วสูง ประเด็นของเส้นทาง จากที่เคยกำหนดให้เป็นกรุงเทพฯ - หนองคาย และแก่งคอย - มาบตาพุด ในวงเงินงบประมาณ 5.3 แสนล้านบาท ในปี 2557 มาสรุปที่ กรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ในงบการลงทุน 1.79 แสนล้านบาท ทำให้ต้องถกเถียงกันต่อในประเด็น การลงทุน และ แหล่งเงินทุน ซึ่งสรุปว่า ประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด 100% โดยใช้เงินกู้ในประเทศ ส่วนจีนจะเป็นผู้ออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง ผู้วางระบบเทคโนโลยีขบวนรถ รวมถึงระบบไฟ

ระยะเวลาเกือบ 3 ปี ที่่โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ไม่มีความคืบหน้า จนพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 เพื่อเร่งรัดให้การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยยกเว้นกฎหมายบางข้อ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายบางข้อ ว่าด้วยการจ้างวิศวกร-สถาปนิก จีนให้เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว

นักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจออกมาแสดงความกังวลว่า ถ้าประเทศไทยไม่รีบก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เพื่อเอาไปเชื่อมกับ One Belt One Road ของจีน ประเทศไทยจะเสียโอกาสในการเกาะกระแสเครือข่ายของจีน ประเทศไทยจะตกขบวน และเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่ประเทศควรจะได้รับ

โดยนายกรัฐมนตรีย้ำในพิธิเปิดวันนี้ว่า หลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม จัดทำแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ การปฏิรูปกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่เน้นการเจริญเติบโตจากเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผังเมือง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณสองข้างทางตามแนวเส้นทางการพัฒนาระบบราง และจัดตั้งสถาบันวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อดำเนินงานพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาบุคลากรทั้งระดับวิศวกรและช่างเทคนิคสำหรับรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง