สหพันธ์นักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ขอองค์กรต่างประเทศช่วยติดตามอุยกูร์

โดย นาซือเราะ
2015.07.10
TH-URGHURS-620 ชายตุรกีเดินขบวนในอังการา ประเทศตุรกี เพื่อติเตียนการกระทำของรัฐบาลจีน ต่อชนกลุ่มน้อย ชาวมุสลิมอุยกูร์ เมื่อ 4 กรกฎาคม 2558
เอเอฟพี

วันนี้ที่ 10 กรกฎาคม 2558 สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS (Persekutuan Mahasiswa Sempadan Selatan Thai) ได้ออกแถลงการณ์ กรณีการละเมิดหลักมนุษยธรรมสากล เรื่องรัฐบาลไทยส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวอุยกูร์ และเคารพในเจตจำนงของชาวอุยกูร์ ที่สำคัญรัฐบาลไทยจะต้องไม่ผลักดันหรือส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศ ตามหลักการ ห้ามผลักดันกลับ (non – refoulement)

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS แถลงการณ์ว่า เนื่องด้วยมีการรายงานว่าในวันที่ 9 ก.ค. 2558 ทางการไทยได้ส่งตัวชาวอุยกูร์ หรือชาวเติร์ก ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมซึ่งอยู่ทางตกวันตกเฉียงเหนือของจีน ในมณฑลซินเจียง จำนวน 97 คน ประกอบด้วย ชาย ผู้หญิง และเด็ก กลับไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง ชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ กับ รัฐบาลจีนเป็นอย่างไร มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ตลอดเวลา จนนำมาสู่การลี้ภัยทางการเมือง

ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของเยาวชนปาตานีที่ยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และหลักการมนุษยธรรม เป็นห่วงเป็นกังวลอย่างยิ่งว่า การกระทำของรัฐไทยในครั้งนี้จะนำมาสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงได้ในอนาคต ในการนี้ทาง PerMAS ขอเสนอแนวทางและเรียกร้องดังต่อไปนี้

รัฐบาลไทยจะต้องไม่ส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศตามหลักการ “non – refoulement” (หลักการสากลห้ามผลักดันกลับ) เพราะด้วยเหตุผลความหวาดกลัวการประหัตประหาร การคุกคามโดยรัฐบาลจีน และรัฐบาลไทยควร(ต้อง)ให้การคุ้มครองและดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิผู้ลี้ภัย เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวอุยกูร์ และเคารพในเจตจำนงของชาวอุยกูร์

ขอเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรเอกชนระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม และประชาชนเฝ้าติดตามการจัดการดำเนินการกรณีผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์อย่างใกล้ ชิด

ด้านนายมะยูโซ๊ะ  โซ๊ะและ อายุ 50 ปี ชาวบ้าน จ.ยะลา กล่าวว่า “กรณี ที่ไทยส่งชาวอุยกูร์กลับจีน มองว่า ไม่ต่าง จากเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นที่สามจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ตากใบ ที่ทำให้พี่น้องมุสลิมเสียชีวิต 84 คน และมีการสูญหายอีก มุสลิมทุกคนต่างมีความเจ็บปวด กับการกระทำที่รัฐไทยทำกับชาวอุยกูร์ครั้งนี้ ขอเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศช่วยติดตามเรื่องนี้อย่าให้มีการสูญเสียอีก แค่ทราบข่าวเรื่อง การส่งตัวอุยกูร์ครั้งนี้ ทุกคนต่างมีความเจ็บปวดต่อการกระทำ ยิ่งมีข่าวว่ามีชาวอุยกูร์เสียชีวิตด้วยระหว่างส่งตัวกลับจีน ยิ่งรู้สึกแย่ต่อรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก”

ด้านนางมารีเยาะ เจะมายอ อายุ 60 ปี ชาวบ้าน จ.ปัตตานี กล่าวว่า “ทราบข่าวว่ารัฐไทยส่งตัวพี่น้องชาวอุยกูร์กลับจีนจากลูกชาย เขาอ่านข่าวในโซเซียลมีเดีย รู้สึกสงสาร น้ำตาไหลออกมาเลย คิดในใจว่า คนที่ส่งไปเขามีความคิดยังไง ทั้งที่รู้ว่าส่งไป คนเหล่านั้นจะมีชะตากรรมยังไง แล้วเห็นว่ามีการเสียชีวิตระหว่างส่งตัวกลับจีนด้วย ถือว่า รัฐบาลไทยฆ่าเขาอย่างเลือดเย็น เจ็บปวดที่สุดที่ต้องมีรัฐบาลแบบนี้”

องค์กรสิทธิกังวลในความปลอดภัยของคนไทย หวั่นกระแสจากมุสลิมทั่วโลก

องค์กรฮิวแมนไรท์ซวอทช์ พูดเรื่องความกังวลต่อไทยและโลกมุสลิมว่า

“เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เห็นบ่อยนัก ที่ประเทศมุสลิมที่เป็นมิตรกับไทยอย่างตุรกี เกิดการชุมนุมประท้วงที่หน้ากงสุลกิตติมศักดิ์และหน้าสถานเอกอัครราชทูต เนื่องจากมีความโกรธเคือง ไม่พอใจที่ทางการไทยบังคับส่งกลับชาวอุยร์กูไปให้ประเทศจีน”

“นี่จึงเป็นเหมือนกับบันไดขั้นแรกที่ทางฮิวแมนไรท์ซวอทช์กังวลเกี่ยวกับ หนึ่ง ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนคนไทยในตุรกี นอกจากนั้น จะเป็นชะตากรรม ของพี่น้องคนไทยในประเทศมุสลิมอื่นๆ ว่าจะมีผลกระทบพลอยไปจาก การที่มีกระแสความโกรธ ความไม่พอใจต่อการกระทำของทางการไทยหรือไม่”

“หลังจากนั้น จะเป็นเรื่องในระยะยาวว่า นอกจากภาคประชาสังคม ประชาชนที่เป็นมุสลิมไม่พอใจต่อรัฐบาลไทยแล้ว กลุ่มองค์กรมุสลิมอย่าง OIC องค์กรประเทศมุสลิม จะมีท่าทีอย่างไร ในกรณีนี้ ก็ควรเป็นท่าทีที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นท่าทีที่อยู่ในสภาวะที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก” สุนัย ผาสุก นักวิจัยประจำประเทศไทย จากองค์กรฮิวแมนไรท์ซวอทช์กล่าว

เครือข่ายสภาสังคมมุสลิมขอรัฐมีเมตตาธรรมต่อ 'ผู้แสวงหาที่พักพิง'

ส่วน อารี อารีฟ ในนามสมาชิกเครือข่ายสภาสังคมมุสลิม (ปกติมีตำแหน่งอยู่ที่สำนักจุฬาราชมนตรี)  เรียกร้องรัฐบาลไทยไม่ให้ส่งตัวอุยกูร์ที่เหลือ ราวๆหกสิบคน กลับไปประเทศจีน

“ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการมีเมตตาธรรม ในการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ที่แสวงหาที่พักพิง”

“เราขอให้ทางรัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นต่อพี่น้องทุกๆท่านว่า จะไม่มีการส่ง 60 กว่าคนนี้กลับไปประเทศจีน อันเนื่องจากความกังวลต่อภัยประหัตประหารที่จะเกิดขึ้น รวมถึง การที่เขาถูกกลับไปในสภาพที่จะถูกริดรอนสิทธิในความเป็นมนุษย์ของเขาเอง” อารี กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง