ไทยเตรียมเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 ทหารจะวางมือหลังเลือกตั้ง?
2018.12.21
กรุงเทพฯ
เป็นเวลาเกือบห้าปี หลังการรัฐประหารปี 2557 ในที่สุด ประเทศไทยก็เริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พบปะกับพรรคการเมือง เมื่อต้นเดือนนี้ และมีความเห็นในเบื้องต้นว่า ควรให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 แต่อย่างไรก็ตาม นักการเมืองและประชนบางกลุ่มยังกังวลว่า จะมีการถ่ายอำนาจคืนให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือแม้แต่จะมีความวุ่นวายทางการเมืองดังในอดีตหรือไม่
เมื่อครั้งที่ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) รัฐประหารรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2534 ได้มีการตั้งพรรคสามัคคีธรรมขึ้นมา โดยรวบรวมนักการเมืองจากพรรคเดิมๆ ที่มีความใกล้ชิดกับทหารมาอยู่ในพรรคเดียวกัน จนชนะการเลือกตั้งในปีถัดมา และได้เชิญพลเอกสุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะรัฐประหาร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 47 วัน ก็ต้องลงจากอำนาจด้วยเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาทมิฬ 2535
ยี่สิบหกปีต่อมา มีเหตุการณ์คล้ายคลึงกันเมื่อฝ่ายสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ได้ตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา และประกาศอย่างชัดเจนว่า จะเสนอพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในขณะที่รัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติ ปี 2559 เปิดโอกาสให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และให้วุฒิสมาชิกที่ผ่านการกลั่นกรองของ คสช. 250 คน มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน
ขณะที่ นักวิเคราะห์ มองว่าโอกาสที่นายกรัฐมนตรี จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งนั้นมีสูงมาก หากรัฐบาลปัจจุบันต้องการ
“การเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น คล้ายว่าถูกวางเอาไว้เพื่อความได้เปรียบของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มตั้งแต่ต้น เป็นเกมที่พวกที่เข้ามายึดอำนาจ ไม่ต้องการคืนอำนาจกลับ แต่เนื่องจากอยู่ในประชาคมโลก จำเป็นต้องเล่นตามกติกาประชาธิปไตย” รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์
“ประชาชนจะได้อำนาจคืนหลังเลือกตั้งไหม คิดว่าที่เขาวางหมากเอาไว้แบบนี้ เป็นไปได้สูงว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ เขาไม่ต้องการจะเล่นเกมการเมืองตรงๆ เพราะมีความเสี่ยงสูง เขาเลยวางหมากทุกอย่าง เพื่อให้ได้ชัยชนะ” ดร.อนุสรณ์กล่าว
ด้านพลเอกประยุทธ์เอง แม้ไม่เคยกล่าวอย่างชัดเจนว่าจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หากแต่ยอมรับแล้วว่า ตัวเองเป็นนักการเมือง เพราะได้เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศแล้ว
“ผมมาวันนี้ถ้าเป็นนักการเมืองเต็มตัว ตอนนี้ ผมจะบอกว่าไม่ใช่ก็ไม่ได้ เพราะผมบริหารประเทศ ถ้าเป็นนักการเมืองจะดีใจ เพราะมีคนมารับเยอะ เรียกลุงตู่ ลุงตู่ รู้ไหมว่าผมเป็นทุกข์ แต่ผมยอมเป็นทุกข์ ยอมตายจากตรงนี้” พลเอกประยุทธ์ กล่าวแก่ชาวบึงกาฬ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561
“ถ้าผมกลับไป ผมก็นอนคิดว่าทำไมเขาต้องมาหวังที่เรา ทำไมเขาต้องให้เราทำงาน เพราะเขามีความหวังไง เราต้องทำความหวังให้เป็นความจริง” พลเอกประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
ทหารวางมือหรือจะสืบทอดอำนาจต่อไป?
หลังจากการพบปะกับนักการเมือง และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่ง คสช., คำสั่ง หัวหน้า คสช. และประกาศ คสช. 9 ฉบับ ปลดล็อคการทำกิจกรรมทางการเมืองในสี่วันถัดมา ทำให้ประชาชนสามารถชุมนุมทางการเมือง และมีการประชุมพรรคการเมืองหาเสียงได้ จากนั้น ได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่แล้ว
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย จะกวาดที่นั่งได้จำนวนมาก
นายอุเชนทร์ เชียงเสน สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ขาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหรือไม่ ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ประกาศว่า จะไม่ร่วมหารือกับ คสช. หรือไม่ร่วมกับพลังประชารัฐ ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันก็เคยประกาศว่า จะไม่ยอมร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยแน่นอน
“ประชาธิปัตย์เขาประกาศชัดเจนแล้วว่าเขาไม่รวมกับเพื่อไทย เขาจะอยู่ตรงไหนได้ เขาก็รวมกับอีกฝั่งนึง พล.อ.ประยุทธ์ได้ประชาธิปัตย์ก็เป็นรัฐบาลได้ ตอนนี้ ไม่ต้องแข่งกันเลย ยังไงก็พลเอกประยุทธ์ ก็แค่รวมกับ ส.ว. รวมกับพรรคประชาธิปัตย์ รวมพรรคพวกอีกนิดหน่อย ก็ได้แล้ว” นายอุเชนทร์ กล่าวผ่านโทรศัพท์
ทั้งนี้ หากพรรคที่สนับสนุน คสช. จะต้องจับมือกับพรรคใดเพื่อตั้งรัฐบาล ก็ทำได้โดยง่าย เพราะต้องการเสียงจาก ส.ส. เพียง 126 เสียง เพราะมีเสียงวุฒิสมาชิกที่ คสช.เป็นผู้จัดการคัดเลือกตุนไว้แล้ว 250 เสียง เพื่อการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา
การเลือกตั้งบริสุทธิ์หรือไม่? การเมืองจะวุ่นวายอีกไหม?
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (Asian Networks For Free Elections – ANFREL) ได้ขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์เลือกตั้ง แต่ทาง กกต. ต้องรอให้มีการประกาศ พรฎ.เลือกตั้งให้เรียบร้อยเสียก่อน ในขณะที่ทางสหภาพยุโรปพร้อมส่งคณะผู้สังเกตการณ์ร่วมติดตามการเลือกตั้งเช่นกัน หากได้รับเชิญ
แต่การจัดพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา โดยมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค การทำนโยบายประชานิยมภายใต้ชื่อโครงการที่คล้องชื่อกับพรรค การแจกเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งการมีกฎหมายห้ามการแสดงออกอย่างเสรี ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดข้อกังขาในความเป็นกลางของรัฐบาล
“พูดเลยว่า ไม่ใช่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะการเลือกตั้งที่ฟรีและแฟร์ ต้องโปร่งใส ให้สิทธิเสรีทุกพรรค นักการเมืองทุกคนเท่าเทียมกัน ตอนนี้ เราไม่ได้มีเสรีในการแสดงออกเต็มที่ เพราะฉะนั้นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนก็จะเสี่ยงที่จะถูก คสช. ดำเนินการด้วยคำสั่ง คสช. หรือกฎหมาย มันไม่เสรีและเป็นธรรมตามหลักสากล” ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“การคืนอำนาจ การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการกลับสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการกลับสู่โครงสร้างอำนาจเดิม ในชื่อของประชาธิปไตย มันไม่ได้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เพราะฉะนั้นเป็นการสร้างความชอบธรรมในการอยู่อำนาจต่อของทหาร” ดร.ฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม
พลเอกประยุทธ์ ยึดอำนาจรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพราะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำประชาชนนับล้านคนเดินขบวนขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในกรุงเทพฯ จนมีการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ ในขณะที่การประชุมร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ที่ทหารเป็นเจ้าภาพ เพื่อการแก้ไขปัญหาล้มเหลว
ประชาชนบางคนยังมีความกังวลใจต่ออนาคตการเมืองของประเทศ หลังการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ศกหน้า ว่าจะมีความวุ่นวายดังเช่นในอดีตอีกหรือไม่
“ผมเชื่อว่าประยุทธ์จะคืนอำนาจผ่านการเลือกตั้ง... ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าจะมีความวุ่นวายทางการเมืองอีกหรือไม่ หากว่านักการเมืองในกลุ่มชินวัตรยังอยู่” นายกิตติ ตันติเวชยานนท์ อดีตนักธุรกิจ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
แต่ในวันศุกร์นี้ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนแสดงความเชื่อมั่นว่า จะไม่มีความวุ่นวายใดๆ นอกสภาเหมือนในอดีต เพราะมี กกต. กลั่นกรองการร้องเรียน และมีสภาให้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่อสู้กัน
“เราคนไทยด้วยกันต้องยอมรับกติกา... หลังจากการเลือกตั้งแล้ว ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าคนไทยด้วยกันไปสู้กันในสภา อย่ามาสู้กันนอกเวที ทำไมจะต้องมาเคลื่อนไหวให้ประชาชนเดือดร้อนอีก ผมเชื่อมั่นว่าไม่มี” พลเอกอภิรัชต์กล่าว