ศาลปกครองยกคำร้อง ยิ่งลักษณ์ขอทุเลาคำสั่งยึดทรัพย์ 3.5 หมื่นล้าน

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.01.29
กรุงเทพฯ
180129-TH-Yingluck-620.jpg นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดสวนผักไฮโดรโปนิคหลังบ้านพักให้ผู้สื่อข่าวเข้าเยี่ยมชม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2560 ก่อนจะหลบหนีไปต่างประเทศ
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ ศาลปกครองกลาง เผยแพร่คำสั่งยกคำร้องกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขอให้ศาลปกครอง มีคำสั่งทุเลาการบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายในคดีจำนำข้าวจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้กรมบังคับคดี ดำเนินการอายัดทรัพย์เพื่อชดใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการ กรณีความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว โดยให้เหตุผลว่า เงื่อนไขที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีนั้น เกิดขึ้นไม่ครบถ้วน ศาลฯ จึงไม่มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับคดี ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว ได้รับทราบคำสั่งศาลปกครองแล้ว

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลาง มีมติเสียงข้างมาก 5 ใน 7 เสียง ยกคำร้องฯ โดยศาลระบุว่า ได้พิจารณาคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งได้ยื่นเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 และข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของคู่กรณี รวมถึงกรมบังคับคดีแล้ว เห็นว่า แม้นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ฟ้องคดีจะอ้างเหตุของความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งที่เรียกให้ชดใช้เงินหลายประการ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีบ้างไปแล้วก็ตาม แต่การจะวินิจฉัยว่า คำสั่งพิพาทจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นประเด็นในเนื้อหาของคดีที่ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป แต่ศาลไม่มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับคดี เนื่องจากไม่ครบเงื่อนไขตามข้อกำหนด

“เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า เงื่อนไขที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทเกิดขึ้นไม่ครบถ้วน ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดี” คำสั่งศาลปกครองระบุ

ศาลปกครองระบุเงื่อนไขที่ศาลจะมีอำนาจในการทุเลาการบังคับคดีได้ ในกรณีที่คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย การให้คำสั่งพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง และสุดท้ายการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ

ด้านนายนพดล หลาวทอง ทนายความผู้ได้รับมอบหมายในคดีปกครองของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ทางโทรศัพท์ว่า ได้รับทราบคำสั่งศาลปกครองแล้ว แต่ยังไม่พบความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่บังคับคดี เพราะเมื่อศาลมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับคดีเรื่องการอายัดทรัพย์สินแล้ว เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามคำสั่งในมาตรา 44 ได้เลย ซึ่งต่อจากนี้คงต้องติดตามว่าหน่วยงานรัฐจะดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินต่อไปอย่างไร หากพบว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินขอบเขต อำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย จะยื่นต่อศาลปกครองขอคุ้มครองอีกครั้ง

“ทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้แต่ยังไม่ได้ขายทอดตลาด บ้านพัก และบัญชีเงินฝากประมาณ 12-13 บัญชี ต่อจากนี้จะได้ต่อสู้ในคดีหลักว่าด้วยการออกคำสั่งไม่ชอบ แต่ระหว่างนี้หากพบว่าการบังคับอายัดทรัพย์ดำเนินการจากกรอบคำสั่ง และกฎหมายที่ใช้อยู่เกี่ยวกับการบังคับคดีก็ต้องใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อสู้โต้แย้งใหม่” นายนพดลกล่าวกับเบนาร์นิวส์

นายนพดลระบุด้วยว่า ขณะนี้คดีหลักในศาลปกครองยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และศาลยังไม่ได้กำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง อาจจะใช้เวลาอีกนานกว่าจะมีคำพิพากษา

ทั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้หลบหนีไปต่างประเทศ ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยลงโทษจำคุกนางสาวยิ่งลักษณ์ 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 จากความผิดในคดีรับจำนำข้าวฯ โดยให้เหตุผลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์รับรู้การทุจริตในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) แต่ไม่ดำเนินการยับยั้ง จึงถือเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง