ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ 25 ส.ค.นี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.07.21
กรุงเทพฯ
TH-yingluck-620 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โบกมือให้ผู้สนับสนุนที่มาให้กำลังใจในการไต่สวนนัดสุดท้ายคดีจำนำข้าวฯ หน้าศาลฎีกาฯ วันที่ 21 กรกฎาคม 2560
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์ (21 กรกฎาคม 2560) นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามนัดไต่สวนครั้งสุดท้ายของคดีจำนำข้าว หรือ คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ท่ามกลางผู้สนับสนุนที่เดินทางมาให้กำลังใจกว่า 100 คน โดยหลังจากนี้ ศาลได้นัด น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อแถลงปิดคดีด้วยวาจา ในวันที่ 1 ส.ค. 2560 และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค. 2560 หลังจากการไต่สวนคดีรวมเวลากว่า 2 ปี

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางมาถึงศาลฎีกาฯ ในช่วงเช้า พร้อมด้วยสมาชิกพรรคเพื่อไทยกว่า 30 คน มีประชาชนกลุ่มผู้สนับสนุนรอต้อนรับกว่า 100 คน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากดูแลรักษาความปลอดภัย ระหว่างการเดินเข้าสู่ประตูศาล ประชาชนผู้สนับสนุนได้ตะโกนเรียกชื่อ “ปู” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงรายนี้ มีผู้สนับสนุนบางรายได้มอบสิ่งของและดอกไม้เพื่อเป็นกำลังใจให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์

“ขอโอกาสนี้ขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชน และพี่น้องประชาชน ที่มาให้กำลังใจดิฉันที่หน้าศาล เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว ก็จะขออนุญาต ขอความกรุณาไม่ขอให้สัมภาษณ์ใดๆ เพราะว่าคงมีข้อสรุปแล้ว ยังไงเนื้อหาทั้งหมดก็รบกวนสื่อมวลชน พี่น้องประชาชน ติดตามในวันที่ 1 สิงหาคม ที่จะแถลงปิดคดีโดยวาจา” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อสื่อมวลชนก่อนเดินทางกลับ

ด้านกรณีที่ทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ ส่งความต่อศาลรัฐธรรมนูญขอคำวินิจฉัยว่ามาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่นั้น “ศาลได้ยกคำร้อง” ด้วยเหตุผลว่า ศาลได้ให้คู่ความทั้งสองนำพยานมาให้ศาลไต่สวนเต็มที่แล้ว ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายอันเป็นหลักการสำคัญของการไต่สวน ส่วนคำร้องของจำเลยและเหตุผลที่ยกขึ้นมาอ้างนั้นยังไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 212 ที่ศาลจะต้องส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

คดีจำนำข้าว หรือ คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว 5 แสนล้านบาท เป็นการฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ ความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ซึ่งหากผิดจริงจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี

คดีโครงการรับจำนำข้าว

ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ใช้โครงการรับจำนำข้าวเป็นหนึ่งในโครงการหาเสียงหลัก ร่วมกับโครงการลดภาษีรถคันแรก บ้านหลังแรก และกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเมื่อได้รับการเลือกตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวจริง โดยรัฐบาลจ่ายเงินให้กับชาวนาที่นำข้าวมาจำนำในมูลค่าสูงที่สุดถึง 15,000 บาทต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้น

ระหว่างการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว หลายฝ่ายได้เปิดเผยข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับโครงการนี้ เช่น ข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำกับรัฐบาลสูญหาย ข้าวที่ถูกเก็บไว้เสื่อมคุณภาพ และส่งผลให้ข้าวเสื่อมราคา โดยมีการประเมินมูลค่าความเสียหายจากโครงการนี้เบื้องต้นเป็นเงินกว่า 5 แสนล้านบาท

ปี 2555 พรรคประชาธิปัตย์จึงยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าว

วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดในกรณีดังกล่าวก่อนส่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาในวันที่ 17 กรกฎาคม 2557

วันที่ 23 มกราคม 2558 อสส. มีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีจำนำข้าวฯ ต่อศาลฎีกาฯ วันเดียวกัน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยคะแนน 190:18 เสียง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกตัดสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และวันที่ 19 มีนาคม 2558 (วันนัดอ่านคำสั่ง) ศาลฎีกาฯ มีมติรับฟ้องคดีจำนำข้าว มีเลขคดี อม.22/2558

วันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ศาลฎีกาฯพิจารณาคดีครั้งแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝากมูลค่า 30 ล้านบาท มีการนัดสืบพยานตั้งแต่ปี 2558 – 2559

วันที่ 21 กันยายน 2559 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรีเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเงิน 35,717 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าประเมินความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด 178,586 ล้านบาท รัฐบาลจึงได้พยายามเดินหน้ายึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ปัจจุบัน การไต่สวนคดีจำนำข้าวฯ เสร็จสิ้นแล้ว โดยมี พยานโจทก์และจำเลยรวม 45 ปาก เริ่มตั้งแต่ 15 มกราคม 2559 – 21 กรกฎาคม 2560 รวมเวลากว่า 2 ปี โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นศาล 26 นัด

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง