นักสิ่งแวดล้อมร้องรัฐคุมทุนไทยในต่างแดน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.09.07
กรุงเทพฯ
170907-TH-banner-1000 เครือข่ายประชาชนแม่น้ำโขงประเทศไทยประท้วงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุลี ที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ 24 เมษายน 2560
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (7 กันยายน 2560) นี้ คณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดนของไทยได้นำเสนอผลกระทบจากโครงการของกลุ่มทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสิ่งแวดล้อม และประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยสร้างมาตรการตรวจสอบและป้องกัน

นายมนตรี จันทวงศ์ ตัวแทนคณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในงานแถลงข่าวการประชุมติดตามผลการดำเนินงานตามมติณะรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย อันเนื่องมาจากข้อเสนอแนะทางนโยบายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า คณะทำงานฯ มีความกังวลในโครงการของกลุ่มทุนไทย 12 โครงการที่ไปลงทุนในประเทศเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม

“ในทุกกรณีศึกษาสิ่งที่เราเห็นคือ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ระบุไว้ หรืออาจจะระบุไว้ แต่ไม่ได้เปิดเผย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่องออกไป ผลกระทบด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และใช้ช่องว่างของกฎหมายในประเทศปลายทางที่ไปลงทุน” นายมนตรีกล่าว

โครงการที่คณะทำงานฯ เลือกมาศึกษาประกอบด้วย 1. โครงการเขื่อนไฟฟ้าฮัตจี 2. โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย 3. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเย 4. โครงการเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา 5. โครงการเหมืองถ่านหินบานชอง 6. โครงการโรงงานปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินเมาะลัมใย (ประเทศเมียนมา) 7. โครงการเขื่อนไซยะบุลี 8. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์หงสา 9. โครงการเขื่อนปากแบง (ประเทศลาว) 10. โครงการสัมปทานที่ดินเพื่อปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาลเกาะกง 11. โครงการสัมปทานที่ดินเพื่อปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาลโอดอร์เมียนเจย (ประเทศกัมพูชา) และ 12. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนกวางจิ (ประเทศเวียดนาม)

น.ส.ชนาง อำภารักษ์ จากกลุ่มแม่โขงบัตเตอร์ฟลาย (Mekong’s Butterflies) เปิดเผยว่า คณะทำงานฯ หวังให้หน่วยงานรัฐบาลของไทยตื่นตัวในการแก้ปัญหาที่กลุ่มทุนไทยไปสร้างให้เกิดในประเทศเพื่อนบ้าน หรือโครงการที่อาจทำให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนกลับมายังประเทศไทย

“ตัวอย่างกรณีศึกษา 12 โครงการ อย่าว่าแต่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ แค่กระบวนการในการเริ่ม ก็เหมือนข้ามหัวประชาชนไปแล้ว ไม่ได้สนใจเสียงคัดค้านของประชาชนแต่อย่างใด เช่น โครงการเขื่อนไซยะบุลี หรือโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ในประเทศลาว” น.ส.ชนางกล่าว

“เราคาดหวังการตื่นตัวของคณะรัฐมนตรี เพราะในหลายเคส กสม. ส่งความเห็นไปยัง ครม. ซึ่งควรใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือนในการออกมติ เพื่อให้เกิดการยับยั้งโครงการ หรือเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการตรวจสอบ หรือสร้างเครื่องมือที่สามารถใช้คัดกรองโครงการต่างๆ ได้จริง เป็นการกระตุ้นให้เกิดการทำงานในกระทรวงหรือกรมที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆ โดยตรงให้ทำงาน และเป็นการกระตุ้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย” น.ส.ชนาง กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งดูแลด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2560 นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จะได้เชิญภาครัฐ และหน่วยงานเอกชนที่ถูกอ้างว่า เป็นผู้ลงทุนและดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบในประเทศเพื่อนบ้าน เข้าพูดคุยกับกลุ่มคณะทำงานฯ เพื่อหารือแนวทางต่างๆ จึงปฎิเสธที่จะให้สัมภาษณ์

กลุ่มทุนจากประเทศเริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศในปี 2528 ก่อนจะขยายตัวอย่างเต็มที่ในสมัยของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งมีนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” โดยกลุ่มทุนไทยกลุ่มแรกๆ ที่ไปลงทุนในต่างประเทศคือ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท สหวิริยา และ บริษัท สยามซีเมนต์กรุ๊ป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง