มาเลเซียส่งเจ้าสาว 11 ขวบ พร้อมพ่อแม่ กลับสุไหงโก-ลก

มาตาฮารี อิสมะแอ และ มารียัม อัฮหมัด
2018.08.10
สามจังหวัดชายแดนใต้
180810-TH-bride-620.jpg เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาในชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ รอผู้ปกครองมารับหลังเลิกเรียน วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2561
เอพี

ในวันศุกร์นี้ นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ทางการรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ได้ส่งตัวพ่อแม่ และเด็กหญิงชาวไทย วัย 11 ขวบ ที่แต่งงานแบบนิกะห์กับชายชาวมาเลเซีย กลับภูมิลำเนาที่อำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส แล้ว เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยทางการไทยได้ให้การดูแลด้านจิตใจ พร้อมส่งเสริมอาชีพและการศึกษา

นายเจ๊ะ อับดุล การิม เจ๊ะ ฮามิด ชายชาวมาเลเซีย วัย 41 ปี ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในรัฐกลันตัน ได้เข้าพิธีแต่งงานกับเด็กหญิงไทยคนดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่าจะอยู่ร่วมกันเมื่อฝ่ายหญิงอายุได้ 16 ปี (นิกะห์) ที่มัสยิดแห่งหนึ่งในสุไหงโก-ลก โดยมีอิหม่ามไทยเป็นผู้ทำพิธีแต่งงานให้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวมาเลเซียและชาวไทยในโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก หลังจากภรรยาคนที่สองของเจ้าบ่าวนำเรื่องมาเปิดเผยทางเฟสบุ๊ก เนื่องจากเห็นว่าเด็กหญิงยังอายุน้อยเกินกว่าที่จะแต่งงานเป็นภรรยาคนที่สามของชายคนดังกล่าว

ในเดือนกรกฎาคม ศาลชารีอะฮ์ ในรัฐกลันตันของมาเลเซีย ได้สั่งปรับนายเจ๊ะ อับดุล การิม เจ๊ะ ฮามิด เป็นเงิน 1,800 ริงกิต (ประมาณ 14,700 บาท) หลังจากที่เขายอมรับความผิดในสองข้อหา ที่มีมูลเหตุมาจากการแต่งงานดังกล่าวและการมีภรรยาหลายคน โดยไม่ได้ขออนุญาตจากศาล ภายใต้กฎหมายครอบครัวอิสลามของรัฐกลันตัน เลขที่ 6 ปี 2545 แต่ละข้อหามีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 ริงกิต (ประมาณ 8,200 บาท) หรือโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสองเดือน อ้างอิงรายงานสื่อข่าวออนไลน์ Harian Metro ของมาเลเซีย

“ตอนนี้ เด็กคนนั้นกลับมาแล้ว และทางนราธิวาส เจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนามนุษย์ประจำจังหวัด ก็เข้าไปคุ้มครองเด็ก ทางจิตวิทยา และดูแลเรื่องอื่น ๆ” นายสุรพร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“เมื่อเด็กกลับมาแล้วก็ต้องคุ้มครอง ในอนาคตจะพัฒนาคุณภาพชีวิต เรื่องการศึกษา สภาพจิตใจ ตอนอายุ 16 ปี ให้ดูกันอีกที เพราะว่าคนมาเลเซียที่เป็นเจ้าบ่าวเป็นโต๊ะอิหม่าม เขาก็รู้หลักการศาสนา เขาก็คงไม่ทำอะไรให้ผิดหลัก” นายสุรพรกล่าว

นายสุรพรกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เด็กเดินทางมาพร้อมพ่อและแม่ ในขณะนี้ หน่วยงานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดนราธิวาส เข้าไปดูแล และมีกลุ่มสหวิชาชีพ เช่น แพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาช่วยดูแลอย่างใกล้ชิดในด้านสุขภาพจิตและสุขภาพต่าง ๆ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในด้านรายได้ อาชีพ และการศึกษาให้เด็กด้วย

“การที่เด็กหญิงไม่ได้รับการศึกษาตั้งแต่ต้น ตามข้อบังคับการศึกษาขั้นต้นเหมือนบุคคลทั่วไป ซึ่งจำเป็นที่รัฐต้องหาทางช่วยเหลือ ต้องหาทางออกเพื่อให้เด็กหญิงสามารถใช้ชีวิตได้ปกติสุขในสังคมต่อไป” นายสุรพรกล่าว

เพื่อการป้องกันปัญหาในอนาคต นายสุรพร พร้อมมูล กล่าวว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ตนในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้เรียกประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อวางมาตรการคุ้มครองสิทธิเด็กในอนาคต โดยในเบื้องต้น ทางคณะกรรมการอิสลามฯ ได้แจ้งไปยังผู้นำศาสนาทุกมัสยิด ให้งดทำพิธีแต่งงานให้กับคนต่างประเทศและคนไทยที่เข้าข่ายผู้เยาว์หรือเด็ก

“ห้ามทำพิธีแต่งงานที่อื่นโดยเด็ดขาด และให้อิหม่ามนำความผู้ประสงค์การแต่งงานที่เข้าข่ายดังกล่าว มาที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่เดียวเท่านั้น เพื่อกลั่นกรองและเป็นมาตรการป้องกันเบื้องต้น” นายสุรพรกล่าวแก่เบนาร์นิวส์

กลุ่มประชาสังคมและนักสิทธิ์ แสดงความกังวล

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าตนมีความกังวลต่อสถานะการแต่งงานของเด็ก

“สิ่งที่กังวลคือ สถานะการแต่งงานของเด็ก เป็นยังไง พัฒนาสังคมและคณะกรรมการอิสลามจะต้องออกมาชี้แจงให้ชัด ซึ่งหากคณะกรรมการอิสลามบอกว่าการแต่งงานเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ทางพัฒนาสังคมไปรับภรรยาเขากลับมา แล้วสมมติวันหนึ่งสามีเขามารับกลับไปจะทำยังไง หรือถ้าเป็นโมฆะ คณะกรรมการอิสลามคนใดที่จดทะเบียนจะรับผิดชอบอย่างไร” นางอังคณา

นางอังคณากล่าวอีกว่า “ขณะที่ทางการไทยก็ออกมายอมรับว่าเด็กอยู่ในไทย แต่ปิดข้อมูลว่าเด็กอยู่ที่ไหน”

ทั้งนี้ เมื่อตอนต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้ประชุมหารือถึงกรณีนี้ และตัดสินว่าอิหม่ามที่ทำพิธีแต่งงานให้ ไม่ได้ละเมิดกฎหมายอิสลาม โดยพ่อแม่ของเด็กมีบทบาทสำคัญในการอนุญาตให้เกิดการแต่งงานครั้งนี้ขึ้น

"ตามกฎหมายอิสลามผู้หญิงและชายที่จะแต่งงานจะต้องมีอายุขั้นต่ำ 15 หรือ 16 ปี ยกเว้นมีพ่ออนุญาตหรือเห็นด้วย ส่วนจะทำพิธีที่ไหนไม่ได้บังคับ แต่ต้องมีอิหม่ามทำพิธีให้ กรณีเด็กอายุ 11 ปี ไปทำที่มัสยิดแถวสุไหงโก-ลก ซึ่งถือว่าเขาสามารถทำได้ทั้งตามหลักศาสนาอิสลาม และตามกฎหมายอิสลาม ที่มีการบังคับใช้ในพื้นที่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล"

จากข้อมูลที่นายซาการียา กาเล็ง อิหม่ามในจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้กฎหมายอิสลามใน 4 จังหวัด เมื่อ พ.ศ. 2489 คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 โดยให้ใช้บังคับเฉพาะสี่จังหวัดนี้เท่านั้น ให้ใช้เฉพาะเรื่องครอบครัว เช่น การหมั้น การสมรส การหย่า ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา ระหว่างพ่อแม่ และเรื่องมรดก เช่น พินัยกรรม การแบ่งปันมรดก ทายาท และใช้กับบุคคลที่เป็นมุสลิม ส่วนเรื่องอื่น ๆ คงใช้กฎหมายทั่วไปตามปกติ

คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย มีหน้าที่ควบคุมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักกฎหมายของอิสลามเรื่องต่าง ๆ เช่น การออกใบทะเบียนสมรสและใบหย่า ตลอดจนการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล แต่อิหม่ามของมัสยิดในท้องถิ่นดำเนินการบริหารจัดการมัสยิดของตนเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ แหล่งข่าวกล่าว

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เพื่อการป้องกันปัญหาในทำนองนี้ ไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก

"สำหรับเรื่องอนาคต ควรเน้นการป้องกันการละเมิดซ้ำ และแก้ปัญหารายกรณีกับแก้ปัญหาระยะยาว รวมถึงจะต้องแก้กฎหมายไทยมาตรา 277 แก้กฎหมายอิสลามที่บังคับใช้ในภาคใต้ สร้างค่านิยมใหม่ในสังคมมุสลิม และการป้องกันปัญหาระหว่างพรมแดน การทำกฎหมายระหว่างประเทศให้มีมาตรฐานเดียวกัน" นางสาวอัญชนากล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง