สภานิติบัญญัติแห่งชาติแก้กฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำผิดในข้อหาค้ามนุษย์


2015.03.27
150327-TH-humantrafficking-seafood-620 แรงงานชาวพม่าทำงานอยู่บนเรือประมงในจังหวัดปัตตานี 18 มิถุนายน 2557 (เอเอฟพี)
AFP

ในวันพฤหัสบดีที่ 26 นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยให้มีบทลงโทษต่อผู้กระทำผิดรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากนานาชาติ และรายงานของสิ่อมวลชนในเรื่องการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงคะแนนเป็นเอกฉันท์ 160-3 เพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในวาระสาม เพื่อเพิ่มโทษต่อนักค้ามนุษย์ รวมทั้ง เพื่อปรับปรุงการตรวจสอบ และการคุ้มครองพยาน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภายใต้ พรบ. ฉบับแก้ไขใหม่ ผู้กระทำผิด มีโทษถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต หรือมีโทษปรับ ในกรณีที่ทำให้เหยื่อถึงแก่ชีวิต ส่วนผู้กระทำผิดในการทำร้ายเหยื่อ มีโทษจำคุกถึง 20 ปีและมีโทษปรับสูงถึง 400,000 บาท

เสียงเรียกร้องจากนานาชาติ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติของไทย ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่หนึ่งวันหลังจากที่สหรัฐอเมริกาและบรรดาบุคคลในวงการธุรกิจของสหรัฐได้ออกมาเรียกร้องให้ประเทศไทยติดตามจับกุมบุคคล หรือบริษัทในอุตสาหกรรมอาหารทะเลใดๆ ที่ใช้แรงงานต่างชาติที่ถูกหลอกลวงบังคับให้ทำงานบนเรือประมง

ซึ่งในวันพุธที่ผ่านมา เอพีได้ออกรายงานที่เปิดโปงการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงในเอเชียอาคเนย์ที่มีอย่างแพร่หลาย

รายงานเชิงสืบสวนของเอพี ได้แสดงให้เห็นว่ามีคนนับพันคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากประเทศพม่า ถูกลักลอบนำพาไปเป็นแรงงานทาสในเกาะที่อยู่ห่างไกลในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเอพีรายงานว่า ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งนั้นถูกนำมาแปรรูปในโรงงานในประเทศไทย

ในวันพุธที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เจน เพสกี้ ได้กล่าวในกรุงวอชิงตันว่า สัดส่วนของคนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้เข้าสู่วงจรแรงงานในภาคการประมงและอาหารทะเลในอัตราที่สูง

“ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา นานาชาติ รวมทั้ง สหรัฐอเมริกา ได้แสดงความกังวลต่อสาธาณะอย่างตรงไปตรงมา เกี่ยวกับเรื่องการใช้แรงงานต่างชาติที่ถูกบังคับในเรือประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลบนฝั่ง” เจน เพสกี้ กล่าว “และเรายังคงเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องให้ดำเนินการอย่างมีนัยยะสำคัญในการปกป้องคนต่างด้าวในอุตสาหกรรมการประมงและอุตสาหกรรมผลิตกุ้ง ให้ลงโทษคนที่ใช้แรงงานเยี่ยงทาส”

การตอบสนองของรัฐบาลไทย

เอพี รายงานว่า หลังจากที่มีการเผยแพร่รายงานเรื่องแรงงานออกมา กระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ออกแถลงการณ์ว่า มีแรงงานต่างด้าว 1.6 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเล ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกับกระทรวงแรงงานของไทย และได้รับการปกป้องสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย

และมีรายงานว่ารัฐบาลจะติดตั้งระบบติดตามการเดินทางของเรือประมงจำนวน 7,700 ลำ ในเดือนมิถุนายน ในขณะที่ บมจ. ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์ ได้ยกเลิกการร่วมกิจกรรมทางธุรกิจกับซัพพลายเออร์ที่มีชื่ออยู่ในรายงานของเอพีในทันที

เขียนโดยทีมข่าวเบนานิวส์ ข้อมูลจากสำนักข่าวและหนังสือพิมพ์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง