ไทยยังทำด้านการทูตไม่มากพอ กับวิกฤตการณ์เมียนมา นักวิเคราะห์ชี้

ทั้งไทยยังสามารถจัดการด้านมนุษยธรรมได้มากกว่านี้
สุเบล ราย บันดารี
2022.02.03
กรุงเทพฯ
ไทยยังทำด้านการทูตไม่มากพอ กับวิกฤตการณ์เมียนมา นักวิเคราะห์ชี้ ชาวบ้านที่หนีการสู้รบโจมตีของทหารเมียนมา นั่งอยู่นอกเพิงที่พักชั่วคราว ริมฝั่งแม่น้ำเมย ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วันที่ 24 มกราคม 2565
เอพี

หลังจากหนึ่งปีที่กองทัพพม่าก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ผู้เชี่ยวชาญและนักเคลื่อนไหวพากันกล่าวว่า 'ไทยควรทำมากกว่านี้ในการจัดการกับวิกฤตในเมียนมา' เพราะประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ร่วมอันยาวนาน และมีพรมแดนที่ติดกับเมียนมาด้วย

แม้กระทรวงการต่างประเทศไทยจะบอกว่า ได้เรียกร้องให้มีการหาทางออกอย่างสันติต่อความวุ่นวายในเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ อู จอ วิน ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายสิทธิมนุษยชนแห่งพม่า กล่าวว่า นั่นยังน้อยเกินไป

ไทย “ควรมีท่าทีที่แข็งกร้าวกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เพราะในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา ไทยกำลังเผชิญผลที่ตามมาจากวิกฤตนั้นมากกว่าอีกสามประเทศ ทั้งในแง่เศรษฐกิจและความมั่นคง” เขากล่าว

อู จอ วิน หมายถึง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ สามประเทศทรงอิทธิพลในอาเซียน ซึ่งประณามเมียนมาเรื่องการก่อรัฐประหารอย่างแข็งกร้าวมาโดยตลอด  ต่างมีบทบาทสำคัญในการห้าม พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ไม่ให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดของอาเซียน เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

ไทยถูกมองมาโดยตลอดว่า เป็นแกนหลักในความสัมพันธ์อาเซียน-เมียนมา จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาว่า มีท่าทีค่อนข้างอ่อนต่อวิกฤตหลังรัฐประหาร และการสังหารหมู่ หลังการรัฐประหาร ซึ่งสร้างความแตกแยกภายในอาเซียน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบหนึ่งปีของการก่อรัฐประหารในเมียนมา ที่ได้โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง - อินโดนีเซียกล่าว “ตำหนิ” การกระทำของกองทัพ และสิงคโปร์แสดงความกังวลว่า “สถานการณ์ในเมียนมา สำหรับประชาชนแล้ว ยังคงเลวร้ายลงเรื่อย ๆ”

ไทยควรจะ “ร่วมกับประชาคมโลก ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา และไม่ขายอาวุธให้กองทัพเมียนมา” นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตนักการทูตไทยที่เกษียณอายุราชการแล้ว บอกแก่เบนาร์นิวส์

ส่วนรัฐบาลไทย เมื่อได้รับการติดต่อสอบถามถึงบางความเห็นที่ว่า รัฐบาลไทยยังทำน้อยเกินไป เกี่ยวกับวิกฤตในเมียนมา นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงเหตุผลจุดยืนของรัฐบาล

ไทยคอยติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด “ด้วยความห่วงใย และปรารถนาที่จะให้เมียนมากลับคืนสู่ความสงบและเสถียรภาพโดยเร็ว” นายธานี แสงรัตน์ บอกกับเบนาร์นิวส์เมื่อวันพุธ

“ไทยได้เรียกร้องให้ลดระดับและยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังจำนวนมากขึ้น และหาทางออกอย่างสันติ ด้วยการเจรจาระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมา” นายธานีเสริม

ขณะที่ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ กล่าวหยันแถลงการณ์ดังกล่าวของรัฐบาล

“รัฐบาลบอกว่า อยากให้ยุติความขัดแย้งอย่างสันติ” อย่างโน้นอย่างนี้ แต่ผมไม่เห็นว่าไทยจะประณามการกระทำใด ๆ เลย มีคนไทยตามชายแดนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา” นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตประจำโมซัมบิกและคาซัคสถาน กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“เราได้รับรายงานว่า บริเวณพรมแดนไทยติดกับเมียนมา มีเรือไทยที่ล่องอยู่ในแม่น้ำถูกกองทัพเมียนมายิง… ผมไม่เห็นว่ารัฐบาลไทยทำอะไรเลย เพื่อปกป้องประชาชนของตัวเอง นี่เป็นสิ่งที่ผิดอย่างมหันต์ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อจริง ๆ” 

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ได้ก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเมียนมา จับกุมตัวผู้นำประชาธิปไตยหลายคนเข้าคุก จากนั้นก็ใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ประท้วงต่อต้านการกระทำของทหาร

ตามรายงานจากเครือข่ายสิทธิมนุษยชนแห่งเมียนมา นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารจนถึงเดือนธันวาคม 2565 กองกำลังความมั่นคงได้คร่าชีวิตพลเรือนไปแล้วอย่างน้อย 1,685 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย

'ทั้งสองประเทศ ต่างไม่เคารพสิทธิมนุษยชน'

เพราะเหตุใด ประเทศไทยจึงไม่อยากออกมาประณามการก่อรัฐประหารในเมียนมา เหตุผลคือ เพราะรัฐบาลไทยและรัฐบาลทหารพม่ามีลักษณะสำคัญเหมือนกันบางอย่าง นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตของไทย กล่าว

“รัฐบาลไทยและรัฐบาลทหารพม่ามีความคล้ายกัน มีค่านิยมคล้ายกัน และมีลักษณะคล้ายกัน ทั้งสองรัฐบาลต่างก็ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศเช่นกัน” เขากล่าว

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ กล่าวหาว่า การก่อรัฐประหารในไทยเมื่อปี 2557 โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น และปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรี อาจเป็น “แรงบันดาลใจ” แก่รัฐบาลทหารพม่า เมื่อตัดสินใจยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

“ในระดับหนึ่ง รัฐประหารในไทย... มีอิทธิพลไม่มากก็น้อยให้กองทัพเมียนมาทำตาม” อดีตเอกอัครราชทูตของไทยกล่าว "ซึ่งการกระทำในอดีตและเมื่อไม่นานมานี้ของรัฐบาลไทย สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนที่รัฐบาลมีต่อกองทัพพม่า และการก่อรัฐประหารของทหาร ในกรุงเนปิดอว์"

และนับแต่เกิดรัฐประหาร “ไทยไม่ได้คัดค้านการขายอาวุธให้แก่เมียนมาเมื่อปีที่แล้ว จึงเห็นชัดว่ารัฐบาลไทยในปัจจุบันกำลังคิดอะไรอยู่” นายรัศม์ ชาลีจันทร์ กล่าว

เขาหมายถึงการลงคะแนนเสียงเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่เกี่ยวกับมติของสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้หยุดขายอาวุธแก่เมียนมา ประเทศสมาชิกอาเซียนคือ บรูไน กัมพูชา ลาว และไทย งดออกเสียงในมตินี้

220202-th-myanmar-coup-analysis-inside.jpg

ปัน ชู เพอิน นักเคลื่อนไหวชาวพม่า หลบหนีเข้าประเทศไทย หลังทหารเมียนมาก่อรัฐประหารปีที่แล้ว ร่วมนิทรรศการเกี่ยวกับการประท้วงของเมียนมา ที่กรุงเทพฯ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 (เบนาร์นิวส์)

ปฏิกิริยาแตกต่างกัน

หากยังมีบางคนที่ไม่ตำหนิรัฐบาลไทย

ปัน ชู เพอิน นักเคลื่อนไหวชาวพม่า ได้หลบหนีเข้าประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กล่าวว่า เธอถือว่าตัวเองโชคดี

ประเทศไทยเป็น “ประเทศแรกที่นักต่อสู้และเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างฉันนึกถึงเสมอ เมื่อเราคิดที่จะหนีออกนอกประเทศ” เธอบอกกับเบนาร์นิวส์ ในกรุงเทพฯ

“คนไทยคล้ายคนพม่าจริง ๆ คนไทยให้กำลังใจมาก ฉันรู้สึกว่าคนไทยสนใจในหลักการของเรา” เธอกล่าว

ปัน ชู บอกว่า “ไม่ได้คาดหวังว่ารัฐบาลไทยจะสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนพม่า”

“ฉันเพียงแต่หวังว่า รัฐบาลไทยจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่น และผู้อพยพข้ามพรมแดนมาให้มากขึ้น รัฐบาลทำได้มากกว่านี้"

อู จอ วิน ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายสิทธิมนุษยชนแห่งพม่า เห็นด้วยกับ ปัน ชู

“เรารู้สึกซาบซึ้งมากกับสิ่งที่ประเทศไทยทำมาจนถึงตอนนี้… ประเทศไทยจำเป็นต้องช่วยเรามากกว่านี้ โดยเฉพาะความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดน ซึ่งสำคัญมากต่อการช่วยชีวิตคนนับล้าน” เขาบอกเบนาร์นิวส์

สำหรับ ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เขาคิดว่ารัฐบาลไทยได้แสดงปฏิกิริยา “แตกต่างกัน” ต่อวิกฤตการเมืองและมนุษยธรรมในเมียนมา

“ในด้านหนึ่ง ผู้ลี้ภัยการเมืองจำนวนมาก… สามารถหนีเข้ามาอยู่ในไทยได้” ฟิล โรเบิร์ตสัน ซึ่งประจำอยู่ในกรุงเทพฯ บอกเบนาร์นิวส์

“ถ้าทางการไทยอยากที่จะหยุดคนเหล่านั้น ก็ย่อมทำได้ แต่ไม่ได้ทำ ดังนั้น ทางการไทยจึงตระหนักดีอยู่บ้างว่า จะต้องผดุงหลักมนุษยธรรมบางอย่างเอาไว้ โดยการยอมให้คนพม่าหนีเข้ามาในไทย”

อย่างไรก็ดี “กองทัพไทยไม่ได้เต็มใจ” ที่จะยอมให้คนหลบหนีการทิ้งระเบิดทางอากาศในเมียนมา ข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย และได้รับการคุ้มครองด้านมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน

ทางการไทย “เชื่อว่าถ้ายอมให้บางส่วนเข้ามา ก็จะมีคนอีกเป็นจำนวนมากหนีเข้ามาในไทย และไทยก็จะประสบวิกฤตผู้ลี้ภัยอีกครั้ง” ฟิล โรเบิร์ตสัน กล่าว “ซึ่งผมคิดว่า ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น”

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง