สองพรรคการเมืองค้านคำสั่ง คสช. รีเซ็ตสมาชิกพรรค

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.12.27
กรุงเทพฯ
171227_TH_POLITICS_620.jpg ผู้ชุมนุมกลุ่มสตาร์ทอัพพีเพิล รวมตัวที่ทางเชื่อมรถไฟฟ้าสยาม เพื่อขับไล่รัฐบาล คสช. วันที่ 15 ธันวาคม 2560
นนทรัฐ ไผ่เจริญ / เบนาร์นิวส์

แกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์แถลงต่อสื่อมวลชน ในวันพุธ (27 ธันวาคม 2560) นี้ แสดงความเห็นคัดค้านคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับใหม่ ที่กำหนดให้สมาชิกเก่าของพรรคการเมืองต้องลงทะเบียนกับทางพรรคอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าคำสั่งดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และจะทำลายระบบพรรคการเมือง

ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ให้แก้ไขมาตรา 140, 141 และ 142 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ซึ่งมีสาระสำคัญ ให้สมาชิกพรรคการเมืองยืนหลักฐานและแสดงตัวต่อหัวหน้าพรรคใหม่ทั้งหมด และพรรคการเมืองจะสามารถดำเนินกิจกรรมได้หลัง พ.ร.ป. ที่มา ส.ว.ฯ และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.ฯ บังคับใช้ ซึ่งตามกรอบเวลาที่กำหนด กฎหมายสองฉบับนี้จะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2561 โดยพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 นี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

“การออกคำสั่งของ คสช. เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่ชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยมิได้เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย ทำลายระบบพรรคการเมือง และสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรค เพิ่มภาระให้กับสมาชิกพรรคเกินกว่ากรณีที่จำเป็น และการใช้อำนาจเกินกว่าอย่างนี้ ทางพรรคถือว่ามีวาระซ่อนเร้น” พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว

แถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยตีความว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 นี้ เป็นการลบล้างสมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิมทั้งหมด หรือเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง และเกรงว่าการดำเนินกิจกรรมการเมืองต่างๆ จะไม่สามารถเดินหน้าได้ทันกับการเลือกตั้ง และกิจกรรมนั้น ๆ อาจขัดกับกฎหมาย เนื่องจากเงื่อนไขไม่ชัดเจน

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 กำหนดเงื่อนไขให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมสำคัญ เช่น ประชุมพรรค เลือกกรรมการพรรคตามกรอบเวลา 90-180 วัน แล้วแต่กรณี แต่จนถึงเดือนธันวาคม 2560 พรรคการเมืองยังไม่สามารถดำเนินการตามกำหนดของกฎหมายนั้นได้ เนื่องจาก ประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมือง ยังมีผลบังคับใช้

ดังนั้น ในระยะเวลาที่ผ่านมา สมาชิกพรรคการเมือง นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงได้เรียกร้องให้ คสช. ยกเลิกคำสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ตามเงื่อนไขของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ และ คสช. จึงได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ในวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้า คสช. ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันเดียวกันว่า การออกคำสั่งดังกล่าวไม่ใช่การลบล้างพรรคการเมือง หรือเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง แต่เป็นการสร้างความเท่าเทียมให้กับพรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองใหม่

“ไม่ได้เซ็ตซีโร่ จะเซ็ตซีโร่ได้ไง พรรคการเมืองก็อยู่อย่างเดิม เพียงแต่ว่าสมาชิกพรรคเท่านั้นเอง เพื่อพรรคใหม่ พรรคเก่า จะได้เริ่มต้นพร้อม ๆ กัน พรรคใหม่ก็ได้เดือนเดียว เขาก็ทำไปร่วมกัน พรรคเก่าพรรคใหม่ กรรมการบริหารพรรคยังอยู่ ตัวพรรคการเมืองก็ยังอยู่ เพียงแต่ว่าไปหาตัวสมาชิกพรรค 4 พรรค จังหวัดละ 100 เพียงแต่จ่ายเงินเท่านั้น จะปลดล็อคไปในลักษณะ 2 ขั้นตอน ทางธุรการขั้นหนึ่ง แล้วก็ขั้นการหาเสียงขั้นหนึ่ง เป็นไปตามโรดแมพ” พล.อ.ประวิตรกล่าว

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์จะพิจารณารายละเอียดของคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ว่า มีส่วนใดที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ หรือขัดกันเองหรือไม่ ซึ่งถ้าเห็นว่ามีส่วนที่กระทบหรือขัดกับรัฐธรรมนูญ จะดำเนินการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คำสั่งดังกล่าวแน่นอน

“คำสั่งยาวเป็นพิเศษ ในตัวก็เขียนอะไรหลายอย่าง อาจจะขัดกันในตัวบ้าง และมีความไม่ชัดเจนกันอีกหลาย ๆ เรื่อง… ถ้ามันขัดรัฐธรรมนูญ ก็เป็นไปได้ที่จะยื่น การจะยื่นมันจะเกี่ยวข้องในเรื่องของผลกระทบในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องภาระ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีปัญหา… การไม่ปลดล็อคของ คสช.กระทบที่สุดคือพรรคใหม่ แต่บังเอิญว่าตอนแก้ ไม่ได้แก้โดยปลดล็อค มันมาเพิ่มล็อค แล้วก็ช้าไปอีก 3 เดือน” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ขณะที่นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การออกคำสั่งของหัวหน้า คสช. ครั้งนี้ กระทบต่อสิทธิของสมาชิกพรรคการเมืองแน่นอน

“อุปสรรคของการดำเนินการไม่ได้ตาม พ.ร.ป. (พรรคการเมืองฯ) อุปสรรคเกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจเอง ที่ติดคำสั่งที่ 57/2557 …เหตุผลที่ต้องออกมาพูดเพื่อปกป้องสมาชิกพรรค เพื่อความถูกต้อง และเพื่อรักษาสิทธิให้กับสมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรค โดยเฉพาะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ การออกมาปกป้องสมาชิก 2.8 ล้านกว่าคน จะให้นิ่งดูดายหรือ จะให้รัฐบาลทหารทำอย่างไรก็ได้กับสถาบันทางการเมืองหรือ” นายราเมศกล่าว

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์เคยระบุต่อสื่อมวลชนว่า จะมีการจัดการเลือกตั้งในปี 2561 แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไปอีก หากขั้นตอนต่าง ๆ ในการออกกฎหมาย หรือการเตรียมการเลือกตั้งมีความจำเป็นต้องล่าช้าหรือชะลอ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง