กกต. จัดงบอุดหนุนการจัดเวทีถกเถียงร่างรัฐธรรมนูญ
2016.07.25
สมุทรปราการ
ในวันจันทร์ (25 ก.ค. 2559) นี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารงานการเลือกตั้ง ได้กล่าวว่า ในขณะนี้ การเตรียมความพร้อมสำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการลุล่วงไปแล้วร้อยละ 95 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้จัดเตรียมงบสำหรับให้แต่ละจังหวัดจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้เชิญทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่เห็นต่างร่วมพูดคุยด้วยทั้งสองฝ่าย
“กำหนดการในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ขอให้จัดให้เสร็จภายในวันที่ 3 สิงหาคม คิดว่าในเวทีครั้งนี้ น่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 400 คน รูปแบบการดำเนินการจะให้ผู้นำเสนอข้อมูลจาก 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายเห็นชอบและฝ่ายไม่เห็นชอบ มีโอกาสที่จะพูดคุยบนเวที ในจำนวนที่เท่ากัน” นายสมชัย กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
โดยบ่ายวันนี้ นายสมชัย ได้พาผู้สื่อข่าวไปที่โรงพิมพ์จันวาณิชย์ ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อร่วมสังเกตการณ์การขนส่งบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ไปยังหน่วยลงประชามติในพื้นที่ต่างๆ
“ในฝ่ายที่เห็นชอบนั้น คาดว่า สนช. (สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) น่าจะไปได้ทุกเวที ในส่วนของ กรธ. (กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) น่าจะไม่สะดวกที่จะไปช่วยในทุกเวทีได้ ดังนั้นในเวทีใดที่ กรธ.ไม่สะดวกก็จะอาศัยครู ก. (วิทยากรให้ความรู้ระดับจังหวัด) ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับสาระรัฐธรรมนูญไปช่วยอธิบายเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้” นายสมชัย กล่าว
“ส่วนฝ่ายที่เห็นต่าง หรือไม่เห็นชอบนั้น ก็จะเป็นเรื่องที่จังหวัดจะไปพิจารณาจัดหาบุคคลที่เหมาะสม อาจจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย กลุ่มเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง” นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติม
นายสมชัย ได้อธิบายอีกว่า การจัดเวทีชี้แจงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะใช้งบประมาณที่เหลือจากการจัดพิมพ์เอกสารข้อมูลการประชามติร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละจังหวัด ประกอบกับงบประมาณใหม่ที่ กกต. จะจ่ายให้แต่ละจังหวัด จังหวัดละ 150,000 บาท โดยคาดว่าในเร็วๆ นี้ ในแต่ละจังหวัดจะสามารถรายงานกลับมาว่า เวทีที่จะจัดในแต่ละจังหวัดจะจัดในเวลาใด
นายสมชัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ที่ประชุม กกต. ได้พิจารณาข้อเสนอที่รัฐบาลได้ติดต่อขอให้ กกต. จัดเวทีชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่ง กกต. เห็นชอบด้วยหลักการ จึงได้ส่งหนังสือเวียนไปยังผู้อำนวยการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดให้ดำเนินการจัดเวทีชี้แจงนี้โดยประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด
สำหรับการพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติฯ นั้น นายสมชัยให้ข้อมูลว่า บัตรออกเสียงที่ถูกพิมพ์ออกมากในครั้งนี้มีจำนวน 54.6 ล้านใบ โดยมีการออกแบบระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการปลอมแปลงบัตร 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ในบัตรออกเสียงประชามติ 1 ใบจะมี 2 สีที่แตกต่างกันในส่วนที่ 1 และ 2 ซึ่งสีของบัตรยังเก็บเป็นความลับเพื่อป้องกันการปลอมแปลง ขั้นที่ 2 มีการซ่อนตัวอักษรขนาดเล็กมากไว้ในบัตร ซึ่งเป็นการยากที่เครื่องพิมพ์ปกติจะสามารถพิมพ์ได้ ขั้นที่ 3 มีการพิมพ์ลายน้ำด้วยหมึกแบบพิเศษ ส่วนในขั้นที่ 4 และ 5 เป็นการใช้เทคโนโลยีระดับสูง แต่ กกต. จะไม่เปิดเผยว่าเป็นความพิเศษแบบใด เนื่องจาก กกต. จะใช้สำหรับการตรวจสอบ เมื่อเกิดปัญหาบัตรปลอม โดยชี้แจงว่า วิธีการพิมพ์ดังกล่าวเป็นวิธีที่ใหม่ และทันสมัยมาก ซึ่งทำให้การปลอมแปลงบัตรทำได้ยาก