กลุ่มก่อความไม่สงบเคลื่อนไหวตามสวนยางพาราในจังหวัดชายแดนใต้

รายงานโดย นาซือเราะ
2015.03.24
150324-TH-rubber-620 ชาวสวนยางในจังหวัดพังงากำลังกรีดยาง 1 ตุลาคม 2557 ภาพโดยเอเอฟพี
AFP

กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สร้างความหวาดกลัวแก่เกษตรกรสวนยางในพื้นที่ จนไม่สามารถกรีดยางในเวลากลางคืนได้ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีราคาต่ำลง

ทั้งนี้ มีกลุ่มผู้ก่อการร้าย มักจะมีการเคลื่อนไหวในยามวิกาลเพื่อพรางตัวในบริเวณพื้นที่ๆ เป็นสวนยางพารา ทำให้ชาวสวนเกิดความกังวลในความปลอดภัย จนไม่สามารถกรีดยางในขณะเวลาที่มีความเหมาะต่อการไหลของน้ำยางได้ ทำให้ยางจับตัวเป็นยางก้นถ้วย

นายมะซอบรีอาบู อายุ 37 ปี ชาวสวนยาง ในจังหวัดยะลา กล่าวต่อเบนานิวส์ว่า “จะออกไปกรีดยางกลางคืนก็กลัว ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ หลายๆ ครั้ง จะมีชายชุดดำอยู่ในสวนยาง เราก็กลัว ไม่รู้ว่าใคร ทำให้เราต้องเปลี่ยนเวลาในการกรีดยางไปเป็นกลางวัน จะส่งผลต่อการไหลของน้ำยาง ที่ไม่ดีเท่ากับการกรีดในเวลากลางคืน”

โดยปกติแล้ว การกรีดยาง ต้องทำในขณะที่อากาศเย็นเพื่อให้น้ำยางไหลได้ดี และสามารถนำมาทำเป็นยางแผ่นได้ แต่เมื่ออากาศร้อนขึ้น น้ำยางจะจับตัวเป็นก้อนแข็ง กลายเป็นยางก้นถ้วย หรือขี้ยาง ที่ราคาต่ำกว่าน้ำยางสดหรือยางแผ่นมาก

นายอิบรอเฮง เจะยูโซ๊ะ อายุ 57 ปี ชาวบ้าน จ.ยะลา กล่าวว่า คนในพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทำสวนยางเป็นอาชีพหลัก และมีการทำสวนผลไม้ในปริมาณรองลงมา แต่ในห้วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ ราคายางตกลงอย่างมาก  โดยเฉพาะเมื่อผลผลิตที่ได้เป็นเพียงขี้ยางหรือยางก้นถ้วย  ซึ่งจะมีราคาเหลือเพียงกิโลละ 10 บาท เท่านั้น

“จากที่เคยได้ค่าแรงกรีดยางวันละ 200 บาท เมื่อสองเดือนที่แล้ว ทุกวันนี้ เราได้รับค่าแรงเพียงวันละ 80 บาทเท่านั้น  ใช้ชีวิตทุกวันประหยัดจนไม่รู้ว่าจะประหยัดอย่างไรแล้ว ลูกที่ไปโรงเรียนบางวันต้องอดข้าวเที่ยง  กินให้อิ่มก่อนไปโรงเรียน แล้วกลับมากินอีกครั้งช่วงเย็น” นายอิบรอเฮง กล่าว

ราคายางกำลังจะสูงขึ้น

สำนักงานสงเคราะห์กองทุนการทำสวนยาง ได้รวบรวมสถิติไว้ที่แสดงให้เห็นว่าราคายางพารา ณ ตลาดยางพาราหาดใหญ่มีราคาตกลงอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน โดยราคายางรมควันชั้นสาม มีราคากิโลกรัมละ 132.43 บาทในปี 2554 แต่ราคาลดลงมาเหลือเพียง 57.86 บาทในต้นปี 2558

อย่างก็ตาม อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา คาดการณ์ว่า ในไตรมาสที่สองของปี 2558 นี้ราคายางน่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากว่าปัจจุบัน ราคายางตกลงจนถึงจุดต่ำสุดแล้ว และมีการป้อนยางพาราเข้าสู่ตลาดน้อย เพราะชาวสวนยางไม่มีแรงจูงใจในการผลิตยางป้อนตลาด

นายพิทักษ์ บุญคงแก้ว อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา กล่าวว่า “ภาคอุตสาหกรรมยางพารา  ปัจจัยด้านราคาจะกระทบต่อการส่งมอบในปัจจุบัน  ตลอดจนปริมาณวัตถุดิบที่จะป้อนโรงงานอาจลดลง เนื่องจากราคาไม่จูงใจต่อการกรีดยาง ตนมองว่าช่วงนี้ ราคายางพาราตกต่ำที่สุดแล้ว และช่วงไตรมาสสอง ปริมาณยางพารา ออกสู่ตลาดลดลง แต่ผู้ประกอบการจะเร่งซื้อยางพารา เพื่อเก็บเข้าสต็อค และจะส่งผลให้ราคายางดิบ น้ำยางสด เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

ตามตัวเลขของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการการเกษตร ในปี พ.ศ.  2557 ประเทศไทย สามารถผลิตยางพาราธรรมชาติได้ 4,3223,975 ตัน ในจำนวนนี้ ส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศถึง 3,770,649 ตัน โดยมีตลาดที่สำคัญที่ใหญ่ที่สุดคือ จีน ตามมาด้วย ประเทศมาเลเซีย ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศประชาคมยุโรป และอื่นๆ  คิดเป็นมูลค่าประมาณ 315,159 ล้านบาท

สำหรับจังหวัดยะลา  เป็นหนึ่งในจังหวัดในภาคใต้ที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ 50 อยู่ในภาคเกษตรกรรม ทั้งยางพารา ไม้ยางพารา และสวนผลไม้

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาส  มีประชากรรวมกันประมาณ 1,424,728 คน ใน 329,255 ครัวเรือน โดยประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากที่สุด คือ จำนวน 460,608 คน คิดเป็นร้อยละ 33.77  รองลงมาประกอบอาชีพรับจ้าง จำนวน 287,290 คน คิดเป็นร้อยละ 21.06

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง