ชาวสวนยางใต้ได้รับผลกระทบจากราคายางตกต่ำอย่างหนัก

มารียัม อัฮหมัด
2018.01.02
ยะลา
180102-rubber-620.jpg ครอบครัวของนายอัสมิง โต๊ะโยะ ชาวสวนยางพาราจากจังหวัดยะลา ขณะเล่าผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ วันที่ 2 มกราคม 2561
มารียัม อัฮหมัด/ยะลา

เจ้าหน้าที่บริษัทไฟแนนซ์เช่าซื้อรถยนต์ในจังหวัดปัตตานีเปิดเผยในวันอังคาร (2 มกราคม 2561) นี้ว่า เฉพาะเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีรถยนต์ถึง 540 คัน ถูกยึดเนื่องจากค้างชำระค่างวด ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องจากการที่ราคายางพาราตกต่ำราวสี่เท่าจากปี 2554 ทำให้ลูกหนี้ส่วนหนึ่งที่เป็นชาวสวนยาง ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ทัน

นายศีรวัฒน์ เจ๊ะกา พนักงานฝ่ายเร่งรัดหนี้สิน บริษัท ชูเกียรติ ลีสซิ่ง ปัตตานี เปิดเผยว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำมีส่วนสำคัญทำให้ลูกค้าของบริษัทไม่สามารถจ่ายเงินค่างวดรถยนต์ได้ตามนัด ทำให้ลูกค้าจำนวนหนึ่งถูกยึดรถยนต์ ซึ่งสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันได้ดี

“นับตั้งแต่ราคายางพาราตกต่ำ ทำให้ชาวสวนยางที่เช่าซื้อรถจากบริษัทอยู่ในภาวะที่แย่สุด ๆ ขาดส่งค่างวดรถยนต์เป็นจำนวนมาก อย่างยอดเดือนธันวาคมเดือนเดียวมีรถยนต์ที่ยึดมาได้ทั้งหมด 540 คัน พนักงานเร่งรัดหนี้สินต้องติดตามลูกหนี้เกือบทุกวัน นี่เฉพาะตัวเลขบริษัทเดียว และเดือนเดียวเท่านั้น” นายศีรวัฒน์กล่าว

“ชาวบ้านขาดค่างวด เพราะราคายางถูก ถ้ายางราคาดีกว่านี้ชาวบ้านคงไม่เดือดร้อน และถ้าราคายางยังอยู่ในสภาพเช่นนี้ ยอดการยึดรถคงจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะเศรษฐกิจในพื้นที่ผูกกับราคายางพารา อย่างวันนี้ เพิ่งยึดรถกระบะเชฟโรเลตแบบแเคป ปี 2011 มาคันหนึ่ง คิดดูว่าเจ้าของรถผ่อนแค่เดือนละ 2,640 บาท เขายังผ่อนไม่ทัน ก็สะท้อนชัดว่าเศรษฐกิจในพื้นที่มันแย่ขนาดไหน” นายศีรวัฒน์กล่าวเพิ่มเติม

นายมะซอบรี อาบู ชาวสวนยางพารา ซึ่งถูกยึดรถยนต์เนื่องจากไม่สามารถนำเงินมาจ่ายค่างวดได้ตามนัด เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ยอมให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทไฟแนนซ์มายึดรถยนต์ เนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ตามกำหนด แม้ว่าใกล้จะผ่อนชำระครบทุกงวดแล้วก็ตาม

“ฝ่ายเร่งรัดหนี้ต้องมายึดรถยนต์ เพราะขาดค่าส่งงวดหลายเดือน ค่างวดรถเดือนหนึ่ง 4,500 บาท ก็ต้องยอมให้ยึด เพราะเราไม่มีเงินผ่อนชำระค่างวด แม้จะเหลือไม่มากก็ต้องยอม วันไหนมีโชคอีกก็อาจได้ใช้อีก ตอนนี้เราแย่ก็ต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น” นายมะซอบรีกล่าว

ด้านนายอัสมิง โต๊ะโยะ ชาวสวนยางพาราจากจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ครอบครัวของตนเองได้รับผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำมาก ในบางช่วงเวลาไม่มีเงินสำหรับการซื้ออาหารให้สมาชิกครอบครัวกิน และไม่มีเงินซื้อนมให้บุตรดื่ม

“เขาร้องตลอดเพราะหิว ให้กินข้าวเขาไม่กิน กินแต่น้ำเปล่า จนถ่ายออกมามีแต่น้ำ ร้องไห้เพราะปวดท้อง ต้องต้มใบฝรั่งให้กิน ถึงอาการดีขึ้น เป็นแบบนี้มา 4 เดือนแล้ว เราผู้ใหญ่ไม่มีเงินซื้อกับข้าว สามารถเข้าไปในป่าหาของป่ามากินได้ แต่เด็กเล็ก เขากินแต่นม ไม่มีนมกินเขาก็ได้แค่ร้องไห้ จะกินนมแม่ นมแม่ก็ไม่ออก ไม่พอกับที่เขาต้องกิน จึงต้องให้กินแบบผสม” นายอัสมิงกล่าว

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ไฟฟ้าส่วนภูมิภาคท่านหนึ่งกล่าวว่า ในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีประชาชนค้างจ่ายค่าไฟฟ้าหลายราย จนต้องล้างหนี้ให้แล้วหนึ่งครั้ง

“ส่วนใหญ่จะบอกว่าเกิดจากราคายางถูก ชาวบ้านมีรายได้ลดลง เฉพาะในอำเภอยะหา ของจังหวัดยะลา ค้างค่าไฟ 3 ล้านกว่าบาท หลังจากล้างบางไป ตอนนี้เหลือที่ค้างแค่ 3 หมื่นกว่าบาทแล้ว” นายสงบ เรืองศรี ผู้จัดการสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

สถานการณ์ราคายาง

ปัจจุบัน ราคาการรับซื้อยางพาราในท้องถิ่น จ.ปัตตานี พบว่า อยู่ระหว่าง 34-38 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับยางแผ่นดิบ และเศษยางราคา 15-17 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาซื้อยางพาราแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คือ 44.33 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งพบว่าตกต่ำกว่าช่วงเดียวกันในปี 2560 ที่มีราคายางพาราแผ่นดิบอยู่ที่ 73.7 บาทต่อกิโลกรัม

เมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้ออกประกาศควบคุมการตัดยางในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ เพื่อควบคุมผลผลิต และหวังกระตุ้นราคาให้สูงขึ้น แต่ทำให้ชาวสวนยางหลายรายต้องขาดรายได้

เพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในระยะยาว รัฐบาลได้ประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ว่า จะใช้มาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราในปี 2561 หลายมาตรการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำให้ราคายางสูงกว่า 65 บาทต่อกิโลกรัมได้ โดยมาตรการดังกล่าวจะใช้เงินทุนรวมหลายหมื่นล้านบาท เพื่อดำเนิน 7 โครงการ คือ

หนึ่ง โครงการสนับสนุนเงินหมุนเวียนแก่สถาบันการเกษตรต่าง ๆ 10,000 ล้านบาท เพื่อการรวบรวมยางพาราจากเกษตรกร โดยมีค่าใช้จ่ายเบี้ยประกัน 0.36 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี  สอง โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน 20,000 ล้านบาท ให้ผู้รับซื้อยางเพื่อดูดซับยางพารา 350,000 ตัน ออกจากตลาดในห้วงปี 2561 โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี  สาม โครงการสนับสนุนให้ 7 กระทรวง ซื้อยางพารานำมาใช้ 200,000 ตัน มูลค่า 12,000 ล้านบาท โดยใช้งบกลางสำรองจ่าย

สี่ โครงการควบคุมผลผลิต โดยจะลดพื้นที่ปลูกชั่วคราว 200,000 ไร่ ลดพื้นที่ปลูกถาวร 200,000 ไร่ และลดปริมาณสวนยางที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐกว่า 100,000 ไร่  ห้า โครงการตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางร่วมกันระหว่างการยางพาราแห่งประเทศไทยและผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 บริษัท ซึ่งจะมีการหารือเพิ่มเติมต่อไป และทบทวนโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว  หก โครงการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อการขยายหรือปรับปรุงการผลิต รัฐบาลเคยอนุมัติวงเงินไว้ 15,000 ล้านบาท แต่มีผู้ขอรับสินเชื่อไม่ครบ จึงขยายโครงการไปถึงเดือนมิถุนายน ศกหน้า และเจ็ด โครงการรัฐบาลอนุมัติการสนันสนุนสินเชื่อให้แก่กลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ในอัตราดอกเบี้ย 0.49 เปอร์เซ็นต์ต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง