รมว.ต่างประเทศจีน เดินหน้าแผนริเริ่มการพัฒนาโลกของรัฐบาลจีน
2022.07.05
กรุงเทพฯ
นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เดินทางเยือน 5 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในห้วงเกือบสองสัปดาห์ โดยตั้งเป้าจะผลักดันแผนใหม่ของรัฐบาลจีนที่จะสนับสนุนการพัฒนาทั่วโลกด้วย "ภูมิปัญญาจีน" ที่เรียกว่าแผนริเริ่มการพัฒนาโลก หรือ Global Development Initiative หรือ GDI
นายหวัง อี้ เดินทางมาถึงฟิลิปปินส์ในคืนวันอังคาร หลังจากเสร็จสิ้นการเยือนเมียนมาและไทย ในช่วงเริ่มต้นของการเดินทาง 12 วัน นอกจากนี้ เขายังมีแผนจะไปเยือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 14 กรกฎาคม ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศของจีน
ด้านนักวิเคราะห์เปิดเผยว่า นี่เป็นความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า จีนมีความมุ่งมั่นต่อเพื่อนบ้าน แม้จะมีความขัดแย้งระดับโลกที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในยูเครน การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดในเยอรมนี ซึ่งผู้นำของกลุ่ม G7 มุ่งมั่นที่จะระดมเงินมากกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นเงินทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา และเพื่อต้านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative - BRI) ของจีน
ในวันอังคารนี้ นายหวัง อี้ ได้เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทย เพื่อพูดคุยและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทย
“แม้ว่าสถานการณ์ของโลกจะวุ่นวายและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทยจะมั่นคงตลอดไป ระหว่างเรานั้นมีเพียงมิตรภาพและความร่วมมือ” หวัง อี้ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับ นายดอน
“เราทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันในหลายประเด็น เราตกลงร่วมกันสร้างสังคมเพื่ออนาคตของจีนและไทย เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมมือกันในอนาคตของทั้งสองประเทศ ชาวจีนและไทยไม่ใช่คนแปลกหน้า แต่เป็นเครือญาติ เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น” หวัง อี้ กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม นายนูร์ รัชมัต ยูเลียนโทโร อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา ประเทศอินโดนีเซีย ระบุว่าการเดินทางของ หวัง อี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นการพยายามสื่อว่า จีนจะไม่เพิกเฉยต่อภูมิภาคนี้ แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่โลกผันผวน
“จีนมีบทบาทสำคัญต่อการพลวัตการเมืองและความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทบาทและอิทธิพลของจีนไม่อาจละเลยได้ กล่าวโดยสรุปคือ จีน ต้องการยืนยันว่าตนเองเป็นประเทศที่เป็นมิตรและมีผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาคนี้” นูร์ รัชมัต บอกเบนาร์นิวส์
นายหวัง อี้ พูดถึงการทูตทุเรียนระหว่างการเยือนกรุงเทพฯ และได้มุ่งเน้นความสัมพันธ์ของจีนกับอาเซียน ซึ่งมีลาวและไทยร่วมเป็นสมาชิก
“ผมเชื่อว่าเราทั้งสามประเทศสามารถผลิตทุเรียนพาสเจอร์ไรซ์ เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทยได้” นักการทูตจีนระดับสูงกล่าว ในขณะที่เขาพูดเกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงจีนกับลาวและไทย
“เป้าหมายคือการขับเคลื่อนด้านโลจิสติกส์ การค้า และการลงทุนในอุตสาหกรรมทั้งสามประเทศ เราทำเส้นทางนี้เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนในสามประเทศ” หวัง อี้ ระบุ
นายดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นว่าการเดินทางมาครั้งนี้ของ นายหวัง อี้ "เหมือนเป็นการตอกย้ำอิทธิพลจีนในกรอบแม่โขง-ล้านช้าง โดยเน้นโครงการ BRI ที่เชื่อมจีน ไทย ลาว"
จีน คาดการณ์มูลค่าโครงการ BRI ไว้สูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณกว่า 35.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นโครงการสร้างระบบพื้นฐานเครือข่ายเส้นทางรถไฟ ท่าเรือ และสะพาน ใน 70 ประเทศ
การเดินทางยังมุ่งเน้นไปที่ “การกระชับมิตรกับรัฐในอาเซียนเพื่อป้องกันการรุกของสหรัฐฯ ในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งเริ่มเข้ามาแผ่กำลังที่ทะเลจีนใต้และช่วยเหลือไต้หวันมากขึ้น” นายดุลยภาค กล่าวกับเบนาร์นิวส์
แนวคิด GDI ของจีน ยังคงคลุมเครือ
ผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งคาดว่า จีนจะมุ่งมั่นส่งเสริมข้อริเริ่มในการพัฒนาระดับโลก (GDI) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มากกว่าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ในไม่กี่เดือนที่จะมาถึงนี้
นาย กีด์ มัวร์ อดีตรัฐมนตรีไลบีเรีย ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการอาวุโสของศูนย์ศึกษาการพัฒนาโลกในวอชิงตัน กล่าวว่า GDI กำลังจะกลายเป็นสิ่งที่ BRI เคยเป็น ซึ่งรัฐมนตรีการต่างประเทศกำลังพยายามส่งเสริมไอเดียนี้ การโปรโมต GDI คือเป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้
“GDI เป็นทฤษฎีของจีนเกี่ยวกับสินค้าสาธารณะทั่วโลก และแนวทางการพัฒนาระหว่างประเทศที่ควรเป็น”
นาย มัวร์ กล่าวอีกว่า GDI ยังคงเป็นแนวคิดที่คลุมเครือ และขายง่ายจนหลายประเทศสามารถเข้าร่วมได้โดยที่ไม่รู้จริง ๆ ว่ามันคืออะไร และนั่นจะทำให้รัฐบาลปักกิ่งสามารถแสดงจำนวนของผู้ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ได้
ด้าน นางซาราห์ คลิฟฟ์ นักวิเคราะห์จากศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า จีนกำลังจะจับประเด็นที่ประเทศตะวันตกได้ล้มเลิกไปแล้ว เมื่อพวกเขาไม่สามารถจัดหาเงินทุนให้กับประเทศที่ยากจน ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19
“GDI ยังคงคลุมเครือ แต่บ่อยครั้งก็มักถูกเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ GDI มีแนวคิดที่กว้างกว่า BRI” ซาราห์ คลิฟฟ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
สิ่งที่ นางซาราห์ คลิฟฟ์ มั่นใจ ก็คือการประชุมสุดยอด G7 และการเดินทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหวัง อี้ นั้น มีความเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม นายหวัง อี้ เดินทางถึงกรุงมะนิลา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยเขาเป็นทูตต่างประเทศคนแรกที่ไปเยือนประเทศพันธมิตรเก่าแก่ด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่ผู้นำคนใหม่ของฟิลิปปินส์ นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
พร้อมกันกับที่เอกอัครราชทูตจีนประจำมะนิลา นายหวง ซีเหลียน โพสต์บนเฟซบุ๊ก ระบุว่าการเยือนครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นชัดว่า จีนให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคีของประเทศเราอย่างไร
นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ กล่าวเมื่อวันอังคารว่า รัฐบาลชุดใหม่ของเขาจะกระชับความสัมพันธ์กับจีน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนทางทหาร ท่ามกลางความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องในทะเลจีนใต้ เกี่ยวกับเรือจีนในน่านน้ำที่ฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์ โดยหวัง อี้ เตรียมเข้าพบกับ นายเอ็นริเก้ มานาโล รัฐมนตรีการต่างประเทศฟิลิปปินส์คนใหม่ในวันพุธนี้
นอกจากนี้ นายหวัง อี้ จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G20 ที่บาหลี ในวันศุกร์นี้ ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่า เขาจะได้พบกับผู้นำระดับสูงของอินโดนีเซียอีกหลายคน
ประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 7
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 7 (Mekong-Lancang Cooperation - MLC) ที่เมืองพุกาม โดยมีจีนและเมียนมาเป็นประธานร่วม
รัฐมนตรีต่างประเทศประเทศสมาชิก ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง หรือ MLC ได้ทบทวนความคืบหน้าของความร่วมมือภายใต้กรอบ MLC และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ MLC เพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกัน เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด ความตึงเครียดระหว่างประเทศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและน้ำ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยที่ประชุมเห็นพ้องสนับสนุนความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ดังนี้ การรวมตัวทางเศรษฐกิจ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาสีเขียว นวัตกรรม สาธารณสุข และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน
ทั้งนี้ จีนได้เสนอข้อริเริ่มสำคัญในสาขาความร่วมมือ 6 สาขา ได้แก่ การเกษตร น้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจดิจิทัล อวกาศและดาวเทียม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสาธารณสุข
อนึ่ง MLC จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 (โดยมีการประชุมผู้นำ MLC ครั้งที่ 1) ซึ่งเป็นความริเริ่มของไทย และมีประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม
ไชลาจา นีลากันตัน ในวอชิงตัน วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ คามิลล์ เอลีเมีย ในมะนิลา และอารี เฟอร์ดัส และแดนดี กอสวราปุตรา ในจาการ์ตา ร่วมรายงาน