ศาลอุทธรณ์สั่งคุก พชร 2 ปี คดี ม. 112 ฐานหมิ่นในหลวงใช้คุณไสย
2024.06.06
กรุงเทพฯ
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาให้จำคุก นายพชร (สงวนนามสกุล) เป็นเวลา 2 ปี ไม่รอลงอาญา จากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊กพาดพิงในหลวง ร. 10 และพระราชินี เกี่ยวกับเรื่องคุณไสย โดยเป็นการกลับคำพิพากษาจากศาลชั้นต้นที่เคยยกฟ้องไว้ เพราะหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือพอ
“ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ คดี ม. 112 พรบ.คอมฯ พชร ฟรีแลนซ์ วัย 35 ปี โดยเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ
หลังจากฟังคำพิพากษา นายพชร ไม่มีโอกาสพูดคุยกับสื่อมวลชน และถูกเจ้าหน้าที่พาตัวไปควบคุมทันที
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ทนายความของนายพชรกำลังยื่นขอประกันตัวจำเลย เพื่อต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป
นายพชร ถูก น.ส. อุราพร สุนทรพจน์ ชาวจังหวัดสมุทรปราการ แจ้งความดำเนินคดี ม. 112 และ พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการเขียนข้อความ 2 ข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊ก รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส พาดพิงในหลวง ร. 10 และพระราชินี เกี่ยวกับการใช้คุณไสย และพฤติกรรมทางเพศ ช่วงปี 2563
กันยายน 2564 นายพชร ถูกพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้วออกหมายเรียก นายพชรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยระบุว่า เฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาไม่ใช่ของตนเอง และส่งตัวฝากขังระหว่างการสอบสวน อย่างไรก็ตามศาลอนุญาตให้นายพชร ประกันตัวหลังใช้เงินสด 1.5 แสนบาทประกันตัว
ศาลจังหวัดสมุทรปราการ นัดสืบพยานในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 กระทั่งมีคำพิพากษาในวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ให้ยกฟ้องนายพชร เนื่องจากหลักฐานไม่น่าเชื่อถือพอ
“เมื่อพยานโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่นที่รับฟังได้ และจำเลยไม่ได้ให้การรับรองคำให้การในชั้นสอบสวน พยานหลักฐานจึงไม่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ความจริงได้ และพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้มีการตรวจสอบ URL หรือ IP Address ของพยานหลักฐานดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์มีความน่าสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องอย่างไร จึงยกประโยชน์ของความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษาตอนหนึ่ง ระบุ
หลังฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น นายพชร ระบุว่า “ผมรู้สึกดีใจ และพอใจกับคำพิพากษาในวันนี้ คดีนี้ทำให้ผมเสียเวลาในการทำงาน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากแล้ว”
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้ว อย่างน้อย 1,954 คน จาก 1,296 คดี
ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 272 คน จาก 303 คดี และปัจจุบัน มีผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมืองอย่างน้อย 42 คน ในนั้นเป็นผู้ต้องขังคดี ม. 112 จำนวน 26 คน
ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า รัฐบาลควรเดินหน้ากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยด้วยการยกเลิกใช้กฎหมายปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน
“หลังรัฐประหาร ปี 57 อำนาจเผด็จการสถาปนาคณะทหารให้เหนือกว่าพลเรือน กลายเป็น ผลกระทบเชิงโครงสร้างในระยะยาว เครื่องมือและอุดมการณ์กำจัดศัตรูทางการเมืองของเผด็จการยังคงอยู่ นั่นคือ การใช้ ม. 112 ปิดปากคนเห็นต่าง และการสนับสนุนค่านิยมอำนาจนิยมและวาทกรรมปกป้องสถาบันด้วยความรุนแรง” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
"การใช้อำนาจเผด็จการดังกล่าวทำให้ผู้คนก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องมากขึ้น ขณะเดียวกันพลังการเมืองใหม่ ๆ ที่เน้นหลักประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นมาเป็นความหวัง รัฐบาลเองก็ควรยกเลิกการใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพประชาชน เพื่อนำพาประเทศกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน