น้ำท่วมเสียชีวิตแล้ว 30 ราย ยังสูญหาย 1 ราย
2024.09.02
กรุงเทพฯ
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 มีผู้เสียชีวิตสะสมจากอุทกภัย หรือน้ำท่วมแล้ว 30 ราย สูญหาย 1 ราย ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) แจ้งเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันระหว่างวันที่ 3-7 กันยายน 2567 นี้
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลติดตามปัญหาน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด และกำลังหาทางแก้ไขปัญหา
“น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญกับปัญหาของพี่น้องประชาชน จึงได้มีการลงพื้นที่มาติดตามสถานการณ์ และหาแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว พร้อมให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบภัย กำลังจะช่วยเร่งแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ ผมเข้าใจเป็นอย่างดีว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ต้องรับความเดือดร้อนขนาดไหน จึงพยายามผลักดันการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเต็มที่” นายสมศักดิ์ กล่าว
สธ. เปิดเผยว่า ได้ส่งทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 587 ทีม ไปในพื้นที่จังหวัดเชียงราย อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ พะเยา น่าน นครสวรรค์ ลำปาง และพิจิตร เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง และผู้พิการ
“จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตสะสม 30 ราย บาดเจ็บสะสม 45 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบสะสม 34 แห่ง การดูแลสุขภาพประชาชน โรคที่พบมากที่สุดคือ น้ำกัดเท้า รองลงมา ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ระบบกล้ามเนื้อ/กระดูก ระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนัง เป็นต้น” สธ. เปิดเผย
ขณะที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ระบุว่า มี 6 จังหวัดที่ยังเผชิญอุทกภัย คือ เชียงราย พื้นที่ อำเภอเมือง เทิง ขุนตาล พญาเม็งราย และเวียงแก่น เชียงใหม่ พื้นที่อำเภอแม่ริม) ลำปาง พื้นที่อำเภอแจ้ห่ม และงาว สุโขทัย พื้นที่อำเภอเมือง ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง ศรีนคร และกงไกรลาศ พิษณุโลก พื้นที่อำเภอบางระกำ และพรหมพิราม รวมทั้ง หนองคาย พื้นที่อำเภอเมือง ท่าบ่อ ศรีเมืองใหม่ สังคม และรัตนวาปี
สนทช. คาดการณ์ว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
“ช่วงวันที่ 3-7 กันยายน ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม ปริมาณน้ำรวม 58 % ของความจุเก็บกัก 4.65 หมื่นล้าน ลบ.ม.” สนทช. เปิดเผย
โดยแจ้งเตือนให้บางจังหวัดให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ประกอบด้วย ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล
“ได้ให้จัดเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างเคร่งครัด” นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผย
ทั้งนี้ สนทช. ยังเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำ และคลองให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมเป็นพิเศษ ประกอบด้วย แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด แม่น้ำเจ้าพระยา คลองโผงเผง คลองบางบาล และแม่น้ำน้อย
ต่อสถานการณ์น้ำท่วม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กำลังระดมเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปช่วยฟื้นฟูพื้นที่น้ำลดแล้ว
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสูบน้ำท่วมขัง ฟื้นฟูและล้างทำความสะอาดอาคารบ้านเรือนประชาชน รวมทั้งโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ยังคงกำชับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้ดูแลราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าสูงขึ้นในช่วงที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน” นายภูมิธรรม กล่าว