'ไผ่ ดาวดิน' ได้รับการปล่อยตัว
2022.02.10
กรุงเทพฯ

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้วในช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีนี้ หลังเจ้าตัวถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ม. 112 นานกว่า 6 เดือน ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเงื่อนไขว่า นายจตุภัทร์ต้องใส่อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring-EM) และห้ามทำกิจกรรมที่กระทบสถาบันกษัตริย์
“รู้สึกดีที่ได้ออกมา เพราะไม่มีใครควรไปอยู่ข้างในตั้งแต่แรกอยู่แล้ว อยากกินลาบ กินก้อย อาหารอีสาน ตอนอยู่ในนั้นก็คิดถึงอิสรภาพ คิดถึงทุกคน บรรยากาศการเคลื่อนไหว คิดถึงพ่อ แม่ คิดถึงครอบครัว” นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กล่าวกับสื่อมวลชนหลังได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 19.30 น.
“การต่อสู้ยังคงมี แต่รอติดตามว่าพวกเราจะยังไง การเคลื่อนไหวต้องมีการต่อเนื่อง ที่ใดมีการกดขี่ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ อยากบอกพ่อแม่ว่า ออกมาแล้ว เดี๋ยวไปหา ไปดูแล ที่ผ่านมา ไปกินข้าวด้วยไปทำกับข้าวให้กิน” นายจตุภัทร์ กล่าวเพิ่มเติม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลจังหวัดภูเขียว ชัยภูมิ มีคำสั่งในช่วงบ่ายอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุภัทร์ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังจากที่ทนายความได้ยื่นเรื่องขอประกันตัว โดยมีเหตุผลว่า บิดา-มารดาของนายจตุภัทร์ ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ
รวมทั้ง นายจตุภัทร์ ยังเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และอยู่ระหว่างการอบรมศึกษาเพื่อสอบขอรับใบอนุญาตว่าความในฐานะทนายความ มีหน้าที่จะต้องเข้าเรียนและสอบ จึงขอปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อไปดูแลบุพการี และเรียน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุผ่านทวิตเตอร์ ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ประกันตัว ไผ่ ในคดีม็อบ 18 พฤศจิกายน 63 กำหนดเงื่อนไข ห้ามทำกิจกรรมกระทบสถาบันฯ ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่ก่อความวุ่นวาย ห้ามขัดขวางกระบวนพิจารณาต่อศาล ห้ามจำเลยออกนอกเคหะสถานยามวิกาล ต้องติดกำไล EM พร้อมวางหลักประกัน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
ต่อมาในตอนบ่าย ศาลจังหวัดภูเขียวให้ประกัน ไผ่ ในคดีปราศรัยในกิจกรรมหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก และวางหลักประกัน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ รวมเป็นวงเงินประกันทั้งหมด 3 แสนบาท
ทั้งนี้ นายจตุภัทร์ มีคดีที่ถูกฟ้องเกี่ยวกับ ม. 112 และคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 19 คดี ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 จากการตกเป็นผู้ต้องหาในคดีสาดสีที่หน้า สน.ทุ่งสองห้อง ในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 และไม่เคยได้รับการปล่อยตัวเลยเป็นเวลากว่า 6 เดือน โดยนายจตุภัทร์ เป็นหนึ่งในแกนนำชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเริ่มต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 มีข้อเรียกร้องให้ 1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
และเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีคำสั่งให้ประกันตัว นายจตุภัทร์ ใน 3 คดี ประกอบด้วย คดีจากการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563, คดีชุมนุมคณะราษฎรอีสาน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 และคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง วันที่ 3 สิงหาคม 2564 โดยใช้หลักประกันรวม 270,000 บาท แต่ยังไม่ได้ถูกปล่อยตัว จนกระทั่งได้รับประกันในสำนวนคดีอื่นในวันพฤหัสบดีนี้
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ศาลได้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบด้วย 1. ห้ามจําเลยทํากิจกรรมหรือกระทําการใดๆ ที่อาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทําการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล 2. ห้ามจําเลยเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 3. ห้ามจําเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร จนกว่าศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
4. ห้ามจําเลยออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 18.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และ 5. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 และแต่งตั้ง ผศ.ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้กำกับดูแลให้นายจตุภัทร์มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน
นับตั้งแต่มีการชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 จนสิ้นเดือนมกราคม 2565 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 1,767 คน ใน 1,009 คดี มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมของตำรวจกว่า 100 ราย โดยในนั้นมีเด็ก เยาวชน และสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการสรุปจำนวนผู้บาดเจ็บที่แน่ชัด
ปัจจุบัน ยังมีแกนนำการชุมนุมบางคนถูกควบคุมตัวระหว่างการดำเนินคดี และพิจารณาคดี คือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายอานนท์ นำภา ซึ่งทั้งหมดถูกฟ้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม และ ม. 112
“เพื่อนที่อยู่ข้างใน สภาพก็แข็งแรง อานนท์ก็ออกกำลังกาย ปรับตัวในการใช้ชีวิต หาอะไรทำในแต่ละวันให้มันไม่น่าเบื่อ ทุกคนก็ยังเข้มแข็งดี พร้อมที่จะต่อสู้ตลอดเวลา จนกว่าจะได้รับชัยชนะ” นายจตุภัทร์ กล่าวถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
ศรุมณย์ นรฤทธิ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน