'ไมค์ ระยอง' ได้รับการปล่อยตัว หลังศาลอยุธยาให้ประกันตัว
2022.02.11
กรุงเทพฯ

นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้วในช่วงค่ำของวันศุกร์นี้ หลังเจ้าตัวถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ม. 112 นานกว่า 6 เดือน โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะที่แกนนำผู้ประท้วงรัฐบาลที่สำคัญอีกสองราย คือ นายอานนท์ นำภา และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ยังคงถูกฝากขังอยู่เช่นเดิม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ในการปล่อยตัวครั้งนี้ ศาลมีเงื่อนไขห้ามไม่ให้นายภานุพงศ์ทำกิจกรรมที่กระทบสถาบันกษัตริย์ซ้ำ และให้นายภานุพงศ์ใส่อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring-EM) เพื่อการระบุตำแหน่ง
นายภานุพงศ์ ได้สวมกอดนางยุพิน มณีวงศ์ ผู้เป็นมารดา หลังถูกปล่อยตัวเมื่อเวลา 18.20 น. ท่ามกลางผู้สนับสนุนจำนวนมาก
“ต้องโทษตัวเราเองที่พาแม่มาลำบาก แต่ดีใจที่แม่ยังสู้อยู่กับเรา ความในใจคือ อยากจะขอบคุณทุก ๆ กิจกรรมที่ทำให้เรา ไม่ว่าจะยืนที่เชียงใหม่ อุบล นนทบุรี หน้าศาลฎีกา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทุก ๆ ครั้งที่เราผิดหวังจากกระบวนการยุติธรรม เราจะได้รับกำลังใจจากป้า ๆ ลุง ๆ ทุกคนที่มาคอยยื่นให้เราตลอดเวลา” นายภานุพงศ์ กล่าว
“มันผิดหวังมาหลายรอบแล้ว วันนี้ก็สมหวังซะที เขามีอุดมการณ์ของเขา แต่ในความเป็นแม่ เขาก็ยังเป็นลูกเล็กของเรา ก็ยังเป็นห่วงอยู่ดี ตอนนี้ ศาลคิดถูกที่ให้ไมค์ออก เราเป็นแม่คน เราก็ไม่อยากให้ลูกเราอยู่อย่างนั้น ถ้าไมค์ไปทำให้ใครตาย โอเค แม่ยอมรับความจริงได้ว่าไมค์ผิด ต้องไปอยู่ในนั้น แต่กรณีนี้ เป็นเรื่องของการเมือง เขามีสิทธิทุกอย่างที่ควรจะเคลื่อนไหวได้ เรียกร้องได้” นางยุพิน มารดาของนายภานุพงศ์ กล่าวกับสื่อมวลชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ทนายได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว นายภานุพงศ์ ด้วยเหตุผลว่า นายภานุพงศ์ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และครอบครัวมีธุรกิจทุเรียนทอดที่นายภานุพงศ์เป็นกำลังหลักในการบริหารธุรกิจ ซึ่งมารดามีสุขภาพไม่แข็งแรงไม่สามารถบริหารกิจการได้ จึงมีความจำเป็นต้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อให้นายภานุพงศ์สามารถออกมาเรียนหนังสือ บริหารธุรกิจ และดูแลมารดา
“ในชั้นนี้ไม่มีพฤติการณ์ว่าจำเลยที่ 2 จะหลบหนีคดี เห็นควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาได้ โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลย ทำกิจกรรมหรือกระทำการใดอันอาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสถาบันศาลในทุกด้าน” ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยศาล ระบุ
ศาลยัังได้กำหนดเงื่อนไข ห้ามนายภานุพงศ์ เข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 18.00 - 06.00 น. เว้นแต่เพื่อการรักษาพยาบาล หรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล และ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่หากผิดสัญญาการขอปล่อยตัว จะมีค่าปรับ 150,000 บาท
ทั้งนี้ นายภานุพงศ์ ถูกฟ้องร้องในคดี ม. 112 และคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม รวม 30 คดี ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 และไม่เคยได้รับการปล่อยตัวเลยเป็นเวลากว่า 6 เดือน ซึ่งล่าสุดศาลได้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวในหกคดี
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นายภานุพงศ์ ได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่งคราวใน 4 คดี คือ 1. คดีจากการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 2. คดีจากการชุมนุม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ 3. คดีจากการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 และ 4. คดีจากการชุมนุมสาดสี-ปาไข่ หน้า ม.พัน 4 รอ. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 โดยรวม 4 คดีใช้เงินประกันรวม 435,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
ต่อมาวันพฤหัสบดี นายภานุพงศ์ ได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวใน 2 คดี คือ 1. คดีชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 และ 2. คดีชุมนุมหน้า สภ. ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยทั้ง 2 คดีใช้เงินประกันรวม 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และศาลได้แต่งตั้ง ผศ.ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้กำกับดูแลให้นายภานุพงศ์ให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน
แกนนำยังถูกฝากขังอีกหลายราย
นับตั้งแต่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 จนสิ้นเดือนมกราคม 2565 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 1,767 คน ใน 1,009 คดี มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมของตำรวจกว่า 100 ราย โดยในนั้นมีเด็ก เยาวชน และสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการสรุปจำนวนผู้บาดเจ็บที่แน่ชัด
ปัจจุบัน ยังมีแกนนำการชุมนุมบางคนถูกควบคุมตัวระหว่างการดำเนินคดี และพิจารณาคดี คือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และนายอานนท์ นำภา ซึ่งทั้งหมดถูกฟ้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม และ ม. 112
นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย กล่าวว่าการปล่อยตัวแกนนำการชุมนุมหลายคนในช่วงไม่นานมานี้ อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลกำลังพยายามปรองดองกับผู้เห็นต่างทางการเมืองอยู่
“ถ้าดูในระยะสั้นการปล่อยตัวแกนนำเป็นข่าวดี แต่ยังไม่ดีที่สุด เพราะยังมีคนที่ถูกขังระหว่างรอพิจารณาคดี ซึ่งสามารถถูกขังไปเรื่อย ๆ จนกว่าคดีจะสิ้นสุดก็ได้ ถ้ารัฐอยากแสดงความปรองดองกับคนที่เห็นต่าง ก็ควรให้ประกันทั้งหมด ถ้าดูระยะยาว การกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ก็เท่ากับรัฐกดเพดานการเรียกร้องให้ต่ำยิ่งกว่าก่อนมีการชุมนุม เพราะมีการห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง วิจารณ์สถาบันกษัตริย์” นายสุณัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ตอนนี้ แกนนำออกมาก็เรียกร้องไม่ได้ เพราะจะผิดเงื่อนไขการประกันตัว ทำให้เสรีภาพหดแคบลง เชื่อว่ารัฐมองว่าตัวเองได้เปรียบจากการที่ปล่อยตัวและกำหนดเงื่อนไข เพื่อบีบไม่ให้มีโอกาสที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองจะกลับมาได้” นายสุณัย ระบุผ่านโทรศัพท์
ด้านนายภานุพงศ์ กล่าวกับสื่อมวลชนและประชาชนที่มารอให้กำลังใจหลายสิบคนว่า ยังรอเพื่อน ๆ ที่เหลือในเรือนจำอีก ไม่ว่าจะเป็นนายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), กลุ่มทะลุแก๊ส, ทะลุฟ้า ซึ่งทุกคนต่างคนต่างสู้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง กล้าหาญ
Thai News Pix ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน