สิทธิโชค ผู้ต้องหา ม.112 เข้าโรงพยาบาลหลังอดอาหารและน้ำ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.02.01
กรุงเทพ
สิทธิโชค ผู้ต้องหา ม.112 เข้าโรงพยาบาลหลังอดอาหารและน้ำ ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่ของนายสิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ต้องหา ม.112 ที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์
[ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในวันพุธนี้ นายสิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ต้องหา ม.112 ที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ หลังจากอดอาหารและน้ำมาตั้งแต่วันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา แล้วมีอาการทรุดลง 

นายสิทธิโชค อายุ 26 ปี มีอาชีพพนักงานส่งอาหาร ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางเพลิงฐานพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี บริเวณถนนราชดำเนินนอก ระหว่างการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217 และ 358 รวมถึงฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ในวันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า นายสิทธิโชคมีอาการทรุดหลังอดน้ำและอาหาร ร่วมกับ น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส. อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ผู้ต้องหาในคดี ม.112 ซึ่งทั้งหมดถูกฝากขังในระหว่างการดำเนินคดีชั้นต่าง ๆ 

“สิทธิโชค ผู้ต้องขังคดี ม.112 ถูกพาตัวไปแอดมิทที่ รพ.ราชทัณฑ์มาตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว (31 มกราคม 2566) ทั้งนี้ สิทธิโชคอดอาหารนานมากกว่า 2 สัปดาห์ และอดน้ำนานกว่า 6 วันแล้ว เพื่อเรียกร้องสิทธิในการสู้คดีอย่างเต็มที่และขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง… วันนี้ เวลา 15.15 น. สิทธิโชค ผู้ต้องขังคดี ม.112 ถูกส่งตัวจาก รพ.ราชทัณฑ์ ไปยัง รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติแล้ว” ศูนย์ทนายฯ ระบุ 

นายสิทธิโชคได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณาคดี กระทั่งวันที่ 17 มกราคม 2566 ศาลอาญาตัดสินว่านายสิทธิโชคมีความผิดตามฟ้องจริง เพราะการเผาพระบรมฉายาลักษณ์มีค่าเท่าตัวบุคคล ซึ่งมีไว้กราบไหว้และเป็นที่เคารพสักการะ ให้จำคุกนายสิทธิโชคเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 4 เดือน โดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ทำให้นายสิทธิโชค อดอาหารเพื่อประท้วงเรียกร้องสิทธิดังกล่าว 

ส่วนอาการล่าสุดของทานตะวันและอรวรรณ ซึ่งอดอาหารและน้ำเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของนักกิจกรรมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2566 นั้น ในวันพุธนี้ มีอาการปวดท้อง แน่นหน้าอก เหนื่อย และไม่มีแรง อย่างไรก็ตาม น.ส. ทานตะวัน กล่าวกับทนายความที่เข้าเยี่ยมว่า “หนูยังยืนยันว่าจะไม่รับการรักษาและจะจิบแค่น้ำเพียงเท่านั้น” 

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางไปเยี่ยมตะวัน-แบม ที่โรงพยาบาล และยืนยันกับทั้งคู่ว่าจะนำข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับระบบยุติธรรมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาล 

และในวันเดียวกัน รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการ-นักเขียนกว่า 90 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธานองคมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาหาวิถีทางในการยุติวิกฤติต่อชีวิตอย่างมีมนุษยธรรมจากการอดอาหารประท้วงสิทธิการประกันตัวของตะวัน-แบม เช่นกัน 

“การรักษาชีวิตของทั้งสองคนไว้ และเครือข่ายฯ เห็นว่าคณะองคมนตรีเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน จึงอยากให้ประธานองคมนตรีได้ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อคลี่คลายปัญหาของสังคมก่อนจะเกิดการสูญเสีย หน่วยงานอย่างองคมนตรีเกี่ยวข้องโดยตรง เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากสถาบันได้ เราจึงอยากใช้ช่องทางนี้ขยับเข้าใกล้การพูดคุยถึงปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังมากขึ้น” รศ.ดร. อนุสรณ์ ระบุ 

น.ส. ทานตะวัน ถูกควบคุมตัว และดำเนินคดี ม.112 และ ม.116 ตั้งแต่ต้นปี 2565 ต่อมาได้ประท้วงเรียกร้องสิทธิการประกันตัวโดยการอดอาหาร และได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤษภาคม 2565 แต่มีเงื่อนไขให้ใส่กำไลติดตามตัว (EM) และใช้ชีวิตโดยไม่ถูกคุมขัง ส่วน น.ส. อรวรรณ ถูกฝากขังในข้อหาเดียวกันเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวในภายหลัง 

ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2566 ศาลมีคำสั่งถอนประกันตัว นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท และ น.ส. ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ ผู้ต้องหาคดี ม.112 โดยศาลอ้างว่าทั้งคู่ไปร่วมชุมนุมระหว่างการประชุม APEC เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นการผิดเงื่อนไขการประกันตัว ทำให้ตะวัน-แบม ยื่นขอถอนประกันตัวเองเพื่อประท้วงเรื่องสิทธิการประกันตัวของนักกิจกรรม ในวันที่ 16 มกราคม 2566   

ในการขอถอนประกัน ตะวัน-แบม ได้เรียกร้องให้ 1. รัฐปฏิรูปกระบวนการศาล 2. รัฐยุติการดำเนินคดีกับผู้แสดงออกทางการเมือง และ 3. พรรคการเมืองเสนอให้มีการยกเลิก ม.112 และ ม.116 ซึ่งคุกคามเสรีภาพประชาชน เมื่อเห็นว่าการเรียกร้องไม่เป็นผล วันที่ 18 มกราคม 2566 ทั้งคู่จึงยกระดับไปสู่การอดอาหารและน้ำ จนวันที่ 20 มกราคม 2566 ทั้งคู่มีสุขภาพย่ำแย่และถูกนำตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ 

ศาลอนุญาตปลด EM ไผ่-ไมค์-ลูกเกด 

ในวันพุธนี้ ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอด EM ออกจากข้อเท้าของนักกิจกรรมทางการเมือง 5 คนตามที่ร้องขอ ทั้งห้าคนประกอบด้วย น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ นายจตุภัทร์ จตุภัทรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, นายเวหา แสนชนชนะศึก และนายนวพล ต้นงาม ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว  

ทั้งห้าคนได้ขอปลด EM ออกบ้าง เพราะในวันอังคารที่ผ่านมา น.ส. สาวิกา ไชยเดช หรือพิงกี้ นักแสดงที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกงแชร์ Forex-3D ได้รับการอนุญาตจากศาลให้ถอด EM ด้วยเหตุผลเพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ ซึ่งก่อนหน้านี้ น.ส. สาวิกา ได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยต้องใส่ EM 

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า นับตั้งแต่ที่มีการเรียกร้องขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แล้วอย่างน้อย 1,888 คน ในจำนวน 1,165 คดี และปัจจุบัน มีผู้ถูกควบคุมตัวจากการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพแล้วอย่างน้อย 22 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง