ตำรวจไทยหาตัวนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหาร กักชาวเมียนมา 108 คน ในแม่สอด

เรดิโอฟรีเอเชีย เมียนมา
2023.03.23
ตำรวจไทยหาตัวนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหาร กักชาวเมียนมา 108 คน ในแม่สอด
นักข่าวพลเมือง

เมื่อวันพุธ เจ้าหน้าที่ในจังหวัดตาก ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของไทย ได้กักตัวชาวเมียนมา 108 คน หลังจากเข้าตรวจค้นตึกแถวหลายคูหาที่เชื่อว่าเป็นที่พักอาศัยของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา และยึดสิ่งของที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นอุปกรณ์ทางทหาร

การเข้าตรวจค้นตึกดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับเมียนมา และทำขึ้นหลังจากที่ได้รับรายงานข่าวกรองว่า กลุ่มกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defense Force: PDF) ซึ่งเป็นกำลังกึ่งทหารที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา เข้ามาหลบอาศัยอยู่ ตามรายงานจากผู้อาศัยในบริเวณนั้นและหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ทหารและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยได้เข้าตรวจค้นตึกสี่ชั้น [สองคูหา] ในหมู่บ้านมารวย และขอให้ผู้อาศัยทั้งหมดในหมู่บ้านนั้นออกไปนั่งรอที่ถนน” ผู้อาศัยคนหนึ่งในตึกที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านนั้นบอกเรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาพม่า โดยไม่ประสงค์ออกนามเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

จากนั้น เจ้าหน้าที่พบผู้ชายสองคน พร้อมโดรนและอุปกรณ์ทางทหารในอพาร์ตเมนต์ห้องหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายภาพและนำตัวคนทั้งสองไป แล้วก็ปล่อยคนอื่นในตึกนั้น และเจ้าหน้าที่ก็ไป

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า เจ้าหน้าที่พบชาวเมียนมากว่า 200 คน รวมทั้งเด็กด้วย อาศัยอยู่ในตึกเหล่านั้น หลายคน “หลบหนีไปได้” เจ้าหน้าที่ได้กักตัวผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจำนวน 83 คน เพื่อสอบปากคำ และยึด “กระสุนปืน อุปกรณ์และเครื่องแบบทหาร โดรน ตราแสดงสังกัดกลุ่มต่อต้าน และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ”

แต่แหล่งข่าวบอกเรดิโอฟรีเอเชียว่า ในการเข้าตรวจค้นดังกล่าว เจ้าหน้าที่กักตัวชาวเมียนมาไว้จำนวน 108 คน และหลังจากสอบปากคำแล้ว ได้ปล่อยตัวไป 106 คน ชายสองคนที่ถูกคุมตัวไว้ หลังจากเจ้าหน้าที่พบว่ามีอุปกรณ์ทหารในความครอบครอง ได้รับการปล่อยตัวไปเมื่อวันพฤหัสบดี

การเข้าตรวจค้นดังกล่าวทำขึ้นในขณะที่กำลังร่วมของจีน เมียนมา และตำรวจไทย จัดการประชุมหัวข้อการต่อต้านการค้ามนุษย์ขึ้นในจังหวัดตาก โดยมีผู้บัญชาการตำรวจของเมียนมาเข้าร่วมด้วย

ชาวเมียนมาคนหนึ่งที่หลบหนีความขัดแย้งในเมียนมาเข้ามาอาศัยอยู่ในอำเภอแม่สอด บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชียว่า การรักษาความปลอดภัยในอำเภอแม่สอดเข้มงวดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อวันพุธ

มีการจับกุมอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บัญชาการตำรวจเมียนมาอยู่ที่นี่ และผมไม่กล้าออกไปไหนเลย” เขากล่าว

แหล่งข่าวรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดี มีการเข้าตรวจค้นอีก แต่ไม่มีใครถูกจับกุมตัว เพราะทุกคนที่ตำรวจสอบปากคำได้แสดงหลักฐานการอาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย

ค้นหาตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ชายผู้เห็นการเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่กักตัวเป็นช่วงสั้น ๆ บอกเรดิโอฟรีเอเชียว่า ตำรวจถามชาวบ้านเกี่ยวกับคนสองคนในภาพถ่ายที่ตำรวจแสดงให้ดู และยังถามคนที่ถูกสอบปากคำด้วยว่า เป็นสมาชิกของขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement: CDM) ในเมียนมาหรือไม่ ข้าราชการเมียนมาหลายหมื่นคนได้ลาออกจากงานเพื่อประท้วงการทำรัฐประหารของกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

เราบอกเจ้าหน้าที่ว่าไม่มี CDM หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นี่ มีแต่ผู้ลี้ภัยความขัดแย้ง” ชายคนนั้นกล่าว โดยไม่ประสงค์ออกนามเพื่อความปลอดภัยของตัวเองเจ้าหน้าที่บอกเราว่า เราอยู่ที่นี่อย่างสงบได้ แต่ถ้าเราทำอะไรเช่น จัดกิจกรรมการเมืองหรือสนับสนุนนักเคลื่อนไหวเพื่อการเมืองล่ะก็ เจ้าหน้าที่จะจับกุมเรา”

230323-th-mn-raid-activists-1.jpeg

ห้องในอาคาร ที่อำเภอแม่สอดที่ทางการไทยบุกเข้าตรวจค้น พบยุทโธปกรณ์ โดรน และเครื่องแบบ วันที่ 22 มีนาคม 2566 [นักข่าวพลเมือง]

ผู้อาศัยในบริเวณนั้นยังได้รับคำเตือนด้วยว่า ห้ามถ่ายรูปการเข้าตรวจค้นเมื่อวันพุธ และห้ามโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการนั้นลงในโซเชียลมีเดีย มิฉะนั้นอาจถูกจับกุมตัว

ชายคนนั้นบอกเรดิโอฟรีเอเชียว่า ตำรวจสงสัยว่าชายสองคนที่ถูกคุมตัวข้ามคืนมีความเกี่ยวข้องกับ PDF เพราะ “เมื่อเขาเปิดประตู [ให้ตำรวจ] … เขาใส่เสื้อลายอย่างทหาร”

ในตอนนั้น ตำรวจได้เปิดตู้เก็บของทั้งหมด และพบโดรนจำนวนหนึ่ง คอมพิวเตอร์ และกล้อง” เขากล่าว

ชายหนุ่มสองคนนั้นอ้างว่าเพิ่งมาถึงที่นั่นวันนั้นเอง และบอกว่า (อุปกรณ์เหล่านั้น) อาจเป็นของผู้เช่าคนก่อน ตำรวจจับตัวคนทั้งสองไป แต่ต่อมาก็ปล่อยตัวทั้งสองคน”

การจับกุมเพิ่มขึ้น

หลังจากที่กองทัพก่อรัฐประหารในเมียนมา ตำรวจในไทยได้จับกุมชาวเมียนมาที่หนีข้ามพรมแดนเข้ามาเป็นประจำ คนพวกนี้หลบหนีความขัดแย้งที่ขยายวงกว้างขึ้นระหว่างกองกำลังของรัฐบาลทหารและกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารกลุ่มต่าง ๆ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในปี 2566 เจ้าหน้าที่ไทยได้เพิ่มการสุ่มตรวจค้นและจับกุมชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในอำเภอแม่สอดอย่างมาก

เมื่อเดือนมกราคม สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ซึ่งเชื่อมจังหวัดตากกับเมืองเมียวดีของรัฐกะเหรี่ยงทางตะวันออกของเมียนมา กลับมาเปิดใช้งานใหม่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563 เมื่อสองประเทศนี้ปิดพรมแดน เพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19

ในเดือนเดียวกันนั้น ฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) องค์กรตรวจสอบระหว่างประเทศ รายงานว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยจะสอบสวนการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาของรัฐบาลไทย หลังจากที่ได้รับหลักฐานจากองค์กรนี้ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึง “การที่เจ้าหน้าที่ของไทยบังคับส่งตัวกลับ การจับกุมตามอำเภอใจ การกักขัง และการกรรโชก”

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคม พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ได้ต้อนรับ พล.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย ที่รีสอร์ทชายทะเลแห่งหนึ่งในรัฐยะไข่ของเมียนมา เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางทหารและประเด็นเรื่องความมั่นคงตามชายแดนของทั้งสองประเทศที่ยาว 2,415 กิโลเมตร

การประชุมที่มีระยะเวลาสามวันนี้ เป็นการประชุมประจำปีครั้งที่แปดระหว่างผู้นำทหารของสองประเทศนี้

กองทัพของเมียนมากำลังรบหรือเตรียมพร้อมรบกับกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกำลังกึ่งทหารของกลุ่มกองกำลังป้องกันประชาชน และกองทัพชาติพันธุ์ ทั้งในรัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง และรัฐฉาน ตลอดจนแถบตะนาวศรี พื้นที่ทั้งหมดนี้มีพรมแดนติดกับไทย

นับแต่ที่ทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองในเมียนมา มูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนารายงานว่า การจับกุมผู้ลี้ภัยชาวพม่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองเท่า และการส่งตัวกลับประเทศก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน องค์กรนอกภาครัฐของไทยแห่งนี้ระบุว่า ในปี 2565 มีผู้ลี้ภัย 1,400 คน และการจับกุม 181 ครั้ง

รายงานล่าสุดจากสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (U.N. Office for the Coordination of Humanitarian Affairs) ประเมินว่า ในปี 2565 มีผู้ลี้ภัยราว 2,000 ถึง 5,000 คนต่อเดือนกลับไปเมียนมา ส่วนใหญ่ถูกส่งตัวกลับ สำหรับผู้ที่จำต้องลี้ภัยในต่างแดน ชีวิตของคนเหล่านั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยง

เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network) รายงานว่า จำนวนผู้ที่ข้ามพรมแดนจากเมียนมาเข้ามาในไทยเพิ่มจากวันละ 100 คนในปี 2563 เป็นวันละ 2,000 คนในปี 2565 เจ้าหน้าที่ของไทยรายงานว่า ปีที่แล้วมีการจับกุมผู้ลี้ภัยจำนวน 60,000 คน รวมทั้ง 45,000 คนที่หลบหนีจากเมียนมาเข้ามาในไทย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง