ศาลจำคุก 'ไผ่ ดาวดิน' และพวกรวม 16 คน ฐานละเมิดพรบ. ชุมนุม
2023.10.02
กรุงเทพฯ
ในวันจันทร์นี้ ศาลแขวงพระนครเหนือตัดสินจำคุก นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, นายอานนท์ นำภา, และนายธนายุทธ ณ อยุธยา หรือบุ๊ค เป็นเวลา 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา จากเหตุการณ์ชุมนุม “ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร” ที่ห้าแยกลาดพร้าวเกือบ 3 ปีก่อน ส่วนจำเลยร่วมอีก 13 คน ให้จำคุก 2 เดือน แต่ให้รอลงอาญา
ศาลแขวงพระนครเหนือ อ่านคำพิพากษาคดีความที่จำเลยทั้ง 16 คน ร่วมชุมนุม #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร หรือ #27พฤศจิกาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ขัดต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และข้อหาปลีกย่อย
“มีความผิดตามฟ้องทั้งในข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, กีดขวางการจราจร และกีดขวางทางสาธารณะ จำเลย 13 คน ให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับรวม 30,200 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาเอาไว้ เฉพาะอานนท์ นำภา-ไผ่ จตุภัทร์-บุ๊ค ธนายุทธ ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 14,200 บาท โดยไผ่ยังถูกเพิ่มโทษจำคุก 20 วัน เนื่องจากเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โดยโทษจำคุกทั้ง 3 คนไม่รอลงอาญา” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 นายธนายุทธ์ เพิ่งถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน จากคดีครอบครองวัตถุระเบิด ประทัด และพลุควัน เพราะถูกเชื่อมโยงกับการโยนระเบิดใส่หน้าบ้านของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 ต่อมาในวันที่ 26 กันยายน 2566 นายอานนท์ ถูกพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 4 ปี จากความผิด ม.112 เพราะปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ส่วนนายจตุภัทร์เคยถูกตัดสินให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 จากความผิด ม.112 เพราะแชร์ข่าวเกี่ยวกับในหลวง ร.10 ของบีบีซีไทยทางเฟซบุ๊กส่วนตัว
คดีที่มีการตัดสินในวันนี้ สืบเนื่องจากการนัดชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 หลังมีข่าวลือว่าจะมีการประกาศกฎอัยการศึกและมีความกังวลว่าอาจจะเกิดรัฐประหารอีกครั้ง เพราะมีการเคลื่อนย้ายกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะของกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน
ผู้ชุมนุมใช้เป็ดยาง, เอเลี่ยน, นกยูง, ม้ายูนิคอน, และพิซซ่า มาเป็นตัวแทนคณะรัฐประหารสำหรับซ้อมหากมีการรัฐประหาร โดยซักซ้อมชู 3 นิ้ว และโห่ใส่กองทัพเป็ด ผู้ชุมนุมให้สัญญากันว่าจะต่อต้านการกระทำรัฐประหารไม่ว่าโดยฝ่ายใดในทุกรูปแบบ และสัญญาว่าจะไม่ยินยอมให้ฉีกรัฐธรรมนูญโดยเผด็จการอีกต่อไป
ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ว่าสถานการณ์คดีกับนักกิจกรรมการเมืองในช่วงนี้มีภาพรวมที่ไม่ดีนัก
“เราเห็นว่าตอนนี้มีการใช้กระบวนการยุติธรรม และกระบวนตุลาการอย่างเป็นระบบเพื่อปิดปากประชาชน รัฐบาลก่อนหน้านี้ คำพิพากษาส่วนใหญ่จะสั่งรอลงอาญา แต่ช่วงรัฐบาลนี้ การตัดสินมักไม่รอลงอาญา และปฏิเสธการประกันตัว ซึ่งมันอาจทำให้เราไม่มั่นใจว่าศาล หรือตุลาการเป็นอิสระ หรืออาจจะได้รับอิทธิพลทางการเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว
น.ส. พรเพ็ญ เรียกร้องว่า อยากให้รัฐบาลใช้อำนาจฝ่ายบริหารถอนฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็นคดีการเมืองสำหรับคดีที่ยังไม่มีคำสั่งศาล ส่วนคดีที่ตัดสินแล้วก็ให้เปิดประเด็นพูดคุยสาธารณะว่าเห็นด้วยกับการให้สิทธิประกันตัว และในระยะยาวก็ทำกระบวนการนิรโทษกรรมผ่านสภา
การชุมนุมขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์, เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เริ่มขึ้นในกลางปี 2563 ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2563 รัฐบาลเริ่มดำเนินคดี ม.112 กับแกนนำ และผู้ชุมนุมทางการเมือง ที่ปราศรัยหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ระหว่างปี 2563-2565
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แล้วอย่างน้อย 1,925 คน ใน 1,241 คดี ในนั้นเป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี 286 ราย ใน 215 คดี และใน 1,241 คดี เป็นคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 278 คดี มีผู้ต้องหา 257 คน
ถึงปัจจุบัน มีจำเลยคดีการเมืองที่คดียังไม่ถึงสิ้นสุด แต่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวอย่างน้อย 26 คน