ศาลยกฟ้อง คดีธรรมเกษตรฟ้องหมิ่นสามนักสิทธิหญิง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.08.29
กรุงเทพฯ
ศาลยกฟ้อง คดีธรรมเกษตรฟ้องหมิ่นสามนักสิทธิหญิง นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน จากซ้าย ธนภรณ์ สาลีผล, พุทธณี กางกั้น และอังคณา นีละไพจิตร ถ่ายภาพร่วมกัน หลังศาลตัดสินพ้นผิด วันที่ 29 สิงหาคม 2566
ฟอร์ตี้ฟายไรต์

ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษายกฟ้องคดีที่บริษัท ธรรมเกษตร จํากัด กล่าวหาว่า นางอังคณา นีละไพจิตร, น.ส. พุทธณี กางกั้น และ น.ส. ธนภรณ์ สาลีผล ซึ่งทั้งหมดเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หมิ่นประมาทบริษัท ธรรมเกษตร ด้วยการแชร์ข้อความทางโซเชียลมีเดียพาดพิง บริษัทฯ ว่า ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลา 09.00 น. ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัดศาล พร้อมด้วยทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

“ข้อความที่จำเลยทั้งสามโพสต์ เป็นข้อความที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงโจทก์โดยตรง โดยเป็นการโพสต์เกี่ยวกับคดีความที่โจทก์ได้มีการฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเป็นข้อความที่จำเลยโพสต์ให้กำลังใจนักปกป้องสิทธิฯในคดีอื่น ๆ ที่โจทก์ได้ฟ้องนักปกป้องสิทธิฯ เหล่านั้น” คำพิพากษา ระบุ

“ส่วนที่มีการอ้างถึงลิงก์วิดีโอนั้น เห็นว่าจำเลยไม่ได้คาดหมายว่า จะมีใครเข้าถึงวิดีโอดังกล่าวได้ อีกทั้งขั้นตอนการเข้าถึงวิดีโอ ก็มีความซับซ้อนหลายขั้นตอน รวมถึง เนื้อหาในวิดีโอ ก็เป็นการกล่าวถึงลูกจ้างที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดี ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปก่อนแล้ว” คำพิพากษาตอนหนึ่ง

คำพิพากษา ระบุว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบว่า ข้อความที่จำเลยทั้งสามโพสต์ในทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กนั้น มีข้อความใดที่หมิ่นประมาทโจทก์ และจำเลยทั้งสามไม่มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด

นายทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความของจำเลย เปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาว่า ศาลเห็นว่าข้อความที่จำเลยโพสต์ ไม่มีการกล่าวถึงโจทก์โดยตรง

“ศาลมองว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่ได้เกิดความเสียหายกับโจทก์ เราพอใจกับคำพิพากษาที่ศาลได้มีการคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยคดีนี้ใช้เวลาในการพิจารณาคดีมายาวนาน เริ่มคดีแรกในปี 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 4 ปี ทั้งยังเป็นภาระต่อจำเลยในเรื่องค่าใช้จ่าย และจิตใจ มาโดยตลอด” นายทิตศาสตร์ กล่าว

เรื่องราวดังกล่าว สืบเนื่องมาจาก ในปี 2559 แรงงานชาวเมียนมา 14 คน ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนต่างชาติและองค์กรสิทธิแรงงานหลายแห่งว่า บริษัท ธรรมเกษตร บังคับให้ทำงาน 20 กว่าชั่วโมงต่อวัน ถูกยึดเอกสารประจำตัว และถูกหักเงินเดือน จากนั้น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี ตัดสินว่า ไม่มีการยึดพาสปอร์ต แต่นายจ้างทำผิดเรื่องค่าจ้างและให้ชดเชยแรงงาน 1.7 ล้านบาท

นับแต่ปี 2559 บริษัทธรรมเกษตร จํากัด ได้ฟ้องคดีอย่างน้อย 37 คดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 22 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ศาลได้ยกฟ้องหรือตัดสินตรงข้ามกับคำฟ้องของบริษัทในคดีเกือบทั้งหมด โดยหากศาลมีคำพิพากษาลงโทษสูงสุดตามมาตรา 326 และ 328 จะมีโทษจำคุกกรรมละไม่เกิน 2 ปี และ/หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายชาญชัย เพิ่มพล เจ้าของและผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ธรรมเกษตร เป็นโจทก์ฟ้องคดี เคยกล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “ผมเพียงแค่ต้องการปกป้องสิทธิและชื่อเสียงของผมที่สร้างมาด้วยความยากลำบาก เพราะธุรกิจผมต้องมาพังพินาศจากผู้มีความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ผมได้รับความเสียหายจากการทำงานของนักปกป้องสิทธิ”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง