แอมเนสตี้ : เด็กเกือบ 300 คน ถูกตั้งข้อหาจากการร่วมชุมนุม

เรียกร้องปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.02.08
กรุงเทพฯ
แอมเนสตี้ : เด็กเกือบ 300 คน ถูกตั้งข้อหาจากการร่วมชุมนุม ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลและนักเรียนทักทาย นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น) ด้วยการชูสามนิ้วระหว่างการเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการในกรุงเทพฯ วันที่ 5 กันยายน 2563
รอยเตอร์

ในวันพุธนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยรายงานว่า มีเด็กเกือบ 300 คน ถูกฟ้องร้องในคดีต่าง ๆ จากการร่วมชุมนุมทางการเมืองเพื่อขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เริ่มต้นในปี 2563 และได้เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัว รวมทั้งยกเลิกข้อหาที่มีต่อนักกิจกรรมทั้งหมด

แอมเนสตี้ จัดกิจกรรมเปิดตัวรายงาน “ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเชิญผู้ทำวิจัย และเยาวชนที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองมาร่วมเสวนา

“การประท้วงระลอกนี้มีผู้เข้าประท้วงจำนวนมากที่เป็นเด็ก แล้วก็อายุต่ำกว่าครั้งก่อน ๆ ตลอดทั้งประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยเลย ก็คือส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเท่านั้นเอง” นายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ หัวหน้าผู้จัดทำรายงานชิ้นดังกล่าว ระบุ

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็ก ยุติการข่มขู่และติดตามสอดแนมในทุกรูปแบบ ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อควบคุมสิทธิในการชุมนุมประท้วงของเด็กให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” องค์กรสิทธิมนุษยชน ระบุในเอกสารข่าว

รายงานชิ้นดังกล่าวระบุว่า กฎหมายหมิ่นฯ หรือ ม.112 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ถูกนำมาใช้กับผู้ชุมนุมทางการเมือง หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุในเดือนพฤศจิกายน 2563 ว่า พร้อมใช้ทุกมาตรการกับผู้ชุมนุมทางการเมือง เพื่อหยุดยั้งปรากฎการณ์ชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศไทยในเวลานั้น

“ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายที่จะต้องประกันสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบของเด็ก อย่างไรก็ดี ผู้ชุมนุมประท้วงกลับต้องเผชิญกับราคาที่ต้องจ่ายมากมาย อันหมายรวมไปถึงความเสี่ยงที่จะถูกจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปี” นายชนาธิป กล่าว

การชุมนุมของเยาวชน และประชาชนระลอกนี้ เริ่มต้นขึ้นในกลางปี 2563 โดยเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และจากการชุมนุมกรุงเทพฯ ต่อมามีการชุมนุมด้วยข้อเรียกร้องเดียวกันเกิดขึ้นทั่วประเทศหลายพันครั้ง

การชุมนุมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลางปี 2564 เกิดกลุ่ม “ทะลุแก๊ซ” ซึ่งเริ่มใช้แนวทางที่รุนแรง มีฐานที่มั่นบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งใกล้กับบ้านพักของ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งตั้งอยู่ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ถนนวิภาวดีรังสิต ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับผู้ชุมนุมควบคู่กับการดำเนินคดีทางกฎหมาย

สิ้นปี 2565 มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อย่างน้อย 283 คน ซึ่งถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยส่วนใหญ่ ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19, กฎหมายอาญามาตรา 116 และมาตรา 112 ตามการเปิดเผยของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในจำนวนนั้นมี 17 คนที่ถูกดำเนินคดี ม.112 และ 3 ราย ถูกตัดสินแล้วว่ามีความผิดต้องโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุก ทำให้ปัจจุบัน ยังไม่มีเยาวชนที่ต้องถูกควบคุมในเรือนจำ ตามข้อมูลของศูนย์ทนายฯ

นายธนกร ภิระบัน หรือเพชร นับเป็นเยาวชนซึ่งอายุไม่ถึง 18 ปี (ปัจจุบัน อายุ 20 ปีแล้ว) รายแรกซึ่งถูกดำเนินคดี ม.112 หลังจากเข้าร่วมการชุมนุมในปี 2563

“สิ่งที่เพชรเจอ มันทำให้รู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องใช้มาตรา 112 กับเด็กและเยาวชน เพราะสุดท้าย ผู้พิพากษาหรือนักจิตวิทยาที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับคดีเพชร สุดท้ายเขาเข้าใจว่ามันเป็นเสรีภาพ สิ่งที่ทำได้ มันเป็นการเห็นต่าง สุดท้ายมันทำให้เด็กเสียเวลาในการมาศาล เพราะใช้เวลามากกว่าคดีผู้ใหญ่ และได้รับความกดดันเรื่องผู้ปกครอง” นายธนกร กล่าว

230208-th-amnesty-activists-detained.jpg

ผู้ประท้วงกลุ่มทะลุแก๊ซหิ้วหนังสะติ๊กและถือขวดน้ำมัน ขณะเผชิญหน้ากับตำรวจควบคุมฝูงชนที่ดูแลความปลอดภัยที่พักของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใน ร.1 รอ. ใกล้ย่านสามเหลี่ยมดินแดง วันที่ 29 สิงหาคม 2564 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)

เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อไปยัง นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับรายงานของแอมเนสตี้ชิ้นนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากนายอนุชาระบุว่า ยังไม่เห็นรายงานฉบับเต็ม

อย่างไรก็ตาม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ตอบข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ว่า “การดำเนินคดีผู้กระทำผิดทุกรายนั้นได้มีการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วว่ามีการกระทำความผิดจริงตามข้อกล่าวหา นอกจากนี้ กระบวนการพิจารณาคดียังคงเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาคดีอันควรแห่งกฎหมายเหมือนคดีอาญาทั่วไป”

ทั้งยังระบุว่า ผู้ต้องหาในคดีสามารถอุทธรณ์ และขอรับพระราชทานอภัยโทษได้

ปัจจุบัน มีผู้ต้องหาคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 8 คน ตามการรายงานของศูนย์ทนายฯ ซึ่ง น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส. อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ผู้ต้องหาในคดี ม.112 ได้ขอถอนประกันตัวเองในวันที่ 16 มกราคม 2566 และอดอาหารและน้ำใน 2 วันต่อมา เพื่อประท้วงเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด

ขณะที่ปัจจุบัน คนทั้งคู่มีสภาพร่างกายที่เข้าขั้นวิกฤต แม้อยู่ในการดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 แพทย์ได้ร้องขอให้ศาลอนุญาตให้ประกันตัวตะวันและแบม ซึ่งศาลได้อนุญาตตามคำร้องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความได้เปิดเผยว่า ทั้งสองคนไม่ได้รับทราบการปล่อยตัว แต่ยอมรับน้ำเกลือตามคำแนะนำของแพทย์ และจิบน้ำบ้าง หากปากแห้งแตกเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด แต่พร้อมอดอาหารประท้วงเต็มรูปแบบอีกครั้ง

“ตอนนี้ มีอาการแสบท้องแล้วก็ มึนหัว นอนไม่หลับ ปวดตัว... ถ้าภายใน 3 วันไม่ได้รับการตอบรับ หรือยังไม่มีการมานั่งฟัง หรือคุยกัน จะขอออกจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เขาจะยืนยันอดน้ำ อดอาหาร และไม่รับเกลือแร่แล้ว” นายกฤษฎางค์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ความรุนแรงในการชุมนุม

ในช่วงปี 2564-2565 กลุ่มเยาวชนในนามทะลุแก๊ซ เคลื่อนไหวในแนวทางของตัวเองด้วยดอกไม้ไฟ ประทัดยักษ์ และไปป์บอมบ์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตอบโต้ด้วยการใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งกลายเป็นสมรภูมิหลักของการปะทะ

ในค่ำของวันที่ 16 สิงหาคม 2564 นายวาฤทธิ์ สมน้อย อายุ 15 ปี ถูกยิงบนถนนมิตรไมตรี ฝั่งตรงข้ามกับ สน.ดินแดง กระสุนทะลุคอและหัวกระสุนฝังในก้านสมอง ถูกนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี และมีอาการโคม่า ก่อนที่จะเสียชีวิตในวันที่ 28 ตุลาคม ปีเดียวกัน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น มีเยาวชนอายุ 14 ปี และ 16 ปี ถูกยิงในพื้นที่ชุมนุมด้วยเช่นกัน 

ในรายงานของแอมเนสตี้ ระบุว่า รัฐบาลพยายามใช้มาตรการคุกคามเพื่อขัดขวางการร่วมชุมนุมของเด็ก

“เจ้าหน้าที่รัฐมีการใช้การกดดันทางอ้อม ผ่านครูบ้าง ผ่านผู้ปกครองบ้าง ไม่ให้เด็กเข้าร่วมการชุมนุม เราพบในหลายกรณี ครูในโรงเรียนใช้การข่มขู่นักเรียนว่าจะหักคะแนน ข่มขู่ว่าจะไล่ออก จะใช้ความรุนแรงลงโทษนักเรียน หรือให้ความร่วมมือกับภาครัฐว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และจะร่วมมือกับภาครัฐว่าจะดำเนินคดีกับเด็ก” นายชนาธิป กล่าว

น.ส. แซนด์ (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) นักเรียนมัธยมปีที่ 6 นักกิจกรรมทางการเมือง “ได้รับแรงกดดันจากผู้ปกครอง และได้รับรู้ว่าทางโรงเรียนที่เขารู้ข้อมูลส่วนตัวของเรา เอาข้อมูลของเราไปเผยแพร่ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ โดยที่เราไม่ยินยอม เราก็เลยเข้าไปเรียกร้องให้ทางโรงเรียนออกมาแสดงความรับผิดชอบ เจ้าหน้ารัฐก็ไปคุกคามเพื่อนเราด้วย แค่ออกไปเรียกร้องเรื่องนั้นก็ถูกดำเนินคดีเป็นคดีแรก หลังจากนั้นก็โดนมา 11 คดี”

ในบางกรณี เจ้าหน้าที่พยายามใช้กฎหมาย เพื่อกีดกันนักกิจกรรมออกจากการร่วมชุมนุม "หลังจากที่ครอบครัวผมทราบว่า ผมเข้าร่วมในขบวนการชุมนุมประท้วง เราก็เริ่มมีปากมีเสียงกันเยอะขึ้น จากนั้นพ่อแม่ก็เริ่มทำร้ายร่างกาย และกดดันผมด้วยวิธียึดค่าขนมและโทรศัพท์มือถือของผม ผมเลยต้องหนีออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อน” นายสถาปัตย์ นักเรียนอายุ 17 ปี จากจังหวัดปัตตานี ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงในปี 2563 กล่าวกับแอมเนสตี้

230208-th-amnesty-activists-detained-2.jpg

ผู้ประท้วงกลุ่มทะลุแก๊ซมองพลุที่สมาชิกกลุ่มจุดก่อกวนตำรวจควบคุมฝูงชนที่ดูแลความปลอดภัยที่พักของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใน ร. 1 รอ. ใกล้ย่านสามเหลี่ยมดินแดง วันที่ 23 กันยายน 2564 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง