ศาลสั่งคุก อานนท์ 2 ปี คดีปราศรัยแฮรี่ พอตเตอร์ ปี 64 ผิด ม. 112
2024.04.29
กรุงเทพฯ

ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาจำคุก นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเวลา 2 ปี ฐานผิดมาตรา 112 จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการปราศรัยใน #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2 ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 3 สิงหาคม 2564 นักวิชาการแนะ รัฐบาลนิรโทษกรรมผู้ต้องคดีมาตรา 112 แม้เชื่อว่า เกิดขึ้นจริงยาก
“ศาลพิพากษาจำคุกในข้อหา ม. 112 3 ปี อย่างไรก็ตาม ศาลลดโทษให้ 1 ใน 3 ทำให้คงเหลือโทษจำคุกรวมทั้งสิ้น 2 ปี” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผย
“ศาลเห็นว่า จำเลยวิจารณ์ ร.10 โดยตรง เมื่อพิจารณาคำปราศรัยแล้ว ไม่มีเหตุที่จะยกสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพมาทำให้เสื่อมเสีย เป็นการทำให้ประชาชนเข้าใจว่า ร.10 มีความโลภ เป็นการใส่ความให้เสื่อมเสียเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และด้อยค่า ทั้งจากการสืบพยานของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้” ศูนย์ทนายฯ ระบุ
นายอานนท์ ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 ถูกพาตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาลในเช้าวันจันทร์นี้ตามเวลานัด เข้าฟังคำพิพากษาพร้อมกับทนายความ ผู้สังเกตการณ์ และสื่อมวลชน โดยจากกรณีเดียวกัน นายอานนท์ ยังถูกตัดสินว่ามีความผิดฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ให้จำคุก 20 วัน และปรับ 100 บาท จากการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ก่อนหน้านี้ นายอานนท์ เคยถูกพิพากษาจำคุกด้วยคดีมาตรา 112 มาแล้ว 2 คดี ปราศรัยวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ศาลตัดสินจำคุก 4 ปี และคดีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว 3 ข้อความในเดือนมกราคม 2564 ตัดสินให้จำคุก 4 ปี หากรวมคำพิพากษาในวันจันทร์นี้ จะทำให้นายอานนท์ถูกตัดสินจำคุกรวม 10 ปี 20 วัน
นายอานนท์ เป็นหนึ่งในแกนนำชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นกว่าพันครั้งต่อเนื่องยาวนานร่วม 3 ปี ทั่วประเทศ
หลังจากนั้น รัฐบาลเริ่มดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม โดยศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน จาก 1,293 คดี ในนั้นเป็นคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 270 คน ในจำนวน 301 คดี และทำให้มีผู้ถูกคุมขังอย่างน้อย 46 คน
การดำเนินคดีการเมืองจำนวนมากทำให้เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน และประชาชนกว่า 3.5 หมื่นคน รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเข้าสู่สภา โดยจะให้ยกเว้นโทษให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันทุกข้อหา รวมถึงมาตรา 112
สำหรับคดีที่เกิดขึ้น ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าสถานการณ์คดีการเมืองในประเทศไทยมีความน่าเป็นห่วง
“คดี ม. 112 เป็นคดีที่ละเอียดอ่อน แม้ว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะพยายามผลักดันการนิรโทษกรรมคดีการเมือง แต่ก็เห็นว่า หลายพรรคก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมคดี ม. 112 ดังนั้นการนิรโทษกรรม ม. 112 จริง ๆ น่าจะเกิดขึ้นยาก เพราะเพื่อไทยน่าจะประเมินแล้วว่าอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง และวิกฤตทางการเมือง รวมทั้งไม่ต้องการเผชิญแรงกดดันรอบด้าน” ดร. เอียชา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ด้าน ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า “หากต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลจะหลีกเลี่ยงการนิรโทษกรรมไม่ได้ และถ้าหากรัฐบาลต้องการยืนในสากลได้อย่างภาคภูมิใจ ก็ควรนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วย แต่ก็เชื่อว่าจะมีหลายกลุ่มไม่พอใจ”
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้ง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม โดยประกอบด้วย กรรมการ 35 คน ซึ่งกำหนดกรอบการศึกษาเบื้องต้นไว้ 60 วัน
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน