ศาลสั่งคุกทนายอานนท์ อีกคดี 2 ปี 8 เดือน ปราศรัยม็อบแฮรี่พอตเตอร์ ผิด ม. 112

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.12.19
กรุงเทพฯ
ศาลสั่งคุกทนายอานนท์ อีกคดี 2 ปี 8 เดือน ปราศรัยม็อบแฮรี่พอตเตอร์ ผิด ม. 112 อานนท์ นำภา ปราศรัยข้างโรงเรียนสตรีวิทยา เยื้องอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ ในการชุมนุมวันที่ 3 สิงหาคม 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมการเมือง เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน จากความผิด ม. 112 และ ม. 116 ในคดีการปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ในม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ 3 ส.ค. 2563 ด้านนักวิชาการชี้ว่า ม. 112 จะกลายเป็นปัญหาการเมืองเรื้อรัง ควรหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อออกจากวังวนความขัดแย้ง

“จำเลยพูดว่ากษัตริย์แทรกแซงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าใครที่พูดเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ส่วนมากจะถูกฆ่าหรือถูกอุ้ม จำเลยกล่าวอ้างใส่ร้ายกษัตริย์ โดยมุ่งหวังให้เกิดความวุ่นวายในสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จำเลยปราศรัยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองหลายครั้ง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บันทึกว่า คดีนี้มีนายเรืองฤทธิ์ บัวลอย และนายเทอดศักดิ์ อินทรปรีชา เป็นผู้พิพากษา โดยศาลได้อ้างว่า มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ห้ามไม่ให้ผู้ใดล่วงละเมิดกษัตริย์ จำเลยเป็นนักกฎหมายจะต้องตระหนักในกฏหมายข้อนี้ดีกว่าบุคคลทั่วไป แต่จำเลยปราศรัยใส่ร้ายพระราชกรณียกิจฯ เป็นการละเมิดต่อกษัตริย์ฯ 

“การปราศรัยทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ การกระทำของจำเลยไม่อยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นความผิดตาม ม. 112 และ ม. 116 ให้ลงโทษบทหนักที่สุดคือ ม. 116 ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษลงหนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน” คำพิพากษา ระบุ

คำพิพากษาในวันพฤหัสบดีนี้จะทำให้ นายอานนท์ ต้องโทษจำคุกรวมทุกคดี 18 ปี 10 เดือน 20 วัน โดยนายอานนท์ ต้องโทษจำคุกมาตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 

แม้ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน แต่นายอานนท์ได้เขียนจดหมายถึงลูกของตนออกมาจากในเรือนจำ และเผยแพร่บนเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การพูดความจริงทำให้ตนเองต้องถูกจำคุก

“คดี ม. 112 ของพ่อหลายคดีถูกพิสูจน์แล้วว่า ทุกถ้อยคำที่พ่อปราศรัย ทุกข้อความที่พ่อโพสต์แสดงความคิดเห็นล้วนเป็นความจริง ความจริงที่หลายคนกระอักกระอ่วนใจที่จะพูดถึง และด้วยความที่มันเป็นความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจจึงทำให้บางคนต้องทำให้มันเป็นความลับ” ข้อเขียนตอนหนึ่ง 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมาศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายอานนท์ เป็นครั้งที่ 14 ทำให้จนถึงปัจจุบัน นายอานนท์ต้องอยู่ในเรือนจำมาแล้วร่วม 1 ปี 3 เดือน

“การพูดความจริงทำให้ตอนนี้โทษของพ่อเพิ่มขึ้นอีกเป็น 16 ปีเศษ (ปัจจุบันเป็น 18 ปีเศษ) เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมากที่ถึงตอนนี้ คดีของพ่อหลายคดีกำลังถูกปิดกั้นในทุกช่องทาง เพื่อมิให้รับรู้ในที่สาธารณะ เป็นความเงียบเหงาทางสติปัญญาของคนที่อยู่ในกระบวนการหลายคนที่กำลังป่วยไข้จนเกินเยียวยา… แล้วเราจะมองย้อนกลับมาดูซากปรักหักพังที่ถูกสร้างขึ้นด้วยมือของคนที่เรียกว่า นิติบริกร” นายอานนท์ ระบุ

การปราศรัยใน #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ 1 เมื่อ 3 ส.ค. 2567 นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำประเด็นสถาบันกษัตริย์มาพูดในการชุมนุมการเมือง และกลายเป็นกระแสชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 ปี

ปัจจุบัน นายอานนท์ ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกแล้ว 6 คดี ด้วยข้อหา ม. 112 ประกอบด้วย 1. คดีปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63 จำคุก 4 ปี 2. คดีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก จำคุก 4 ปี 3. คดีปราศรัยใน #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ 2 จำคุก 2 ปี 20 วัน 

4. คดีโพสต์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของกษัตริย์ จำคุก 4 ปี 5. คดี #ราษฎรสาส์น โพสต์จดหมายข้อความถึงกษัตริย์ จำคุก 2 ปี และล่าสุด 6. #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ 1 จำคุก 2 ปี 8 เดือน

รศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้ว่า ปัญหา ม. 112 เป็นประเด็นเรื้อรังที่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

“คดี ม. 112 เป็นประเด็นสำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองไทยมานานในรอบอย่างน้อย 10 ปีแล้ว และมันกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจัดการผู้เห็นต่าง ถ้าไม่แก้ปัญหา มันจะวนลูป มันจะกลับไปจุดเดิม จุดที่เราใช้ความกลัว ใช้อำนาจในการแก้ปัญหา มันจะนิ่งไปพักหนึ่ง สักพักมันจะกลับมาอีก เพราะเราไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ผู้ต้องหาก็ต้องสู้คดีจากในคุกต่อไป” รศ.ดร. โอฬาร กล่าว

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563-30 พ.ย. 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 1,960 คน จาก 1,310 คดี โดยมีผู้ต้องขังคดีการเมืองอย่างน้อย 33 คน 

ในเดือน ต.ค. 2567 ประชาชนในนามเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องให้นิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องคดีการเมืองทุกคดี ไม่เว้นคดี ม. 112 แต่พรรคการเมืองหลายพรรคแสดงท่าทีคัดค้าน เช่น ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ 

ปัจจุบัน ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฯ หลายฉบับจากพรรคการเมืองและภาคประชาชนถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ยังไม่มีการนำขึ้นมาลงมติแต่อย่างใด 

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง