นายกฯ มาเลเซียประณามอาเซียนเพิกเฉยเรื่องเมียนมา: ‘การไม่แทรกแซง ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะนิ่งดูดาย’

มุซลิซา มุสตาฟา และไชลาจา นีละกันตัน
2023.03.02
กัวลาลัมเปอร์ และวอชิงตัน
นายกฯ มาเลเซียประณามอาเซียนเพิกเฉยเรื่องเมียนมา: ‘การไม่แทรกแซง ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะนิ่งดูดาย’ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวโอวาท หลังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ณ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ในเมืองเกซอนซิตี้ ชานเมืองมะนิลา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566
เท็ด อัลจิเบ/เอเอฟพี

เมื่อวันพฤหัสบดี นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตำหนิอาเซียนที่ไม่ดำเนินการใดกับเมียนมา โดยกล่าวว่าหลักการของอาเซียนว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก ต้องไม่กลายเป็นการนิ่งดูดาย

การตัดสินใจบนพื้นฐานของฉันทามติ ไม่ควรกลายเป็นการนิ่งเฉยในการละเมิดหลักการสำคัญของอาเซียนว่าด้วย การเคารพหลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เขากล่าวในระหว่างการบรรยายที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ในกรุงมะนิลา

ในระหว่างการเยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ นายอันวาร์ อิบราฮิม ได้พูดคุยกับนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ หนึ่งวันก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเมียนมา โดยแนะว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ควรหาวิธีใหม่ในการแก้ไขวิกฤตหลังรัฐประหารในเมียนมา

กองทัพเมียนมา ซึ่งทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ยอมปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสันติภาพและประชาธิปไตย หรือที่เรียกว่า ฉันทามติห้าข้อ ซึ่งเมียนมาได้ “ตกลงไว้” กับสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เมื่อเดือนเมษายนปีนั้น

นอกจากห้ามผู้แทนรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดและการประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียนแล้ว อาเซียนแทบไม่ได้ทำอะไรเลย เพื่อลงโทษรัฐบาลทหารเมียนมาที่ผิดคำสัญญา

นักวิเคราะห์ต่างกล่าวกันว่า นั่นเป็นเพราะมีความแตกแยกภายในอาเซียน ประเทศสมาชิกอย่าง บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ขณะที่ประเทศอื่น โดยเฉพาะไทย ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้น นักวิจารณ์จึงกล่าวว่า หลักการตัดสินใจโดยฉันทามติได้มัดมือมัดเท้าอาเซียน แต่นายกฯ มาเลเซียก็กล่าวว่า หลักที่ว่านี้ก็ยังคงเป็นหลักการสำคัญของอาเซียนอยู่ต่อไป

แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าอาเซียนควรนิ่งเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิก ซึ่งกระทบภูมิภาคของเราในวงกว้าง หรือต่อการกระทำของประเทศสมาชิกอาเซียนเองที่เป็นการละเมิดกฎบัตรอาเซียนอย่างรุนแรง” เขากล่าว

ผมเชื่อจริง ๆ ว่าการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกไม่ใช่ข้ออ้างที่จะนิ่งดูดาย” เขากล่าวในระหว่างการบรรยาย หลังรับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์

หลักแห่งความยุติธรรม

เมื่อวันพุธ นายกฯ มาเลเซียกล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงมะนิลาว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งนับแต่เกิดรัฐประหาร มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 3,000 คน กำลังส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อมาเลเซีย “เนื่องจากขณะนี้ มาเลเซียมีผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลกว่า 200,000 คน”

เขากล่าวว่า ปัญหาในเมียนมา “จะถือว่าเป็นปัญหาภายในล้วน ๆ เลยไม่ได้ เพราะมันกระทบต่อความมั่นคงและสวัสดิภาพของภูมิภาคเรา”

ขณะเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนที่แล้ว เขาถึงกับกล่าวว่า “สำหรับตอนนี้ เราควรตัดเมียนมาออก” สื่อข่าวรายงาน เขาไม่ได้ขยายความต่อว่าหมายความว่าอะไรในตอนนั้น

เมื่อวันพฤหัสบดี เขาได้อ้างถึงวลีนั้นอีกครั้ง

“[]อนที่ผมพูดในกรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่วันนี้เกี่ยวกับความจำเป็นในการตัดเมียนมาออกเป็นการชั่วคราว เพราะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ผมพูดเช่นนั้นในบริบทที่กว้างที่เราจำเป็นต้องยึดมั่นในอุดมคติสำคัญประการหนึ่งของอาเซียน ซึ่งคือ การสนับสนุนหลักแห่งความยุติธรรมและหลักนิติธรรม” นายอันวาร์กล่าว

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นายอันวาร์ยังบอกแก่ พล.อ. ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพพม่า ด้วยว่า พล.อ. ประยุทธ์ “อยู่ในสถานะที่ดีกว่า ในอันที่จะแสดงออกถึงความกังวลของพวกเรา (แก่รัฐบาลทหารเมียนมา) ว่า ปัญหาภายในของเมียนมาจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไปภายในประเทศก็จริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาคและเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งภูมิภาคด้วย” สื่อข่าวรายงาน

มาเลเซียเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียนที่ออกมาผลักดันอย่างหนัก เพื่อให้อาเซียนหาวิธีการใหม่และดำเนินการอย่างแข็งกร้าวต่อรัฐบาลทหารเมียนมาที่ผิดคำสัญญา

ก่อนที่นายอันวาร์จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลพลเรือนคู่ขนานของเมียนมา มี นายไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย เป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง

หลังรัฐประหารในเมียนมา นายไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกของอาเซียนที่ติดต่อกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนคู่ขนาน โดยได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลพลเรือนอย่างเปิดเผย และผลักดันให้อาเซียนพูดคุยอย่างจริงจังกับรัฐบาลนั้น

เขายังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนคนแรก ที่เสนอให้ยกเลิกฉันทามติห้าข้อนั้นด้วย

อินโดนีเซีย ประธานอาเซียนปัจจุบัน ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในฉันทามติห้าข้อนี้ ในฐานะที่เป็นแผนการแก้ไขวิกฤตในเมียนมา

อินโดนีเซียถูกคาดหวังมาก เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของอาเซียนในเดือนมกราคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทที่จะมีต่อการแก้ไขวิกฤตในเมียนมา

อินโดนีเซียเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียน เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และมีประสบการณ์ในการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากเผด็จการเป็นระบอบประชาธิปไตย

ทว่า อินโดนีเซียได้ลดความคาดหวังเหล่านั้นลง โดยบอกว่า จะไม่ใช้การทูตโทรโข่ง พร้อมเสริมว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขวิกฤตเมียนมาในช่วงที่อินโดนีเซียดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน

ขณะเดียวกัน นายกฯ มาเลเซียได้ยกคำกล่าวของ โฮเซ ริซาล วีรบุรุษชาวฟิลิปปินส์ ที่ว่า “ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมสำคัญที่สุดของเผ่าพันธุ์ที่มีอารยธรรม

เพราะความยุติธรรมสยบประเทศที่ป่าเถื่อน ขณะที่ความอยุติธรรมปลุกเร้าผู้อ่อนแอที่สุด”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง