'ราษฎรหยุดเอเปค' ร้องต่างชาติ รัฐสลายชุมนุมประท้วงเอเปครุนแรงเกินกว่าเหตุ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.11.28
กรุงเทพฯ
'ราษฎรหยุดเอเปค' ร้องต่างชาติ รัฐสลายชุมนุมประท้วงเอเปครุนแรงเกินกว่าเหตุ ผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ขณะสลายการชุมนุม ที่ถนนดินสอ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

กลุ่มราษฎรหยุดเอเปค ได้เข้ายื่นหนังสือต่อสถานเอกอัครราชทูตต่างชาติในกรุงเทพฯ 8 แห่ง ในวันจันทร์นี้ รวมถึงแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เรียกร้องให้ต่างชาติตรวจสอบและแสดงท่าทีต่อการสลายการชุมนุมผู้ประท้วงรัฐบาลที่รุนแรง ในระหว่างการประชุมผู้นำสุดยอดเอเปคเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ซึ่งมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บกว่าสามสิบราย

นอกจากนั้น ผู้ชุมนุมยังได้เรียกร้องต่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ขอโทษประชาชนในกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลกำลังดำเนินการสืบสวนเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว

นายนิติกร ค้ำชู และตัวแทนกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส, มาเลเซีย, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อินโดนีเซีย, ชิลี และสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เพื่อนำเสนอข้อมูลเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการโดยละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม

“ตำรวจสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ไม่ได้อัตราส่วน ก็คือ การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ​ โดยเฉพาะกระสุนยางในการยิงเข้าที่ตา หรือใบหน้า ลำตัวหลาย ๆ คน ไม่ได้ใช้เป็นไปตามหลักสากลทั่วไป คือ ยิงเลยส่วนบนของร่างกายขึ้นมา มีการคุกคามทำร้ายสื่อมวลชนระหว่างปฏิบัติหน้าที่” นายนิติกร กล่าว

“เรียกร้องให้แต่ละสถานทูตฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงวันนั้น แล้วก็เทคแอคชั่นให้ชัดเจนว่าคิดเห็นยังไงกับเหตุการณ์การละเมิดสิทธิประชาชน และการสลายการชุมนุม” นายนิติกร กล่าวเพิ่มเติม

นายนิติกร ยังระบุว่า มีนักเคลื่อนไหวถูกเจ้าหน้าที่คุกคามอย่างน้อย 57 ราย ก่อนการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 โดยติดตามไปยังที่พักและครอบครัวของนักเคลื่อนไหว ตามการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในหนังสือของกลุ่มราษฎรหยุดเอเปคระบุว่า ในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 31 ราย โดยในนั้นมี 3 รายที่เป็นสื่อมวลชน โดยในจำนวนผู้บาดเจ็บ มีนายพายุ บุญโสภณ หรือพายุ ดาวดิน ที่ถูกกระสุนยางที่บริเวณตา ซึ่งแพทย์ประเมินว่า โอกาสกลับมามองเห็นได้อย่างปกติมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และในวันดังกล่าวมีผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 26 ราย

“เรียกร้องต่อ สตช. 3 ข้อ คือเจ้าหน้าที่ต้องออกมาแถลงรับผิด แล้วก็ขอโทษประชาชนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 (พฤศจิกายน 2565) รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด ทั้งร่างกาย จิตใจ ทั้งทรัพย์สิน และเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ปฏิบัติการทั้งหมดในวันนั้น ระยะยาวมองถึงการปฏิรูป คฝ. (เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน) อาจต้องมีการปรับระเบียบ โครงสร้าง หรือมาตรการรับมือฝูงชนใหม่” นายนิติกร กล่าว

221128-th-apec-protests-inside.jpg

นายนิติกร ค้ำชู (เสื้อสีดำ) ยืนหนังสือให้แก่ตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 (ราษฎรหยุดเอเปค)

ต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การเรียกร้องเป็นสิทธิของประชาชนไทย ส่วนตำรวจมีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งกรณีการสลายการชุมนุมอยู่ในกระบวนการของตำรวจแล้ว

“เรื่องคดีต่าง ๆ ก็เป็นไปตามกระบวนต่าง ๆ ของกฎหมายอยู่แล้ว ตำรวจก็ทำในส่วนของตำรวจ และส่วนที่เป็นเรื่องคดีความ ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ก็จะมาดูว่ายังไง” พล.ต.ต. อาชยน กล่าวผ่านโทรศัพท์ และระบุว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้ดูแลในเรื่องการทำสำนวนคดี

ด้าน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับเลวร้าย

“การสลายการชุมนุมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าไทยไม่เห็นความสำคัญของการชุมนุมแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชนเลย ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่นายกฯ พูดในการประชุมเอเปคว่า ต้องรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ สถานการณ์ของไทยตอนนี้ จึงเข้าใกล้ประเทศเผด็จการอย่างเกาหลีเหนือหรือจีน... สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาเกือบ 10 ปีแล้ว” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและตัวแทนสื่อ ก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้เรียกตัวแทนจาก สตช.  มาไต่สวนกรณีเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมจนมีประชาชน และสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ โดยอ้างอิงว่า ก่อนหน้านี้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ตำรวจควบคุมการชุมนุมอย่างระมัดระวัง และให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน

กระแสการต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงในทั่วประเทศกว่าพันครั้ง เมื่อนับถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2565 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดี แล้วอย่างน้อย 1,145 คดี ผู้ถูกดำเนินคดี 1,864 คน ในจำนวนนั้น เป็นคดี ม. 112 จำนวน 236 คดี มีจำเลย 217 คน และมีผู้ที่ถูกคุมตัวระหว่างพิจารณาคดี 3 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง