บรูไนและมาเลเซีย : ผู้นำอาเซียนจะประชุมกันในจาการ์ตา เพื่อหารือวิกฤตในเมียนมา

มุซลิซา มุสตาฟา และรอนนา เนอร์มาลา
2021.04.05
กัวลาลัมเปอร์ และจาการ์ตา
บรูไนและมาเลเซีย : ผู้นำอาเซียนจะประชุมกันในจาการ์ตา เพื่อหารือวิกฤตในเมียนมา นายมุฮ์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (ที่สองจากซ้าย) และ นายฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รมว. ต่างประเทศมาเลเซีย (ซ้าย) พบปะกับสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน (ที่สองจากขวา) และมกุฎราชกุมารอัล-มูธาดี บิลลาห์ ในบันดาร์เสรีเบกาวัน วันที่ 5 เมษายน 2564
ภาพจากหน้าเฟซบุ๊กของ นายฮิชามมุดดิน ฮุสเซน

หลังจากการหารือที่ยืดเยื้อ ผู้นำชาติต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะประชุมกันในกรุงจาการ์ตา เพื่อพูดคุยถึงวิกฤตในเมียนมา รัฐบาลบรูไนและมาเลเซียประกาศเมื่อวันจันทร์ แต่ไม่ระบุวันที่จะมีการประชุมที่แน่ชัด

การประชุมวาระพิเศษระดับผู้นำของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกนี้ จะจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของอาเซียนในเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ผู้นำมาเลเซียและบรูไนได้ตกลงกัน หลังจากการประชุมทวิภาคี ในกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลายวันหลังจากที่จีนกล่าวว่า ให้การสนับสนุนการจัดประชุมนั้น

แถลงการณ์ร่วมของนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน ประเทศที่เป็นประธานอาเซียนปีนี้ กล่าวว่า “[ผู้]นำทั้งสองเห็นพ้องต้องกันที่จะให้ผู้นำอาเซียนมาประชุมกัน เพื่อหารือถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา และได้มอบหมายให้รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศตนดำเนินการเตรียมการที่จำเป็นสำหรับการประชุมนี้ ซึ่งจะมีขึ้นที่สำนักเลขาธิการอาเซียน ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย”  

ทั้งสองพูดถึงสถานการณ์หลังรัฐประหารในเมียนมา โดย “ขอให้ทุกฝ่ายละเว้นจากการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้น และขอให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจและความยืดหยุ่นมากที่สุดทันที” 

เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อผู้แทนที่สำนักเลขาธิการอาเซียน แต่ผู้แทนไม่ขอแสดงความคิดเห็นใด ๆ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า การประชุมดังกล่าว “ยังอยู่ในระหว่างการหารือกัน” โดยไม่ได้ยืนยันว่าจะมีขึ้นจริง ๆ และได้บอกให้ติดต่อบรูไน หากมีคำถามเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นายโจโก “โจโกวี” วิโดโด ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย และนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ได้เรียกร้องให้มีการประชุมฉุกเฉินของผู้นำอาเซียน เพื่อหารือถึงสถานการณ์ในเมียนมา

จนถึงวันจันทร์ที่ผ่านมา ทั่วประเทศเมียนมา มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 570 คน โดยกองกำลังความมั่นคง นับตั้งแต่ที่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตามข้อมูลที่โพสต์ทางออนไลน์โดยสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (พม่า) ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐองค์กรหนึ่ง

สถานการณ์ในเมียนมาได้ทวีความรุนแรงและขาดเสถียรภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม เมื่อรัฐบาลทหารสังหารผู้ประท้วงอย่างน้อย 114 คน ในวันที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนสูงสุดหลังจากเกิดรัฐประหาร

อาเซียนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะตกลงกันไม่ได้ว่าจะจัดการอย่างไรกับรัฐบาลทหารในเมียนมา สมาชิกประเทศหนึ่งของอาเซียน

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนวาระพิเศษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการเรียกร้องให้ปล่อยตัว นางอองซาน ซูจี และผู้นำเมียนมาคนอื่น ๆ ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถูกควบคุมตัวโดยทหาร บรรดานักวิจารณ์กล่าวว่า หลักการพื้นฐานของอาเซียนในการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของสมาชิก เป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนและรัสเซียสนับสนุนการเรียกประชุมฉุกเฉินของผู้นำอาเซียน เพื่อหารือเกี่ยวกับเมียนมา จีนมีความสัมพันธ์ที่ดีถึงดีมากกับประเทศสมาชิกอาเซียนคือ กัมพูชา ลาว และไทย นอกเหนือจากเมียนมา

จนถึงปัจจุบัน จีนยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับรัฐประหารโดยกองทัพพม่า ตลอดจนเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจในเอเชีย ได้แต่เรียกร้องให้เกิดเสถียรภาพ ซึ่งแตกต่างจากชาติตะวันตกที่ประณามการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและความรุนแรงที่ตามมา

“หากการประชุมครั้งนี้ไม่เกิดขึ้นจริง อาเซียนในฐานะประชาคม แทบจะไม่มีความสำคัญเลย เราได้แต่หวังว่า ผู้แทนของเมียนมาที่จะมาเข้าร่วมประชุม จะไม่ใช่รัฐบาลทหาร มิฉะนั้นแล้ว การประชุมนี้คงจะหาข้อสรุปไม่ได้” ดินนา ปราบโต ราฮาร์จา นักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ Synergy Policies สถาบันคลังสมองเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา บอกแก่เบนาร์นิวส์

การประชุมวาระพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนเมื่อเดือนที่แล้ว มีนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งโดยกองทัพพม่าเข้าร่วมประชุมด้วย เขา “บอกแก่ที่ประชุมเกี่ยวกับความผิดปกติในการลงคะแนนเสียง” สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน โดยอ้างสื่อของเมียนมาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล

กองทัพได้กล่าวหาว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างง่ายดาย ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่การเลือกตั้ง

ก่อนหน้าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ได้พบกับนายวันนะ หม่อง ลวิน และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์

นางเร็ตโนบอกว่า ได้บอกนายวันนะ หม่อง ลวิน ว่า “ความต้องการของประชาชนชาวเมียนมาต้องได้รับการรับฟัง” ขณะที่เธอเรียกร้องให้เกิด “กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นประชาธิปไตย และรับฟังเสียงของทุกฝ่าย”

ในการประชุมวาระพิเศษที่กำลังจะมีขึ้น อินโดนีเซียควรเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการหยุดยิงและยุติความรุนแรง ดินนากล่าว

“หลังจากนั้น อาเซียนจำเป็นต้องเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างผู้นำทหารและผู้นำพลเรือนของเมียนมา เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับได้ของทุกคน เนื่องจากเมียนมามีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา” เธอกล่าว

ข่าวจากพรมแดนไทยและเมียนมา

ในขณะเดียวกัน แถลงการณ์ร่วมจากบุคคลต่าง ๆ กว่า 200 คน และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของไทยจำนวน 56 องค์กร ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดหาสถานที่พักพิงให้แก่ผู้พลัดถิ่นที่หลบหนีเข้ามาในไทย หลังจากการโจมตีของทหารในรัฐกะเหรี่ยงที่อยู่ใกล้กับไทย

การโจมตีทางอากาศของพม่าเมื่อวันที่ 27 มีนาคม มีเป้าหมายที่หมู่บ้านที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)

เมื่อวันศุกร์ ไทยกล่าวว่าได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ข้ามพรมแดนจากเมียนมาเข้ามาในไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจำนวนกว่า 1,000 คน

"รัฐจะต้องไม่ปฏิเสธการขอเข้าลี้ภัย โดยหน่วยงานความมั่นคงจะต้องเปิดให้ผู้หนีภัยสงครามและการประหัตประหาร... ให้เข้าพักหลบภัยในประเทศไทยตามหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน" แถลงการณ์ดังกล่าวโพสต์บนเฟซบุ๊กเพจของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

"ในกรณีที่มีการหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มผู้ลี้ภัยจากพื้นที่ที่เชื่อได้ว่า จะมีผู้หลบหนีการประหัตประหารจากในเมืองรวมอยู่ด้วย รัฐควรอนุญาตให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สามารถเข้าถึงผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าว และสามารถใช้กลไกคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับความคุ้มครอง"

เมื่อวันศุกร์ ชาวเมียนมากลุ่มหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือแก่คนจากรัฐฉาน ซึ่งมีพรมแดนติดกับไทย ได้แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจำนวนหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในค่ายต่าง ๆ

ตามแถลงการณ์ของคณะกรรมการผู้ลี้ภัยแห่งรัฐฉาน กองทัพได้ประกาศว่าจะ “เริ่มโจมตีตำแหน่งที่ตั้งตามชายแดนของสภาฟื้นฟูรัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA)” องค์กรนอกภาครัฐแห่งนั้น กล่าวในแถลงการณ์

RCSS/SSA ก็เป็นกลุ่มติดอาวุธที่ก่อความไม่สงบ และเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกันกับ KNU

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง