อาเซียนวิ่งเต้นให้ลบข้อความ ห้ามค้าอาวุธแก่เมียนมา ออกจากมติสหประชาชาติ

ไชลาจา นีลากันตัน
2021.05.27
วอชิงตัน
อาเซียนวิ่งเต้นให้ลบข้อความ ห้ามค้าอาวุธแก่เมียนมา ออกจากมติสหประชาชาติ ธงชาติของประเทศสมาชิก นอกอาคารเลขาธิการสมาคมประชาชาติอาเซียน ก่อนการประชุมผู้นำอาเซียนวาระพิเศษ ในกรุงจาการ์ตา วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564
รอยเตอร์

อาเซียนต้องการให้สหประชาชาติยกเลิกข้อเรียกร้องให้ระงับการขายอาวุธให้กองทัพเมียนมา ซึ่งคร่าชีวิตพลเรือนไปแล้วหลายร้อยคน นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นักการทูตชาวยุโรปผู้หนึ่งกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ เมื่อวันพฤหัสบดี 

ในจดหมายที่ส่งถึงประเทศหลัก ๆ ที่สนับสนุนร่างมติสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติเกี่ยวกับเมียนมา ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นเมียนมา ขอให้ลบข้อความที่เรียกร้องให้ “ระงับทันที” ในการขายหรือถ่ายโอนอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารและกระสุนทั้งหมดให้แก่กองทัพเมียนมา นักการทูตจากลิกเตนสไตน์ ประเทศที่สนับสนุนร่างมตินั้น กล่าว 

“อาเซียนได้ส่งจดหมายถึงเรา และหนึ่งในการแก้ไข [ต่อร่างมติ] ที่อาเซียนเสนอคือ ขอให้ลบวรรค [การห้ามค้า] อาวุธออกจากร่างมติ” จอร์จ สปาร์เบอร์ รองผู้แทนถาวรในคณะผู้แทนของลิกเตนสไตน์ประจำสหประชาชาติ ในกรุงนิวยอร์ก บอกแก่เบนาร์นิวส์ 

“จดหมายฉบับนั้นไม่ได้ระบุเหตุผล...และเมื่อผมบอกว่าเป็นจดหมายของอาเซียน ผมไม่ได้หมายถึงเมียนมา ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียนด้วย แต่จดหมายฉบับนั้นมาจากอีกเก้าประเทศสมาชิก” เขาบอกทางโทรศัพท์

อย่างไรก็ดี เขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยสำเนาของจดหมายฉบับนั้น

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากประเทศหนึ่งที่สนับสนุนร่างมตินั้น กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า อาเซียนต้องการให้แก้ไขร่างมติ เนื่องจากอาเซียนเชื่อว่าตนเองควรที่จะเป็นผู้นำการแก้ไขวิกฤตในเมียนมา ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 800 ราย จากความรุนแรงหลังรัฐประหาร 

คณะผู้แทนของอินโดนีเซียและมาเลเซียประจำสหประชาชาติ ไม่ได้ตอบกลับอีเมลที่เบนาร์นิวส์ส่งไปขอความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความให้ระงับการค้าอาวุธที่อยู่ในร่างมตินั้น

ในกรุงจาการ์ตา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นใด ๆ และสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ไม่ได้ตอบกลับข้อความจากเบนาร์นิวส์ ทั้งทางโทรศัพท์หรือเอสเอ็มเอส 

เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้นำของบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนได้อนุมัติฉันทามติห้าข้อเกี่ยวกับเมียนมา หนึ่งในห้าข้อนั้นคือ การเรียกร้องให้ส่งทูตของอาเซียนไปยังเมียนมา แต่ผ่านมาหนึ่งเดือนเศษแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าอาเซียนจะแต่งตั้งทูตขึ้นมา และรัฐบาลทหารของเมียนมาได้เพิกเฉยต่อฉันทามติที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในการประชุมวาระพิเศษที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งหัวหน้ารัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมด้วยในการประชุมนั้น 

อันที่จริง ร่างมติดังกล่าวเน้นถึง “การสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำหน้าที่หลัก” ในการอำนวยความสะดวกต่อ “การแก้ปัญหาอย่างสันติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา”

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ประณามอาเซียน ที่พยายามขอให้ลบข้อกำหนดห้ามค้าอาวุธ ออกจากร่างมติของสหประชาชาติ

“พูดตรง ๆ ก็คือ อาเซียน [กำลัง] พยายามคัดค้านข้อเรียกร้องในร่างมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ห้ามการค้าอาวุธกับเมียนมา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะหยุดยั้งความรุนแรงที่รัฐบาลทหารพม่ากระทำต่อประชาชนของตนเอง” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการแผนกเอเชียขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวผ่านทวิตเตอร์ เมื่อวันพุธ

“ความพยายามที่น่าอดสู โดย @MFAsg, @MFAThai และรัฐบาลประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในอาเซียน” ฟิล โรเบิร์ตสันกล่าวเสริม โดยติดแท็กบัญชีทวิตเตอร์ของกระทรวงการต่างประเทศของสมาชิกอาเซียนอย่างสิงคโปร์และไทยเข้าไปด้วย

ร่างมติดังกล่าว “เรียกร้องให้ระงับทั้งทางตรงและทางอ้อมในการเป็นธุระจัดหา จัดซื้อ ขาย หรือถ่ายโอนอาวุธ กระสุน และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ทางทหารแก่เมียนมาทันที” ท่ามกลางข้อเรียกร้องอื่น ๆ ที่ให้นานาชาติดำเนินการกับเมียนมา

มติสหประชาชาติ :มาตรวัดที่สำคัญ

อาเซียนซึ่ง “ยึดหลักการไม่แทรกแซง” น่าจะมองว่า การห้ามค้าอาวุธเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก ตามคำกล่าวของฮันเตอร์ มาร์สตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในกรุงแคนเบอร์รา

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า เขาคาดหวังให้มาเลเซียและฟิลิปปินส์ สนับสนุนมตินี้ 

“แต่ไทยคงจะลงคะแนนเสียงคัดค้านเรื่องนี้ เพราะไทยสนับสนุนกองทัพเมียนมา” ฮันเตอร์ มาร์สตัน นักวิจัยด้านเอเชียและแปซิฟิกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

การลงคะแนนเสียงสำหรับร่างมติดังกล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งแต่เดิมได้กำหนดไว้เป็นวันที่ 18 พฤษภาคม ได้ถูกเลื่อนออกไป เพื่อที่มาตรการนี้จะได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศในอาเซียน จอร์จ สปาเบอร์ กล่าว และเสริมว่า ยังไม่มีการกำหนดวันใหม่สำหรับการลงคะแนนเสียง 

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แคนาดา เยอรมนี จากทั้งหมด 49 ประเทศที่สนับสนุนมติดังกล่าว ควรทำให้แน่ใจว่า จะมีการกำหนดวันใหม่สำหรับการลงคะแนนเสียงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยให้มีข้อมติเรียกร้องให้หยุดค้าอาวุธแก่รัฐบาลทหารพม่ารวมอยู่ในนั้นด้วย

“ประเทศเหล่านั้นไม่ควรบอกว่านี่เป็นปัญหาของภูมิภาค และแอบอยู่หลังอาเซียน เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของตัวเอง อาเซียนยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิก และจะไม่มีวันทำในสิ่งที่ควรทำกับเมียนมา”

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในแถลงการณ์ในสัปดาห์นี้ มติที่รับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาตินั้นไม่มีผลผูกพันกับสมาชิกสหประชาชาติ แต่ก็เป็น “มาตรวัดที่สำคัญถึงความเต็มใจของนานาประเทศ ที่จะประณามการทำรัฐประหารในเมียนมา” ฮันเตอร์ มาร์สตัน กล่าว

ขณะเดียวกัน เมื่อวันพฤหัสบดี นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้บอกกับเลขาธิการสหประชาชาติว่า จะมีการสรุปเรื่องการส่งทูตอาเซียนไปยังเมียนมาในอีกไม่ช้านี้ แต่เขาไม่ได้ระบุวันที่ที่แน่ชัด เจ้าหน้าที่รัฐบาลกล่าว 

นักวิเคราะห์และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิหลายคน ต่างวิพากษ์วิจารณ์อาเซียนที่ไม่ดำเนินการอย่างรวดเร็วกับเมียนมา

ในช่วงที่ผ่านมาสี่เดือนแห่งความไม่เด็ดขาดของอาเซียน นับตั้งแต่ที่ทหารเข้ายึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 831 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร

บรรดานักเคลื่อนไหวชาวพม่าและประชาชนจำนวนมากต่างรู้สึกผิดหวังกับประชาคมนานาชาติ แอรอน คอนเนลลี นักวิเคราะห์ประจำสถาบันนานาชาติเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษาในสิงคโปร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

“เมื่อผมพูดคุยกับคนในเมียนมาตอนนี้ คนเหล่านั้นต่างรู้สึกผิดหวังมากกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป และจงเกลียดจงชังจีน อาเซียน และประเทศสมาชิกอาเซียน” คอนเนลลี กล่าวในทวิตเตอร์

“ชื่อเสียงที่เสียหาย อันเป็นผลมาจากการสนองตอบของประชาคมนานาชาตินี้ จะคงอยู่เป็นเวลานาน”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง