พ่อค้าแม่ขายชาวไทยดิ้นรนสู้ทุนจีนรุกไชน่าทาวน์
2023.03.24
กรุงเทพฯ
จากธุรกิจร้านอาหารในย่าน “ไชน่าทาวน์” ไปจนถึงธุรกิจขายดอกไม้ที่ปากคลองตลาด นักธุรกิจทุนจีนรุกคืบเปิดร้านขึ้นใหม่ราวกับดอกเห็ด แย่งชิงรายได้จากพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยที่ตั้งความหวังว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากนักท่องเที่ยวจีน ที่กลับมาเยือนประเทศไทย หลังโควิดจางลง
เมื่อรัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศในต้นปีนี้ จุดประกายความหวังให้ผู้ประกอบการชาวไทยได้ฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากนักท่องเที่ยวจีนหายไปนานเกือบ 3 ปี ทว่านักธุรกิจชาวจีนแผ่นดินใหญ่ก็เห็นโอกาสในการดึงดูดเงินจากชาวจีนด้วยกันเอง และเข้ามาทำธุรกิจแข่งกับชาวไทยด้วยเงินลงทุนที่หนากว่า
ในย่านเยาวราช ศูนย์รวมร้านอาหารและแหล่งช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยวจีน ใจกลางกรุงเทพมหานคร พบว่ามีร้านอาหารหม่าล่าขึ้นป้ายว่ามาจากประเทศจีนโดยตรง และมีซุปเปอร์มาร์เก็ตเกิดใหม่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นของนักธุรกิจชาวจีนเข้ามาประกอบธุรกิจ ทำให้ค่าเช่าร้านในย่านนี้แพงขึ้นกว่าเก่าราวสองถึงสี่เท่า
“ผู้ประกอบการไทยเริ่มอยู่ไม่ได้ เพราะค่าเช่าที่แพงขึ้นอย่างน้อย 200,000 บาทต่อเดือน จากเดิมอยู่ที่ 50,000 ถึง 100,000 บาทต่อเดือน” ผู้ประกอบการชาวไทยในย่านเยาวราชรายหนึ่ง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ โดยขอสงวนนามเพื่อความเป็นส่วนตัว “คนไทยอยู่ยาก เพราะไม่มีทุน”
ผู้ประกอบการคนเดียวกัน กล่าวอีกว่า ตนอาศัยอยู่ที่นี่และทำธุรกิจมากว่า 70 ปี เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ราคาค่าเช่าพื้นที่ในย่านเยาวราช รวมทั้งในย่านสำเพ็ง ที่สูงขึ้นทำให้คนไทยสู้ราคาไม่ไหว เปิดโอกาสให้ทุนจีนที่มีทุนมากกว่าเข้ามาเซ้งพื้นที่ขายสินค้าแข่งกับผู้ประกอบการชาวไทย
แม่ค้าร้านขายของประดับตกแต่งสำหรับเทศกาลตรุษจีนรอลูกค้าที่ย่านเยาวราช หรือไชน่าทาวน์ กรุงเทพฯ ช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน วันที่ 19 มกราคม 2566 (อาทิตย์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)
ไม่นานมานี้ มีร้านค้า ร้านอาหาร ของคนจีนแห่งใหม่ผุดขึ้นหลายแห่ง รวมทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ตอีกสองสามแห่ง ที่ขายสินค้านำเข้าจากประเทศจีน เช่น ผลไม้อบแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนม และเครื่องปรุงต่าง ๆ แข่งขันกันคนไทย
ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของไทยเป็นอย่างมากโดยคิดเป็นสัดส่วนกว่าหนึ่งในสี่ของนักท่องเที่ยวทั้งสิ้นเกือบ 40 ล้านคน และใช้จ่ายเงินมากกว่า 530,000 ล้านบาท ของรายจ่ายจากนักท่องเที่ยวรวม 1.91 ล้านล้านบาท
ในวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจำนวน 200 คน ซึ่งเดินทางออกจากเมืองเซียะเหมิน ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายหลังรัฐบาลจีนยกเลิกมาตรการภาคบังคับสำหรับนักเดินทางเข้าประเทศ ในหนึ่งวันก่อนหน้านั้น
ในปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 7 ถึง 8 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดเกือบ 30 ล้านคน มาเยือนประเทศไทย และจะช่วยกู้สถานะการทางเศรษฐกิจให้กลับฟื้นคืนมา แต่ทว่าความหวังกลับโดนบั่นทอน
ลูกค้าอุดหนุนร้านอาหารข้างทางอย่างคับคั่ง ในย่านเยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 17 มีนาคม 2566 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)
จีนรุกย่านห้วยขวาง
ในย่านห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก เป็นพื้นที่ใหม่ที่นักลงทุนชาวจีนสนใจไปทำธุรกิจ จนได้รับการขนานนามว่า “ไชน่าทาวน์สอง” ถัดจากเยาวราช เนื่องจากมีคนจีนอาศัยอยู่ประมาณ 3,000 คน ไม่นับรวมนักท่องเที่ยวชาวจีนในแต่ละวันอีกจำนวนมาก
คนจีนส่วนใหญ่เข้ามาประกอบธุรกิจร้านอาหารจีน ประเภทหม่าล่า หม้อไฟ เป็นต้น ตัวเลขที่เป็นร้านของคนจีนแท้ที่ไม่ใช่คนไทยเชื้อสายจีนมีประมาณ 60 ร้าน เปิดเรียงรายอยู่สองข้างทางของถนนประชาราษฎรณ์บำเพ็ญ ตามข้อมูลที่นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล สมาชิกสภากรุงเทพ เขตห้วยขวาง ได้สำรวจมา
นายประพฤทธ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการคนจีนที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการเข้ามาเป็นนักท่องเที่ยวก่อนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และโอกาสทางธุรกิจ ก่อนจะตัดสินใจเปิดร้านอาหารอย่างจริงจัง และกลับมาพร้อมกับเงินทุนให้คนไทยร่วมหุ้นส่วนด้วย โดยให้คนไทยออกหน้าทำธุรกรรม
“ในเขตห้วยขวาง ย่านประชาราษฎรณ์บำเพ็ญ เอกสารด้านการพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับทางกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่จะมีครบ เพราะสำนักงานเขตเรียกประชุมผู้ค้า เชิญชวนให้ทุกคนมาทำใบอนุญาตให้ถูกต้อง รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบอยู่สม่ำเสมอ แต่ในส่วนของใบ Work Permit ของลูกจ้าง ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามีครบทุกร้านหรือไม่” นายประพฤทธ์ กล่าว
ด้าน นายหวัง (นามสมมุติ) ชาวจีน อายุ 40 ปี เจ้าของร้านหม่าล่าแห่งหนึ่ง บริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ กล่าวว่า ตนอาศัยและทำงานที่นี่มากว่า 16 ปีแล้ว เพิ่งเปิดร้านนี้มาเมื่อต้นปี โดยมีเพื่อนชาวไทยและแฟนคนไทยเป็นหุ้นส่วนจำนวน 54 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตนถือหุ้น 46 เปอร์เซ็นต์ มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหารถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตนยังไม่มีใบอนุญาตทำงาน และคิดว่าไม่ได้มาแย่งธุรกิจคนไทย
“อาหารอย่างหม่าล่า มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ที่ทำแบบนี้เพราะอยากให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงรสชาติที่แท้จริงต้นตำหรับมากกว่า เหมือนเพิ่มตัวเลือกให้คนไทย ไม่ได้มาแย่งงานคนไทย” นายหวัง กล่าวกับเบนาร์นิวส์
นายเล็ก อายุ 52 ปี เจ้าของร้านขายของชำชาวไทย อาศัยอยู่ย่านถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญนี้มากว่า 50 ปี กล่าวว่า ตนไม่ยินดีต่อการเข้ามาลงทุนของชาวจีน และที่ผ่านมา มีนายหน้าคนไทยพาคนจีนเข้ามาหาตนที่บ้าน ขอดูทำเลร้านหลายครั้งเพื่อติดต่อขอซื้อตึก ซึ่งตนไม่ยินยอม
“หลายครั้งที่นายหน้าคนไทยจะพาคนจีนเข้ามาถามว่า หน้าร้านเหมาะกับการลงทุน ขอเซ้งร้านนี้ได้หรือไม่ จะเอาไปทำธุรกิจ ซึ่งยืนยันไม่ขายให้นักธุรกิจจีนแน่นอน” นายเล็กกล่าว
นายเล็ก กล่าวว่า โดยนัยยะหนึ่ง การที่คนจีนเข้ามาส่วนหนึ่งก็ทำให้เกิดความครึกครื้น คนที่มีอาชีพอยู่แล้วก็อาจจะมีรายได้ แต่ก็กังวลว่าคนจีนจะเข้ามาแย่งงานคนไทย และทำให้การใช้ชีวิตของคนย่านนี้เปลี่ยนไป จากการที่อยู่แบบพี่น้องก็อาจจะแยกกันไป แล้วอาจเป็นคนจีนเข้ามาอยู่แทน
ชายยืนหน้าร้านอาหารที่มีป้ายเป็นภาษาจีนล้วน ในย่านห้วยขวาง กรุงเทพฯ วันที่ 7 มีนาคม 2566 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)
เจ้าหน้าที่เข้มงวดต่างชาติ
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ระบุว่า ร้านอาหาร และการค้าสินค้าทางการเกษตร เป็นอาชีพที่คนไทยไม่มีความพร้อมในการแข่งขัน หากต่างด้าวต้องการลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ ต้องมีผู้ร่วมทุนไทย โดยให้คนจีนถือหุ้นน้อยกว่า
แต่นายทุนจีนหัวไสจำนวนหนึ่งให้คนไทยใช้ชื่อถือหุ้นแทนตัวเอง หรือที่เรียกว่า “นอมินี” ซึ่งล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ประกาศจับมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าตรวจสอบผู้ถือหุ้นในธุรกิจย่านเยาวราช และห้วยขวางกว่า 200 บริษัทฯ
ในช่วงปลายเดือนมกราคม เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองบุกเข้าจับกุมนักท่องเที่ยวจีน 3 ราย ลักลอบเปิดร้านอาหารจีนชื่อ เฉาชาน โอชา ย่านห้วยขวาง คือ นายหยาง อายุ 35 ปี กำลังจดบันทึก ทำบัญชีรับจ่าย, นายชิน อายุ 38 ปี และนายเฉิน อายุ 31 ปี กำลังทำอาหารในครัว โดยแจ้งข้อหาบุคคลทั้งสามว่าเป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ก่อนนำตัวไปส่งฟ้องศาล และควบคุมตัวไว้ที่ห้องกักซอยสวนพลู
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และบันทึกว่าเป็นบุคคลต้องห้าม ห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร โดยจะดำเนินการผลักดันออกนอกประเทศไทย ส่งกลับประเทศต้นทางต่อไป
แม่ค้าย่านปากคลองตลาดเก็บพวงมาลัยเพื่อส่งให้ลูกค้า ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 มีนาคม 2561 (โซ เซย่า ทุน/รอยเตอร์)
รุกยันตลาดดอกไม้
นอกจากทุนจีนจะพยายามเข้าครอบครองย่านไชน่าทาวน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลักของนักท่องเที่ยวจีนแล้ว ทุนจีนและสินค้าจีนยังรุกคืบไปในพื้นที่อื่น ระดับรากหญ้าของธุรกิจชาวไทย
ที่ปากคลองตลาด ศูนย์กลางการค้าดอกไม้ ผัก และผลไม้ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้รับผลกระทบจากการรุกคืบของนักธุรกิจชาวจีนเช่นกัน ภายหลังจากที่จีนเปิดพรมแดนอนุญาตให้รถไฟความเร็วสูงวิ่งออกจากประเทศจีน สู่ สปป.ลาว ทำให้ต้นทุนการลำเลียงสินค้ามายังประเทศไทยถูกลง และสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
แม่ค้าขายดอกไม้ย่านปากคลองตลาดหลายคน ระบุว่า ตั้งแต่จีนเปิดประเทศ มีดอกไม้นำเข้าจากประเทศจีนตีตลาดดอกไม้ประเทศไทยจำนวนมาก นอกจากนี้ ร้านขายดอกไม้เปิดใหม่ที่เชื่อว่าเป็นของทุนจีน นำเข้าดอกไม้จากประเทศจีนแข่งขันกับผู้ค้าชาวไทยเพิ่มขึ้น จากสังเกตการณ์ในรอบบริเวณ พบว่าน่าจะมีเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ถึง 20 ร้าน
“ตั้งแต่จีนเปิดประเทศ ดอกไม้เมืองหนาวจากประเทศจีนก็ทะลักเข้าไทยมากขึ้น พูดถึงความสวยงาม ดอกไม้เราสวยกว่า แต่ลูกค้าชอบของนอกมากกว่า เพราะดอกใหญ่กว่า ทนมากกว่า ในราคาไม่ต่างกันมาก ทำให้คนไทยอยู่ยาก” น้ำหวาน แม่ค้าดอกไม้ย่านปากคลองตลาด กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“เราคงห้ามเขาเข้ามาไม่ได้” น้ำหวานกล่าว “เราก็ต้องปรับตัวไปขายออนไลน์ และหาลูกค้าประจำเพิ่มขึ้น”