บิ๊กอ๊อดกับพวกขึ้นศาล ปฏิเสธช่วยคดีบอส กระทิงแดง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.09.10
กรุงเทพฯ
บิ๊กอ๊อดกับพวกขึ้นศาล ปฏิเสธช่วยคดีบอส กระทิงแดง พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (ขวา) พร้อมด้วยทนายความ และผู้ช่วยทนายความ (กลางและซ้าย) เดินทางเข้านัดสอบคำให้การ คดีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เลียบทางรถไฟ ตลิ่งชัน วันที่ 10 กันยายน 2567
ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์

พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง หรือบิ๊กอ๊อด อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กับพวกรวม 8 คน ขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ให้การปฏิเสธในคดีที่ถูกฟ้องว่า ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส กระทิงแดง ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 

พล.ต.อ. สมยศ และจำเลยทั้ง 8 คนใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในห้องพิจารณาคดี โดยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอแถลงต่อศาลเป็นเอกสาร ซึ่งศาลอนุญาต และนัดอีกครั้งในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 เพื่อตรวจพยานหลักฐาน 

“พิจารณาแล้วอนุญาต (แถลงเป็นเอกสาร) เนื่องจากเป็นคดีที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี และยังเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และต่างประเทศ จึงห้ามทั้งโจทก์ และจำเลย ให้สัมภาษณ์ใด ๆ กับสื่อมวลชน ในลักษณะที่จะเป็นการโน้มน้าวให้เกิดความเข้าใจผิดต่อข้อเท็จจริงทางคดี ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลฯ” ศาล ระบุ

ด้าน พนักงานอัยการปราบปรามการทุจริต 1 ในฐานะโจทก์ ยื่นพยานหลักฐานต่อศาลเป็นเอกสารกว่า 30,000 หน้า พยานบุคคล 21 ปาก และพยานวัตถุอีกจำนวนหนึ่ง และยื่นขอแก้คำฟ้องโดยจะส่งให้ศาลพิจารณาในวันที่ 13 กันยายน 2567 

คดีนี้ อัยการสูงสุดมีความเห็นส่งฟ้องจำเลย 8 คนซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ, อัยการ, นักการเมือง และนักวิชาการ ในข้อหาที่แตกต่างกันซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีเปลี่ยนแปลงสำนวนคดีของนายวรยุทธที่ขับรถชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555

จำเลยทั้ง 8 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.สมยศ, พล.ต.ต. ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข, พ.ต.อ. วิรดล ทับทิมดี, นายเนตร นาคสุข, นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม, นายธนิต บัวเขียว, นายชูชัย หรือพิชัย เลิศพงศ์อดิศร และ รศ.ดร. สายประสิทธิ์ เกิดนิยม 

ในการขึ้นศาลวันอังคารนี้ พล.ต.อ. สมยศ ในฐานะหนึ่งในจำเลยของคดี ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน แต่ในวันที่ 29 สิงหาคม ซึ่งถูกพนักงานอัยการนำตัวส่งฟ้องต่อศาลเคยระบุว่า “ทุกคนที่มีเรื่องแบบนี้ก็ต้องกังวล ไม่สบายใจ เป็นเรื่องปกติของมนุษย์” 

มูลเหตุคดี

นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส หลานชายของนายเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดง ก่อเหตุขับรถชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่ปราบปราม สน. ทองหล่อ จนเสียชีวิต ในเช้าตรู่ของวันที่ 3 กันยายน 2555

เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ตำรวจมีความเห็นส่งฟ้องบอสต่ออัยการ ในข้อหา 1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหาย 2. ขับรถโดยประมาททำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย 3. ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล 4. ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย 

5. ไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานในทันที 6. ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ 7. ขับรถเร็วกว่าที่อัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ในชั้นสอบสวนบอสให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

AP17095388531748.jpg
นายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งมีปู่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull ขณะรอเข้าบ้านพัก ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 (เอพี)

ระหว่างการดำเนินคดี อัยการได้ออกหมายเรียกบอสให้เข้าไปรายงานตัว 7 ครั้ง แต่บอสให้ทนายความขอเลื่อนนัดออกไปโดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจในต่างประเทศ กระทั่งอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหา 1. ขับรถโดยประมาททำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย 2. ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล และ 3. ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย

เมื่อเดือนเมษายน 2560 อัยการสูงสุดออกหมายเรียกให้บอสไปรับทราบข้อกล่าวหา แต่บอสไม่ได้ไปตามนัด จึงมีการออกหมายจับ อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอพีได้เผยแพร่ภาพว่า บอสได้อาศัยอยู่ในบ้านพักที่ประเทศอังกฤษ โดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน 

ความล่าช้าของคดี ทำให้ข้อหาของบอสทยอยหมดอายุความลง เหลือเพียงข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 15 ปี และจะหมดอายุความในปี 2570

สำหรับประเด็นดังกล่าว นายวรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ระบุว่า คดีนี้อาจยืดเยื้อและซับซ้อน

“การปฏิเสธข้อกล่าวหาของผู้ต้องหาทั้ง 8 คน ก็เป็นสิทธิตามกฎหมายนะ แต่ก็ทำให้คดียืดเยื้อและซับซ้อนมากขึ้น จากนี้ก็เป็นภาระของฝ่ายอัยการที่จะต้องพิสูจน์ความผิดอย่างชัดเจน ซึ่งอาจใช้เวลาและทรัพยากรมากขึ้นในกระบวนการยุติธรรม” นายวรชาติ  กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ปี 2563 มีการเปิดเผยเอกสารที่ลงนามโดย พ.ต.ท. ธนาวุฒิ สงวนสุข รองผู้กำกับการสอบสวน ปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีบอส โดยอ้างว่า พนักงานอัยการไม่สั่งฟ้อง ทำให้คดีของบอสกลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้ง 

ต่อมาทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว และนายเนตร ในฐานะอัยการของคดีได้ยื่นใบลาออกในเดือนสิงหาคม 2563

เดือนกรกฎาคม 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีของนายวรยุทธใหม่ ในข้อหา 1. เสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือโคเคน และ 2. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามพยานหลักฐานใหม่ ปัจจุบัน คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่นายวรยุทธยังไม่เคยปรากฏตัวอีกเลยหลังจากปี 2560

เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อัยการสูงสุดมีคำสั่งรับดำเนินคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ, อัยการ, นักการเมือง และนักวิชาการ ที่เชื่อว่า เอื้อประโยชน์ให้กับบอสในคดีดังกล่าว นำมาสู่การส่งการพิจารณาในชั้นศาลเช่นปัจจุบัน 

ทั้งนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางกำหนดกรอบในการพิจารณาคดีนี้ 7 เดือน เนื่องจากคดีเป็นที่สนใจของสาธารณชน โดยขอความร่วมมือคู่กรณีให้ปฏิบัติตามกำหนดเวลาของศาลอย่างเคร่งครัดด้วย 

“คดีนี้เป็นบททดสอบสำคัญสำหรับกระบวนการยุติธรรมไทยต่อการจัดการกับคดีที่มีความซับซ้อน และสำคัญสุดเลยคือมันเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล ผลของคดีนี้จะไม่เพียงส่งผลต่อผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น แต่ยังอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบยุติธรรมและการต่อต้านการทุจริตในวงกว้าง” นายวรชาติ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง