นักประชาธิปไตยต่อต้านการเชิญ อภิสิทธิ์-ประวิตร ร่วมรำลึกพฤษภาทมิฬ

ผู้จัดงานยืนยันกำหนดการเดิม แจงว่าเชิญอภิสิทธิ์-ตัวแทนรัฐบาลทุกปี
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.05.11
กรุงเทพฯ
นักประชาธิปไตยต่อต้านการเชิญ อภิสิทธิ์-ประวิตร ร่วมรำลึกพฤษภาทมิฬ พระสงฆ์เดินผ่านกำลังทหาร ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างการประท้วง ภาพเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 ที่กรุงเทพฯ เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดการปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยิงใส่ประชาชนผู้ชุมนุม ใจกลางเมือง
เอเอฟพี

กลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตย ร่วมประณามการเตรียมการจัดงานรำลึกครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ทางผู้จัดงานได้เชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมงานในสัปดาห์หน้า ว่าเป็นสิ่งที่เลวร้าย และบิดเบือนเจตนารมณ์ของผู้สูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว

ด้านนักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามผู้ประท้วงและการรัฐประหารโดยไม่ได้รับการลงโทษ “กลายเป็นสัญลักษณ์ของการลอยนวลพ้นผิด”

ในวันพุธนี้ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมทางการเมือง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การที่ผู้จัดงานกิจกรรมรำลึก 30 ปี พฤษภา 35’ ไม่สมควรเชิญ นายอภิสิทธิ์ และพล.อ. ประวิตร ร่วมงาน เพราะมีประวัติไม่สะอาด

“มันคือความเลวร้าย น่าขยะแขยง บุคคลที่เขาเชิญคือคนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง คุณอภิสิทธิ์เกี่ยวข้องกับการใช้ทหารปราบปรามประชาชนในปี 53 ส่วนคุณประวิตรเกี่ยวข้องกับรัฐประหารถึง 2 ครั้ง คือ รัฐประหาร 49 และ 57 ประชาชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังไม่ได้รับการชดเชย ยังไม่ได้รับคำขอโทษ ดังนั้นการเชิญมาคล้ายกับว่าการบิดเบือนประวัติศาสตร์ กลับดำเป็นขาว” นายสมยศ กล่าว

ด้าน นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ระบุว่า ผู้จัดงานไม่ควรเชิญนายอภิสิทธิ์มาเป็นผู้พูดในกิจกรรมครั้งนี้

“อภิสิทธิ์เกี่ยวข้องกับการทำให้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการสำนึกผิดหรือขอโทษ เสียใจ ไม่ต้องพูดไปไกลถึงการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย กลายเป็นสัญลักษณ์ของการลอยนวลพ้นผิด ส่วน พลเอก ประวิตร อยู่ในรัฐบาลที่มีรากฐานมาจากเผด็จการ คสช. วีรชนพฤษภา 35’ เสียสละชีวิตเพื่อให้ได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง” นายสุณัย กล่าว

“การเอาคนที่เกี่ยวข้องกับการปกครองที่ไม่ยึดโยงกับประชาธิปไตยไม่ถูกต้อง และการที่ผู้จัดงานกลับไม่ถอย เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อญาติวีรชน”

ในก่อนหน้านี้ ประชาชน นักวิชาการ และนักกิจกรรม 229 คน ได้ออกแถลงการณ์ เพื่อประณามการบิดเบือนเจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภา 35 โดยตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า “ไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้และขอประณามคณะผู้จัด และเรียกร้องไปยังประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ขอให้ไม่เข้าร่วมกิจกรรมนั้น ถือเป็นการประท้วงคณะผู้จัดกิจกรรม รวมทั้งเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของวีรชน 2535 สืบต่อไป”

กลุ่มนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และองค์กรอื่น ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หน่วยงานจากต่างประเทศที่ถูกเชิญร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าวถอนตัวจากการร่วมกิจกรรมเช่นกัน

เมื่อสัปดาห์ก่อน คณะจัดงานรำลึก 30 ปีพฤษภา 35’ เปิดเผยกำหนดการจัดงานโดยระบุว่า จะเชิญนายอภิสิทธิ์มาร่วมเสวนาในหัวข้อ “นำเสนอบทเรียนจากเหตุการณ์กวางจู เกาหลีใต้ โดย May 18 Memorial Foundation บทเรียนจากฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และองค์กรระหว่างประเทศ” ขณะที่มีการเปิดเผยว่า คณะจัดงานฯ มีแผนที่จะเชิญ พล.อ. ประวิตร มาร่วมงานด้วย

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมจัดงานเปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า แม้มีเสียงวิจารณ์แต่จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงาน

“เราน้อมรับคำวิจารณ์ แต่ทุกปีเราจัดงาน เราก็เชิญทุกฝ่าย ไม่ปิดกั้น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้อุทาหรณ์ และเรียนรู้ประชาธิปไตยร่วมกัน เหมือนงานกวางจูของเกาหลี เราเชิญตัวแทนรัฐบาลทุกปี แต่ปีนี้เราจะไม่เชิญนายกฯ เพราะที่ผ่านมาเราก็ขับไล่ประยุทธ์ ดังนั้น จึงเชิญไล่ระดับลงมาเป็นรองนายกฯ จะเป็นคุณประวิตร หรือวิษณุก็ได้” นายเมธา กล่าวผ่านโทรศัพท์

อย่างไรก็ตาม นายเมธา กล่าวเพิ่มเติมว่า รองนายกรัฐมนตรีไม่เคยมาร่วมงานด้วยตัวเองอยู่ดี เพราะไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน ส่วนคุณอภิสิทธิ์มาร่วมงานหรือร่วมเสวนาหลายครั้ง แม้บางครั้งไม่ต้องเชิญก็ตาม

เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อนายอภิสิทธิ์ และ พล.อ. ประวิตร เพื่อสอบถามเกี่ยวกับกรณีประณามที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้

พฤษภาทมิฬ เกิดขึ้นหลังจาก การขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ซึ่งร่วมทำรัฐประหารจาก พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2534 ในนาม คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ประชาชนจำนวนมากจึงออกมาประท้วงขับไล่การสืบทอดอำนาจ นำไปสู่การใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงระหว่าง 17-24 พฤษภาคม 2535 จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน และบาดเจ็บกว่า 1.7 พันคน

สำหรับ นายอภิสิทธิ์ ถือเป็นคนหนึ่งซึ่งร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการสืบทอดอำนาจในปี 2535 ทำให้เขาถูกเชิญมาร่วมงานรำลึกพฤษภา 35 ในหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 โดยตรง เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และเป็นคนที่กลุ่มคนเสื้อแดงขับไล่

ขณะเดียวกัน พล.อ. ประวิตรเอง มีความใกล้ชิดกับคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในปี 2549 และกลายเป็นหนึ่งในคณะรัฐบาลหลังการรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปี 2557

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง