สธ. มั่นใจดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติดภายใน 1 เดือน
2024.05.09
กรุงเทพฯ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่า พร้อมที่จะนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดอีกครั้งภายใน 1 เดือน หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ สธ. นำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด และเร่งออกกฎกระทรวงให้ใช้เพื่อการแพทย์เท่านั้น
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะอดีต รมว. สธ. ที่ผลักดันการนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด แนะให้ใช้แนวทางการออกกฎหมายควบคุมกัญชา
“คิดว่าภายใน 1 เดือนนี้ ร่างต่าง ๆ ก็ต้องเสร็จสิ้น ผมเข้าใจแบบนี้ว่าอาจจะไม่ต้องทำกฎหมาย อันนี้เป็นเรื่องแทคติกทางกฎหมาย ที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้มีกฎหมายกัญชา ขอให้เราได้รวบรวมประเด็นกฎหมายทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทาง” นายสมศักดิ์ กล่าวในวันพฤหัสบดีนี้
การเปิดเผยของนายสมศักดิ์ สืบเนื่องจากการประชุมหารือการแก้ไขปัญหายาเสพติด เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่า ต้องการให้นำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด
“เรื่องกัญชาขอให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขประกาศกระทรวงดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติดประเภท 5 และเร่งออกกฎกระทรวงเร่งอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น” นายเศรษฐา กล่าว
ก่อนหน้านี้ กัญชานับเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งหากครอบครองหรือเสพจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลได้แก้ไข พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ โดยถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ตามการผลักดันของนายอนุทิน และพรรคภูมิใจไทย
วันที่ 5 มกราคม 2565 คณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ ก็มีมติให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดโดยสิ้นเชิง และให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน 2565 อย่างไรก็ตาม สารสกัดจากกัญชา-กัญชง ซึ่งมีสาร THC มากกว่า 0.2% ยังผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม สส. พรรคภูมิใจไทยพยายามผลักดัน พ.ร.บ. กัญชง-กัญชา ให้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อควบคุมการใช้กัญชา แต่มีการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่เสียก่อน ทำให้กฎหมายดังกล่าวยังไม่ผ่านความเห็นชอบนำมาใช้เป็นกฎหมายจริง
ต่อประเด็นดังกล่าว นายอนุทิน ในฐานะผู้ร่วมผลักดันให้นำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ชี้ว่า สธ. จำเป็นต้องไตร่ตรองเรื่องนี้ด้วยข้อมูลทางวิชาการ
“หากจะถอดถอน และให้กัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ และเหตุผล ผลการทดสอบ ทดลองทางวิทยาศาสตร์ และทางการแพทย์มารองรับ สนับสนุน และให้ทุกกระบวนการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย” นายอนุทิน กล่าว
“ผู้ประกอบการที่เริ่มลงทุนเปิดตลาด (กัญชา) ไปแล้ว และชาวบ้านที่ใช้ (กัญชา) รักษาตัวตามภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่ก็จะได้รับผลกระทบ ทุกวันนี้เทรนด์โลกเป็นไปในทางที่เปิดประตูให้กับพืชสมุนไพรกัญชามากขึ้น จึงไม่ควรไปปิดโอกาส เรามีทางเลือกที่ดีกว่า อย่างการออก พ.ร.บ.กัญชา” นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับ พ.ร.บ. กัญชง-กัญชา ที่พรรคภูมิใจไทยพยายามผลักดัน และผ่านความเห็นชอบของ สภาผู้แทนราษฎรวาระแรก ในเดือนมิถุนายน 2565 มีเนื้อหาโดยสรุป คือ 1. จะมีคณะกรรมการเฉพาะคอยกำกับดูแลการใช้งาน 2. การผลิต นำเข้า และส่งออก หรือขายต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้มีอำนาจ และมีโทษทางอาญาหากฝ่าฝืน 3. การปลูกต้องมีการขอจดแจ้ง
4. ต้องมีการกำหนดค่าธรรมเนียมการขออนุญาต 5. ห้ามขายให้กับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และให้นมบุตร ยกเว้น มีใบอนุญาตจากแพทย์ 6. เจ้าพนักงานมีอำนาจยึด และตรวจสอบสถานที่หากต้องสงสัยว่ามีการทำผิดเกี่ยวกับกัญชา-กัญชงได้ และ 7. บทเฉพาะกาล 5 ปี หลังจากกฎหมายบังคับใช้ ให้นำเข้ากัญชา-กัญชา ได้เฉพาะเพื่อการแพทย์ ประโยชน์ทางราชการ และการศึกษาเท่านั้น
ด้าน นพ. สมนึก ศิริพานทอง ประธานสมาคมเซลล์บำบัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคด้วยกัญชา ให้ความเห็นว่า รัฐควรใช้แนวทางการออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา แทนที่จะดึงกลับไปขึ้นบัญชียาเสพติด
“รัฐควรใช้แนวทางออกกฎหมายควบคุม ควรให้ผู้มีใบอนุญาต แพทย์ หรือเภสัชกรเป็นคนสั่งจ่ายกัญชา ไม่ใช่ให้ประชาชนสามารถขายกันเองริมถนน หากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะใช้เพื่อสันทนาการควรจำกัดพื้นที่ และไม่ให้ขายใกล้โรงเรียน การเอากัญชาขึ้นมาบนดินให้ถูกกฎหมายย่อมดีกว่าการขายกันใต้ดินมั่ว ๆ แล้วมีสารปนเปื้อน” นพ. สมนึก ระบุ
ประเทศไทยมีประวัติการใช้กัญชาในตำรับยา ตั้งแต่สมัยอยุธยา ปี 2175-2231 กระทั่งประเทศไทยต้องยุติการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย ตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ปี 2504 โดยกัญชากลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายมาโดยตลอด กระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายในปี 2564