กองทัพอากาศไทยร่วมกับจีน เตรียมย้าย 'Falcon Strike' ไปขอนแก่น ปี 67
2022.08.18
กรุงเทพฯ และวอชิงตัน
กองทัพอากาศไทยเตรียมย้ายสถานที่การฝึก “Falcon Strike” กับกองทัพอากาศจีน ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี ไปยังจังหวัดขอนแก่น ในอีกสองปีข้างหน้า หลังจากที่มีประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนว่า การฝึกรบทางอากาศสร้างปัญหามลพิษทางเสียงอย่างรุนแรง
น.อ. ณรงค์เดช ห่อเย็น รอง ผบ.บน 23 อุดรธานี ได้ร่วมประชุมกับหน่วยราชการที่ศาลากลาง จังหวัดอุดรธานี เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการลดผลกระทบจากเสียงจากการฝึก Falcon Strike 2022 ที่กองบิน 23 ซึ่งใกล้ชุมชนในตัวเมืองจังหวัดอุดรธานี ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 14-25 สิงหาคม 2565
“ในอีก 2 ปีข้างหน้า การฝึกบินจะย้ายจากกองบิน 23 ไปสนามบินน้ำพอง ขอนแก่น ขณะเดียวกันหากประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีอะไรเสียหายซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากการซ้อมร่วม ให้แจ้งไปที่กองบิน 23 พร้อมที่จะรับผิดชอบและช่วยเหลือทันที” น.อ. ณรงค์เดช กล่าวเมื่อวันพุธ
น.อ. ณรงค์เดช ระบุว่า เบื้องต้น ทอ. มีแผนหยุดบินช่วงแรกวันพฤหัสบดีนี้ และจะกลับมาบินช่วงสุดท้าย วันศุกร์ที่ 19 และในวันจันทร์กับอังคารหน้า โดยในการฝึก Falcon Strike 2022 นั้น มีการกำหนดแผนการฝึกบินวันละ 2 ช่วง คือ เช้าและบ่าย แต่เนื่องจากจำนวนเครื่องมีมากถึง 18 ลำ จึงทำให้เกิดเสียงดังรบกวน
ทั้งนี้ นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า เหตุที่มีการประชุมในเนื่องจากมีเสียงร้องเรียนจากประชาชน
“หลายหน่วยงานได้รับเรื่องร้องเรียน ว่าการฝึกร่วมครั้งนี้มีความเข้มและเสียงดังมากกว่าการฝึกครั้งก่อน ๆ ช่วงการฝึกซ้อมที่เหลืออีก 3 วัน ขอให้กองบิน 23 อุดรธานี นำข้อเสนอต่าง ๆ ในครั้งนี้ไปนำเสนอผู้บังคับบัญชาได้รับทราบเพื่อทำการแก้ไข” นายวันชัย กล่าว
การฝึกผสม Falcon Strike จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2558 และดำเนินการฝึกมาอย่างต่อเนื่องตามวงรอบ โดยสองฝ่ายผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งการฝึกครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 หลังจากที่หยุดไปสองปีเพราะการระบาดของโควิด
กองทัพอากาศไทย ระบุว่า ฝ่ายไทย ใช้เครื่องบินขับไล่แบบ Saab JAS 39 Gripen จำนวน 5 ลำ จากกองบิน 7 สุราษฎร์ธานี, เครื่องบินโจมตีแบบ ALPHA JET (บจ.7 ) จำนวน 3 ลำ จากกองบิน 23 อุดรธานี และเครื่องบินเตือนภัยและควบคุมทางอากาศแบบ SAAB 340 AEW&C จำนวน 1 ลำ ส่วนกองทัพอากาศจีนใช้เครื่องบินขับไล่ เฉินตู J-10 รุ่น J-10C/S จำนวน 6 ลำ, เครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด ซีอาน JH-7A จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินเตือนภัยและควบคุมทางอากาศแบบ Shaanxi KJ-500 จำนวน 1 ลำ โดยนอกจากฝึกด้านการบินแล้ว ทั้งสองประเทศจะจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ด้วย
ด้านกระทรวงกลาโหมของจีนกล่าวว่า การฝึกดังกล่าวประกอบด้วย “การสนับสนุนทางอากาศ, การโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน และการเคลื่อนพลในระดับเล็กและระดับใหญ่”
ไทยสนใจซื้อ เอฟ-35
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า กองทัพอากาศไทยไม่ส่ง F-16 ร่วมการฝึก เพราะต้องการจัดซื้อเครื่องบินรบแบบ F-35 จากสหรัฐ
พอล แชมเบอร์ นักวิเคราะห์ทางทหารที่อาศัยในประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา กองทัพไทยมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายต่างประเทศที่มีการคานอำนาจระหว่างสหรัฐและจีน
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 รัฐบาลไทยได้เลือกที่จะคานอำนาจกันในเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การซ้อมรบ และการฝึกร่วม สหรัฐจะเฝ้ามองการซ้อมรบ แต่คงเป็นไปด้วยความเข้าใจว่าไทยต้องมีนโยบายที่ต้องสร้างความสมดุล” พอล แชมเบอร์ กล่าว
นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 ประเทศไทยซื้อรถถัง ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ ตามมาด้วยเรือดำน้ำที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยจีนมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงห้าเท่าในช่วงปี 2557 และปี 2561 เมื่อเทียบกับห้วงเวลาห้าปีก่อนหน้านั้น ตามข้อมูลของ Stockholm International Peace Research Institute ในสวีเดน
กองทัพอากาศไทยแสดงความสนใจที่จะจัดซื้อเครื่องบินรบล่องหนแบบ F-35 เพราะทดแทน F-16 เอและบี ที่ประจำการมานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่าทางสหรัฐฯ ยังไม่เต็มใจที่จะรับพิจารณาความต้องการของฝ่ายไทย เพราะเกรงว่าเทคโนโลยีด้านเครื่องบินรบที่มีความอ่อนไหวอาจรั่วไหลไปยังจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งทางทหารและทางยุทธศาสตร์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา
เจ้าหน้าที่กองทัพอากาศไทยและจีนเข้าร่วม “Falcon Strike 2022” ที่ฐานทัพอากาศอุดรธานี ในจังหวัดอุดรธานี วันที่ 14 สิงหาคม 2565 [กองทัพอากาศ]
การฝึก Falcon Strike 2022 เริ่มขึ้นในประเทศไทย หลังจากการซ้อมรบของจีนรอบเกาะไต้หวัน อันเป็นการตอบโต้การเยือนไต้หวันของนางแนนซี่ เพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ สิ้นสุดลงเพียงหนึ่งสัปดาห์
ด้าน พล.อ.ต. ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศระบุว่า การฝึกรบระหว่างมิตรประเทศเป็นเรื่องปกติ ไม่มีผลกระทบต่อการจัดซื้อ เอฟ-35 อย่างกรณีการฝึกครั้งนี้ กองทัพอากาศไทยต้องปฏิบัติตามพันธสัญญาในการใช้ยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกาที่มีอย่างชัดเจนว่าจะนำไปใช้ในการฝึกกับประเทศอื่นได้หรือไม่
“การฝึกรบของกองทัพอากาศ จริง ๆ แล้วจะเป็นการเสริมข้อโต้แย้งของเจ้าหน้าที่สหรัฐที่ว่าทางวอชิงตันควรจะขาย F-35 ให้ไทย ซึ่งในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รื้อฟื้นการขายอาวุธให้กับไทย” พอล แชมเบอร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
พอล กล่าวอีกว่า ในความคิดของเขาแล้ว เมื่อรัฐบาลโจ ไบเดน ให้ความสำคัญต่อภูมิศาสตร์การเมืองมากกว่าปัจจัยอื่น เช่น ค่านิยมสิทธิมนุษยชน การตัดสินใจที่จะขายอาวุธให้กับไทยต่อไปจึง “มีความเป็นไปได้สูง”