โฆษก ทอ. ยืนยัน ไทยฝึกร่วมจีน ไม่เกี่ยวความตึงเครียดไต้หวัน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.08.16
กรุงเทพฯ
โฆษก ทอ. ยืนยัน ไทยฝึกร่วมจีน ไม่เกี่ยวความตึงเครียดไต้หวัน เครื่องบินขับไล่ J-10 ของจีนจากกองทัพอากาศ People's Liberation Army ในระหว่างการสาธิตการแสดงทางอากาศ ที่ฐานทัพอากาศโคราช จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558
รอยเตอร์

พล.อ.ต. ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ (ทอ.) แถลงข่าวยืนยันว่า การฝึกร่วมระหว่าง ทอ. กับ กองทัพจีน “Falcon Strike 2022” ที่จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 14-25 สิงหาคม 2565 ไม่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวัน และไม่มีผลเกี่ยวข้องกับการที่ไทยจะซื้อเครื่องบิน F-35 จากสหรัฐอเมริกา ด้านนักวิชาการชี้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ไทยยังไม่ได้เลือกอยู่ข้างสหรัฐฯ หรือจีน แต่เชื่อว่า การฝึกครั้งนี้จะทำให้สหรัฐฯ หันมาให้ความสำคัญกับประเทศไทยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง

พล.อ.ต. ประภาส ชี้แจงครั้งนี้ สืบเนื่องจากมีเสียงวิพากษ์-วิจารณ์การฝึกซ้อมรบ Falcon Strike 2022 ว่า อาจมีผลเกี่ยวเนื่องกับความตึงเครียดในคาบสมุทรไต้หวัน ซึ่งเริ่มขึ้นหลังจากการเยือนไต้หวันของ นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

“เป็นคนละเรื่องกัน (กับความตึงเครียดไต้หวัน) โดยการฝึกครั้งนี้ เป็นการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นครั้งที่ 5 ใช้เวลาเตรียมการวางแผนล่วงหน้ากว่า 2 ปี และเป็นการฝึกอย่างเปิดเผย เป็นเรื่องปกติทางการทหารทั่วโลก ที่มีการฝึกร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้ร่วมกันในหมู่ทหารอากาศ เพราะทหารทั่วโลกพูดภาษาเดียวกัน เราก็ฝึกกับมิตรประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เป็นต้น” พล.อ.ต. ประภาส กล่าว

“ที่มีข้อกังวลว่า ฝึกกับจีนแล้วสหรัฐจะไม่ยอมขาย F-35 ให้นั้น ยืนยันว่า ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นคนละเรื่องกัน อย่างเช่นการฝึกครั้งนี้ การใช้ยุทโธปกรณ์ใดที่ซื้อจากสหรัฐอเมริกาก็จะมีพันธสัญญาชัดเจนว่า นำไปใช้ในการฝึกกับประเทศอื่นได้หรือไม่ ก็ต้องดำเนินการตามนั้น” พล.อ.ต. ประภาส กล่าวเพิ่มเติม

หลังจากที่ไทยประกาศว่าจะมีการซ้อมรบ Falcon Strike 2022 ร่วมกับจีน บนโลกอินเทอร์เน็ตต่างมีเสียงวิพากษ์-วิจารณ์ไป โดยจำนวนหนึ่งมองว่า การร่วมฝึกในระหว่างที่จีนมีความตึงเครียดกับไต้หวัน อาจเป็นเวลาที่ไม่เหมาะสม

ผู้ใช้ชื่อ Nuke Chisnuchar แสดงความเห็นเกี่ยวกับข่าวดังกล่าวบนเฟซบุ๊กเพจ The Reporters ว่า “ลุงเขารู้ใช่ไหมว่าเราเป็นพันธมิตรอเมริกามา 180 กว่าปี และเราเป็นพันธมิตรสำคัญ 1 ใน 5 ของทวีปเอเชีย แล้วมาซ้อมรบช่วงน้ำมันเดือด จะเลือกข้างเหรอ เหมือนเอาเท้าลูบหน้าอเมริกาอ่ะ F-35 อย่าได้ฝันเลยแบบนี้ เป็นผมยังไงก็ไม่ขายให้”

ขณะที่ ผู้ใช้ชื่อ Nut Thephuttee แสดงความเห็นในกลุ่ม ThaiArmedForce.com Main Discussion Group ว่า “ถ้าอเมริกันยื่นเงื่อนไขให้เลิกฝึกกับจีนเพื่อแลกกับ F-35 ด้วย คงจะทำตัวไม่ถูกแน่ ๆ สำหรับคนในกลาโหมไทย ทอ. อาจจะอยากเลิกก็ได้ เพราะเหมือนว่าการฝึกนี้กลาโหมไทยเป็นตัวตั้งต้นจัดมา”

ด้าน รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การฝึกซ้อมร่วมของไทยกับจีนครั้งนี้ อาจสะท้อนนัยบางอย่างด้านการเมืองระหว่างไทยกับจีน

“ชี้ให้เห็นว่ากองทัพไทยยังไม่เลือกข้างว่าจะอยู่ฝ่ายสหรัฐฯ และพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิก หรือจะอยู่กับจีนและพันธมิตร หากการซ้อมรบครั้งนี้ ไม่มีเป้าหมายและโปรแกรมในการจำลองสถานการณ์การรบที่คุกคามหรือโจมตีผลประโยชน์สหรัฐฯ ก็จะไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจมากนัก แต่มหาอำนาจจะค่อย ๆ ถ่วงดุลอำนาจกันเอง” รศ.ดร. ดุลยภาค กล่าว

“การที่จีนเริ่มเข้ามาในพื้นที่แถบนี้ผ่านการซ้อมรบ และจีนก็ยังมีฐานในท่าเรือเรียมและสีหนุวิลย์ในกัมพูชา บวกกับรัสเซียก็ไปสร้างสนามบินเชียงขวางที่ลาว ก็จะทำให้การแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ทางแถบอินโดจีนมีความเข้มข้นขึ้น น่าจับตาว่าสหรัฐฯ จะกลับมาให้ความสนใจอดีตฐานทัพสหรัฐฯ ในไทยและอินโดจีน ตรงจุดไหนบ้าง เพื่อคานอำนาจกับจีนและรัสเซีย” รศ.ดร. ดุลยภาค ระบุ

การฝึกผสม Falcon Strike จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2558 และดำเนินการฝึกมาอย่างต่อเนื่องตามวงรอบ การฝึกครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 โดย ทอ. จัดอากาศยานแบบ Gripen 39 C/D, Alpha Jet และ Saab 340 เข้าร่วมการฝึก ส่วนกองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดเครื่องบินแบบ J-10C/S, JH-7 A/AII และ KJ-500 เข้าร่วมการฝึก โดยนอกจากฝึกด้านการบินแล้ว ทั้งสองประเทศจะจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ด้วย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง